svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"รอด"แต่อยู่ยาก เหตุปัจจัยหลัง 30 ก.ย."ลุงตู่"ผ่านด่านปม"8 ปี"แต่ยากลากยาว

30 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้"ศาลตัดสินนายกฯ"ปมวาระ "8 ปี " ให้เป็นไปตามรธน.ปี 60 ซึ่งหมายความว่าอยู่ยาวได้ถึงปี 68 แต่ทว่า บนเส้นทางของพรมแดงยังมีอุปสรรคขวากหนามยิ่งกว่าเจอด่านหิน"ศาลรัฐธรรมนูญ"เสียด้วยซ้ำ เหตุปัจจัยใดทำให้ยากไปต่อ ติดตามได้ที่นี่

 

บทสรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ในวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า "ครบวาระ 8 ปี"  โดยนับตามรัฐธรรมนูญ  2560 นั่นหมายความว่า "พล.อ.ประยุทธ์" จะมีวาระนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี  ในปี  2568   

 

แม้"ศาลรธน." เปิดไฟเขียวให้ "ลุงตู่" ไปต่อได้ แต่ใช่ว่า บนเส้นทางพรมแดงนั้นจะสวยงามโรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

เหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าสู่โหมด "รอดแต่อยู่ยาก"

 

เริ่มจากกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เปิดโอกาสให้ "พล.อ.ประยุทธ์"  ยังสามารถเป็นหนึ่งในสามแคนดิเดตสร.1 ได้โดย 250  ส.ว.ยังมีสิทธิเลือกร่วมกับ 500 ส.ส.ได้อีกหนึ่งครั้ง หากวินิจฉัยครบแปดปี ในปี 2568 

 

"รอด"แต่อยู่ยาก เหตุปัจจัยหลัง 30 ก.ย."ลุงตู่"ผ่านด่านปม"8 ปี"แต่ยากลากยาว

 

สมมติว่า"ลุงตู่" ได้สิทธิเป็นสร.1ต่อ ต้องมีการเลือกนายกฯสองครั้ง คือ ครั้งแรกหลังการเลือกตั้งปี 2566 ส.ว.250 คน ร่วมลงมติกับ 500 ส.ส.  หาก"ลุงตู่"ได้ไปต่ออีกสมัย แต่เมื่อ"ลุงตู่" ดำรงตำแหน่ง สร.1ครบสองปีแล้ว ต้องสรรหานายกฯคนใหม่ คราวนี้ส.ว.หมดสิทธิ์เลือกนายกฯตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ และใช้เสียงข้างมากของ 500 ส.ส.ลงมติ ) แต่ความเสี่ยงนี้ จะคุ้มหรือไม่ สำหรับพรรคที่เสนอชื่อ "พล.อ.ประยุทธ์" ลงประชัน รวมทั้งตัว"ลุงตู่"เองด้วย


เหตุปัจจัยการแข่งขันเลือกตั้ง  โดยที่วาระสภาสิ้นสุดเดือนมี.ค.2566 ( ครบสี่ปี การเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ) ซึ่งต้องมีการยุบสภา จัดการเลือกตั้งทั่วไป  ถือเป็นการเริ่มเป่านกหวีดให้พรรคการเมืองต่างๆ แข่งขันเข้าสู่อำนาจด้วยกติกาเลือกตั้งส.ส.สูตรใหม่ ( 400ส.ส.เขต + 100 ส.ส.บัญชีรายชื่อ ) อีกทั้งการก่อเกิดพรรคใหม่มากมาย ที่อาจสร้างตัวเลือกให้ประชาชนร่วมพิจารณาตัดสินใจแข่งขันพรรคเก่าๆ

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยหลักให้พรรคเก่า-พรรคใหม่-คนการเมืองสอบได้หรือสอบตก?คือ "ความนิยมรัฐบาล"ภายใต้การนำของ " พล.อ.ประยุทธ์ " นั่นเอง 

 

เป็นที่ประจักษ์ชัดผ่านผลสำรวจความนิยม "ลุงตู่" ตกอยู่ในสภาพสาละวันเตี้ยลง ถ้าเปรียบเป็นกราฟอยู่ในลักษณะหัวทิ่มลงในช่วงสามปีเศษ  แตกต่างจากสี่ปีก่อน ที่ผู้คนยังให้ความนิยมรัฐบาลคสช.อันเป็นผลจากความกลัวกระแสประชานิยมของพรรคเพื่อไทยและกระแสปฏิรูปสถาบันของพรรคอนาคตใหม่ที่กลายร่างมาเป็นพรรคก้าวไกลในตอนนี้ จากผลของการถูกยุบพรรค    

 

"รอด"แต่อยู่ยาก เหตุปัจจัยหลัง 30 ก.ย."ลุงตู่"ผ่านด่านปม"8 ปี"แต่ยากลากยาว

 

