svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อุตตม"ย้ำรัฐต้องกำหนดนโยบายเศรษฐกิจให้ชัดเพื่อมคุมเสถียรภาพค่าเงินบาท

23 กันยายน 2565

"อุตตม สาวนายน"ชี้การบริหารค่าเงินบาทต้องดูปัจจัยครบถ้วน ไม่ให้กระทบเสถียรภาพและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศ

23 กันยายน 2565 "นายอุตตม สาวนายน" หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย เปิดเผยว่า จากกรณีเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วแตะระดับกว่า 37 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติอ่อนตัวในรอบ 16 ปี เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญ เพราะสามารถมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศที่ยังเปราะบาง และการฟื้นตัวที่ยังเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงในหลายๆด้าน โดยไม่ควรมองเพียงการอ่อนค่าของเงินบาท

 

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นสำคัญ และหวังว่าสถานการณ์เงินบาทจะผ่อนคลาย มีเสถียรภาพด้วยตัวเองในอนาคต เพราะอัตราแลกเปลี่ยนนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆทางด้านเศรษฐกิจด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทอ่อนตัวลงเป็นผลดีต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบมากต่อการนำเข้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร วัตถุดิบเพื่อการผลิต โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก และที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือ จะส่งผลต่อการนำเข้าพลังงานที่ต้นทุนแพงขึ้น เช่น น้ำมัน ก๊าซ ซึ่งจะกระทบต่อความเป็นอยู่ทั้งภาคประชาชน และผู้ประกอบการต่อเนื่องไป

นอกจากนี้ ในระดับมหภาค ประเทศไทยเคยมีประสบการณ์ในภาวะวิกฤตมาแล้วที่ค่าเงินมีผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ระดับเงินทุนสำรองประเทศอยู่ในระดับที่รับได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยสถานการณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เช่น การขาดดุลงบประมาณ การกู้ยืมเพื่อชดเชยการขาดดุล และระดับหนี้ในประเทศ ทั้งระดับครัวเรือน และหนี้สาธารณะ ที่อาจเพิ่มขึ้นได้จากการกู้ยืม

 

ขณะเดียวกัน ระดับอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีผลโดยตรงไม่เพียงต่อเสถียรภาพ แต่รวมถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ ในสายตาของผู้ประกอบการและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง และความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น การถดถอยของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงาน ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัจจัยภายในประเทศ เช่น กำลังซื้อที่ยังไม่กลับคืนเต็มที่
 
 

"ผมเห็นว่าการที่ค่าเงินบาทจะรักษาเสถียรภาพได้นั้น ขึ้นกับว่าเศรษฐกิจประเทศ มีความแข็งแกร่งหรือไม่ และมีแนวโน้มอนาคตการเติบโตที่ดีและยั่งยืนเพียงใด ซึ่งการที่จะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพได้นั้น จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน เหมาะสมกับสถานการณ์" หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าว 

 

นายอุตตม กล่าวต่อว่า รวมถึงการบริหารจัดการเชิงรุกที่อาศัยการประสานงานอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานหลัก เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ หน่วยงานด้านตลาดทุน ซึ่งแต่ละองค์กรย่อมมีความรับผิดชอบ และบทบาทที่ชัดเจนอยู่แล้วและไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน ดังนั้น ต้องไม่ปล่อยให้ทิศทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงอันตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามยถากรรม หรือขึ้นอยู่กับนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศอื่นเพียงเท่านั้น