svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

4 นักรัฐศาสตร์ประเมินศึกเลือกซ่อมกรุงเทพ"พปชร.-เพื่อไทย"เบียด

27 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เข้าสู่ช่วง 2 วันสุดท้ายก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งซ่อม กทม. เขต 9 "หลักสี่-จตุจักร" ที่คอการเมืองกำลังรอลุ้นว่าใครจะเข้าวิน จากผู้สมัครที่มีถึง 8 คน จาก 8 พรรค และเมื่อลงสนามจริงเบียดสู้กันกี่พรรค กี่คนกันแน่ 

"เนชั่นทีวี" ได้พูดคุยกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ 4 คน ซึ่งเกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเลือกตั้งซ่อนหนนี้ ซึ่งเกือบทุกท่านเห็นตรงกันว่า การแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส. หลักสี่-จตุจักร ยังคงเป็นศึกระหว่าง "พรรคพลังประชารัฐ กับ "พรรคเพื่อไทย" ก็คือขั้วการเมืองกระแสหลักที่อยู่ตรงข้ามกันนั่นเอง ทั้งยังเห็นว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การปรับยุทธศาสตร์ของหลายๆ พรรคการเมือง

 

โดย ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี มองว่า ตัวเต็งยังคงเป็นผู้สมัคารจากพรรคเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ เพราะถือเป็นพรรคใหญ่ที่มีสรรพกำลังพร้อม ทำให้สามารถทุ่มเทได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ มีกลไกรัฐอยู่ในมือด้วย จึงทำให้พรรคเล็กหรือพรรคขนาดกลางอย่าง "ก้าวไกล" และ "พรรคกล้า" อาจประสบความสำเร็จได้ยาก   

 

4 นักรัฐศาสตร์ประเมินศึกเลือกซ่อมกรุงเทพ"พปชร.-เพื่อไทย"เบียด

 

นอกจากนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเป็นการเลือกตั้งซ่อม คนระดับกลางและกลางบน อาจไม่ออกมาใช้สิทธิ์ เพราะไม่มีผลต่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือเปลี่ยนนายกฯ ดังนั้น คะแนนส่วนใหญ่น่าจะมาจากชุมชนในพื้นที่ เหตุนี้เองทำให้หลายพรรคจับทางได้ จึงลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในช่วงโค้งสุดท้าย ขณะที่วัฒนธรรมการเมืองในพื้นที่นี้ แม้จะเป็นกรุงเทพฯ แต่อยู่ชานเมือง จึงมีความใกล้เคียงกับต่างจังหวัด ที่คนต้องการผู้สมัครใกล้ชิดกับพื้นที่มากพอสมควร จุดนี้ทำให้ "เพชร" กรุณพล เทียนสุวรรณ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ค่อนข้างเสียเปรียบ 

 

รศ.ดร.เชษฐา ยังคาดการณ์ว่า คะแนนแพ้-ชนะของพรรคใหญ่น่าจะห่างกันไม่เกิน 2-3 พันคะแนน และย้ำว่า ผู้สมัครที่อยู่พรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพรรครัฐบาล ยังมีความได้เปรียบมาก เพราะสามารถขายนโยบายที่เชื่อมกับรัฐบาลได้ คือหาเสียงแล้วทำได้จริง ทำให้ประชาชนเล็งเห็นผลได้มากกว่าพรรคเล็ก เช่น โครงการบ้านมั่นคง โครงการปรับภูมิทัศน์ริมคลองเปรมประชากร ของรัฐบาล เป็นต้น 

 

ขณะที่ รศ.ดร.ยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า โอกาสในช่วงโค้งสุดท้ายยังเป็นของ "มาดามหลี" สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ กับ สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แต่สถานการณ์จะพลิกไปพลิกมาตลอด และคาดว่าคะแนนของผู้สมัครที่ได้อันดับ 1 กับ 2 จะห่างกันแค่หลักพัน

 

