svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เอกสาร"มีชัย"แจงปม"นายกฯ8 ปี" ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่อนโซเชียล (มีคลิป)

06 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เผยเอกสาร"มีชัย" อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงปม "นายก 8 ปี" ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่อนโซเชียล เผยคำชี้แจงการนับวาระดำรงตำแหน่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 (มีคลิป)

 

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.65  ภายหลัง"ศาลรัฐธรรมนูญ"มีมติเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยปม 8 ปี และให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ส่งคำชี้แจงภายใน 15 วัน ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการขอคำชี้แจงจากนายมีชัย ฤชุพันธ์ุ  อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ  "นายปกรณ์ นิลประพันธุ์" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เกี่ยวกับบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500/2561   ในช่วงที่ผ่านมา 

 

ปรากฎว่า ทั้ง"นายมีชัย  และ นายปกรณ์"  รวมถึงทีมกฎหมายของนายกฯ ได้ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

 

อย่างไรก็ตาม ในโลกโซเชียล ได้มีการเผยแพร่ เอกสารคำชี้แจงโดยอ้างว่าเป็นของ"นายมีชัย ฤชุพันธุ์"   จำนวน 3 หน้า โดยมีเนื้อหาชี้แจงปมการนับวาระดำรงตำแหน่งของ"พล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งสาระสำคัญอยู่หน้าที่สอง กำหนดให้นับวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ไว้ดังนี้ 

 

ข้าพเจ้ามีความเห็นในประเด็นดังกล่าวดังต่อไปนี้ 

 

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560  ตามที่ปรากฎในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ผลบังคับใช้ จึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560  เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใด ๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบก่อนวันที่รัฐธรรมนูยแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ  

 

2. ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ (มาตรา 160 ) ที่มา (มาตรา 88 ) วิธีการได้มา (มาตรา 159 และมาตรา 272 ) กรอบในการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 164 ) ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง (มาตรา 158 วรรคสี่ ) และผลจากการพ้นตำแหน่ง (มาตรา 168 ) ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา  และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ บทบัญญัติต่างๆเหล่านั้น จึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปโดยชอบแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใชับังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ โดยหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดขึ้นย่อมต้องมุ่งหมายที่จะใช้กับคณะรัฐมนตรี ที่ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช  2560  

 

เอกสาร"มีชัย"แจงปม"นายกฯ8 ปี" ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่อนโซเชียล (มีคลิป)

 

3. อย่างไรก็ตาม การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อน แต่ประเทศไทยไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาลเพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า " ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชกรแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ ... " โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติและการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้เป็นการเฉพาะ

 

เอกสาร"มีชัย"แจงปม"นายกฯ8 ปี" ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่อนโซเชียล (มีคลิป)

 

4. โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560  และ โดยผลดังกล่าวบทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป 

 

เอกสาร"มีชัย"แจงปม"นายกฯ8 ปี" ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่อนโซเชียล (มีคลิป)

 

อนึ่ง สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำกล่าวของข้าพเจ้านั้น ขอเรียนว่า เป็นการจดรายงานที่ไม่ครบถ้วน เป็นการสรุปตามความเข้าใจของผู้จด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังมิได้ตรวจรับรองรายงานการประชุมนั้น เพราะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 12 กันยายน  2561 ความไม่ครบถ้วนดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้  ในรายงานการประชุมดังกล่าวมีข้อผิดพลาดอยู่หลายประการ  ดังจะเห็นได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาความมุ่งหมายของมาตรา 183 ที่บันทึกไว้ว่า " ประธานกรรมการกล่าวว่า การตีความว่าหากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาตรากฎหมายโดยกำหนดให้ตนเองได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ ย่อมถือเป็นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาดำเนินการไปโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ประสงค์ให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโดยหลัก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจตราพระราชกฤษฏีกาได้  และการกำหนดค่าตอบแทนต่างๆไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอาจตราพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฏีกาเกี่ยวกบบำเหน็จบำนาญได้"  ซึ่งเป็นความที่ฝืนต่อความเป็นจริง และข้าพเจ้าไม่พูดเช่นนั้น เพราะย่อมรู้อยู่เป็นพื้นฐานว่า การตราพระราชกฤษฏีกาเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ (ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  มาตรา 175 ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้  หรือฝ่ายนิติบัญญัติมอบอำนาจให้ผ่านทางพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด รายงานการประชุมดังกล่าวจึงยังไม่อาจใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานเป็นข้อยุติได้  ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดให้พิมพ์ข้อความไว้ที่หน้าปก รายงานการประชุมทุกครั้งว่า "บันทึกการประชุมนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรอง ผู้ใดนำไปใช้หากเกิดความเสียหายใดๆ ผู้นั้นรับผิดชอบ"

 

ชมคลิป >>>

 

logoline