หรือแม้แต่การบริหารงานตามกติกาประชาธิปไตยใหม่ พบว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ"พล.อ.ประยุทธ์" มีคะแนนนิยมขึ้นๆลงๆ และเมื่อเผชิญสถานการณ์โควิด-19 จนเศรษฐกิจตกต่ำ ยิ่งเป็นตัวกดทับรัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์"  ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ว่าเป็นคนแดนไกล-ฝ่ายที่แยกตัวจากพรรคพลังประชารัฐรวมถึงพรรคขั้วตรงข้ามขย่มซ้ำเติมเข้าไปอีก

 

เมื่อครั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในโอกาสครบรอบวันเกิด 98 ปี

 

แต่ปัจจัยการอยู่ยาวของ "พล.อ.ประยุทธ์" ตั้งแต่ปี 2557 นั้น เรียกได้ว่าเป็นตัวแปรหลักที่คล้ายเป็นบูมเมอแรงต่อ "พล.อ.ประยุทธ์" โดยตรง  เหตุนับตั้งแต่การยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม2557 ถึงปัจจุบัน  " พล.อ.ประยุทธ์" รับตำแหน่งนายกฯมายาวนานไม่แพ้ "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  แต่พบว่า "ลุงตู่" มีความแตกต่างกับ "ป๋าเปรม" คือ แม้ตอนนั้นจะมีกระแสเบื่อป๋า

 

แต่เมื่อ"ป๋าเปรม" เอ่ยวาทะ "ผมพอแล้ว" กลับพบว่า "ป๋าเปรม" ยังคงความนิยมไม่เสื่อมคลาย ขณะที่ "พล.อ.ประยุทธ์" อยู่ในตำแหน่งยาวไม่น้อยกว่า "ป๋าเปรม" แต่ไม่ได้รับความนิยม และตอนนี้สังคมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง -ความสดใหม่ มาบริหารประเทศบ้าง  


พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประคอง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

 

อีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ คือ คะแนนเสียงจากพรรคการเมือง ที่พร้อมสนับสนุน"พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า วันนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะบางพรรคมองจากความต้องการของสังคม บางพรรคมีการดีลร่วมสร้างความเข้มแข็ง

 

หรือแม้แต่ พรรคใหญ่ที่เคยสนับสนุน"พล.อ.ประยุทธ์" เริ่มแปรเปลี่ยน "ไม่เอาประยุทธ์" แต่อาจพุ่งเป้าไปที่ "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" แทน ด้วยลีลาของ "ลุงป้อม" ที่พบในวันนี้ไม่น้อยหน้าคีย์แมนพรรคต่างๆ  เช่น การดีลกับพรรครัฐบาล  พรรคฝ่ายค้านได้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริง สังคมทางการเมืองทราบกันดีว่า"พล.อ.ประวิตร"เป็นที่ยอมรับในมวลหมู่การเมืองมากกว่า"พล.อ.ประยุทธ์"  

 

อีกทั้งวิธีการปั่นกระแส "พล.อ.ประวิตร" ในห้วงที่ "พล.อ.ประยุทธ์" หยุดปฏิบัติหน้าที่ พบว่า " ลุงป้อม" กระแสนิยมดีกว่าผลคาดการณ์ ถึงขั้นอาจประคับประคอง"พรรคพลังประชารัฐ" ไว้ให้พอแตะ 150 ส.ส.ไว้ได้บ้าง

 

หลายคนอ่านผลโพลล์หลากสำนักตอนนี้ และพยากรณ์ไว้แล้วว่า "พปชร."อาจได้รับผลเลือกตั้งพ่ายแพ้ทางการเมืองในอนาคต (พรรคไม่ติดอันดับ 1 หรืออันดับ 2 ที่จะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลใหม่ ) แต่ พปชร. สามารถกลับมาร่วมกับพรรคต่างๆ ร่วมเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง เพราะการอาศัยตัวดีลเบอร์ใหญ่ที่มีบารมีอย่าง"พล.อ.ประวิตร" 

 

ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ คือบทสรุปว่า แม้ "พล.อ.ประยุทธ์" จะรอดพ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นด่านหินมาได้ ทำให้"ลุงตู่"ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยสามารถเป็นประธานประชุมเอเปก 2022  สามารถจับมือผู้นำระดับโลกได้  

 

ทว่า การบริหารสถานการณ์บ้านเมือง ในห้วงเวลา 6 เดือนที่เหลือ น่าจะเพียงพอและภาคภูมิใจได้แล้วกับการทำหน้าที่ผู้นำประเทศครบวาระสำหรับ"ลุงตู่" 

 

แต่ภายหลังเลือกตั้งทั่วไป หาก"ลุงตู่"คิดจะไปต่อ ฟันธงตรงนี้ได้เลย "ยากถึงยากที่สุด" ในการถึงฝั่งฝันสำหรับเก้านายกฯสมัยที่สาม 

logoline