เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
4 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ได้มีเอกสารความเห็นของ "นายนภดล เทพพิทักษ์" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย ซึ่งมีความยาว 7 หน้า ถูกเผยแพร่ บนโลกโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" สิ้นสุดลงตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565
คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อยท่านนี้ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ กรณีที่รธน.ปี 2557 (ฉบับชั่วคราว) ไม่มีการระบุวาระดำรงตำแหน่งไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่ได้พิจารณาตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งปรากฎ อยู่ใน มาตรา 5 ของรธน.ฉบับชั่วคราวไว้เช่นกัน
โดยมีการระบุไว้ดังนี้ " ทั้งนี้การนำหลักการจำกัดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาใช้กับระบอบการปกครองประเทศนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 171 วรรคสี่ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 171 วรรคสี่ แม้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จะไม่มีบทบัญญัตว่าด้วยการจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจนก็ตามแต่เพราะหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะมีเนื้อหาสั้นกะทัดรัด บทบัญญัติและข้อห้ามต่างๆจึงไม่มีการลงรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ก็ปรากฏอยู่ในมาตรา 5 วรรคหนึ่งที่บัญญัติ "เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริยทรงเป็นประมุข แต่ประเพณีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้"
จึงถือว่าหลักการจำกัดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกินกว่า 8 ปีมิได้ จึงยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ จึงถือเอาระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรีตามความเป็นจริง
ดังนั้น แม้บุคคลใดจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มิได้มีที่มาตามวิธีการของรัฐธรรมนูญนี้แต่หากโดยความเป็นจริงแล้ว บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการใช้อำนาจทางการเมืองในฐานะของฝ่ายบริหารตามรัฐธรรมนูญแล้วไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาตามรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลนั้นในทุกช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงต้องนับรวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่
นอกจากนี้ ในความเห็นของ ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อยท่านนี้ ยังได้ตีตกคำชี้แจงของ"นายมีชัย ฤชุพันธุ์" อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยอ้างว่า บันทึกรายงานการประชุมกรธ.ครั้งที่ 500 / 2561 ไม่มีการรับรองรายงานการประชุม เป็นการบันทึกคลาดเคลื่อนไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย ระบุในความเห็นส่วนตนว่า "ไม่อาจรับฟังได้" เนื่องจาก ข้อเท็จจริงมีการรับรองรายงานการประชุมกรธ.ที่ 501 / 2561 แล้ว
"ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของบุคคลนั้นในทุกช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงต้องนับรวมเป็นระยะเวลาการดำ รงตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ การดำรงตำ แหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 จึงอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสี่ สอดคล้องกับบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีมติรับรองบันทึกการประชุมดังกล่าวในคราว ประชุมครั้งที่ 501 วันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 แต่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 500 ดังกล่าวซึ่งไม่สอดคล้อง กับข้อเท็จจริงจึงมีน้ำหนักน้อยไม่อาจรับฟังได้"
กล่าวโดยสรุป ผู้ถูกร้อง "พล.อ.ประยุทธ์" ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 มาตรา 19 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 24 ส.ค. 2557 ต่อมา ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 ของบทเฉพาะกาล มิให้ฝ่ายบริหารขาดตอน นับแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรมนูญประกาศใช้
เห็นว่า การกำหนดระยะเวลา 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่ง คือ วันที่ 24 ส.ค. 2557 และครบกำหนด ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ในฐานผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2565
อนึ่ง คณะตุลาการ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีมติเสียงข้างมาก "6 ต่อ 3" วินิจฉัยตามคำร้อง ปม" วาระ 8 ปี นายกฯ"ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยชี้ว่า "พล.อ.ประยุทธ์" มีวาระดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญปี 60 โดยที่มีผลประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560
สำหรับ "มติ 6 ต่อ 3" ให้นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ประกอบด้วย
ตุลาการเสียงข้างมาก ได้แก่ 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 4.นายปัญญา อุดชาชน 5. นายจิรนิติ หะวานนท์ 6. นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง ได้แก่ 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์