อย่างไรก็ตาม มุมมองส่วนตัวเห็นว่า ณ เวลานี้ นายสุรชาติ ยังได้เปรียบคู่แข่งอยู่เล็กน้อย เพราะมีความคุ้นเคยพื้นที่มากกว่า อยู่ในพื้นที่หลักสี่มายาวนานกว่า  17 ปี และเป็นลูกชายของ เสนาะ เทียนทอง อดีตนักการเมืองรุ่นลายคราม แต่จุดอ่อนของนายสุรชาติ เมื่อเทียบกับคู่แข่งคนอื่นๆ คือ การขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ยังถือว่าอ่อนกว่าผู้สมัครหลายคน 

 

4 นักรัฐศาสตร์ประเมินศึกเลือกซ่อมกรุงเทพ"พปชร.-เพื่อไทย"เบียด

 

ส่วน "มาดามหลี" แม้เจอผลกระทบจากภาพลักษณ์ของพรรคพลังประชารัฐ และ สิระ เจนจาคะ สามี ซึ่งถูกโจมตีจากคู่แข่งอย่างหนัก แต่นั่นยังเป็นแค่ปัจจัยรอง เพราะปัจจัยหลัก คือ บทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของคนในพื้นที่หลักสี่-จตุจักร จึงต้องจับตาท่าทีของ "บิ๊กป้อม" ว่าจะออกแอคชั่นช่วงโค้งสุดท้ายอย่างไรบ้าง 

สำหรับ "เพชร กรุณพล" ด้วยดีกรีที่เป็นนักแสดง ถือว่าเป็นคนมีความรู้ ความสามารถ มีความถนัดเรื่องการสื่อสาร แม้ครั้งนี้แรงส่งของพรรคก้าวไกลจะมีไม่มาก เพราะเป็นช่วงขาลง แต่ชื่อเสียงของตัว "เพชร กรุณพล" จะช่วยได้ระดับหนึ่ง โดยมองว่าจะได้คะแนนในหลักหมื่น จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ และบรรดา Young voters 

 

ส่วน เอ๋ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครจากพรรคกล้า แม้จะเคยเป็นอดีต ส.ส.จตุจักร แต่ห่างพื้นที่ไปนาน ประกอบกับครั้งนี้หัวหน้าพรรคที่ไม่ได้มีบทโดดเด่นมากนัก โอกาสจึงเป็นรองผู้สมัครคนอื่นๆ ดังนั้น การได้คะแนนเสียงครั้งนี้ มองว่าจะได้คะแนนจากฐานเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่มาลงคะแนนให้  และคะแนนน่าจะถึงหลักหมื่นเช่นกัน แต่ไม่มากพอที่จะเป็นผู้ชนะ

 

สำทับด้วย ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่หลักสี่ ประเมินแบบฟันธง ว่า คนที่จะเข้าวินน่าจะเป็น สุรชาติ เทียนทอง เพราะพรรคเพื่อไทย และตัวสุรชาติ ทำกระแสได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดนใจคนรุ่นใหม่ และที่ผ่านมาสุรชาติก็ลงพื้นที่ตลอด แม้จะไม่มีตำแหน่งทางการเมืองก็ตาม 

 

4 นักรัฐศาสตร์ประเมินศึกเลือกซ่อมกรุงเทพ"พปชร.-เพื่อไทย"เบียด

 

ส่วน "มาดามหลี" แม้จะมีความได้เปรียบอยู่บ้าง เพราะสามีเป็นเจ้าของพื้นที่เก่า ประกอบกับเป็นพรรครัฐบาล แต่ก็มองว่าคนในพื้นที่เขตหลักสี่-จตุจักร จะเปลี่ยนไปตามกระแส เพราะสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป และความนิยมของพรรคพลังประชารัฐก็ลดลง จึงทำให้คะแนนอาจจะมีเทไปทางคู่แข่งจากพรรคอื่นๆ ทั้งเพื่อไทย และก้าวไกลมากกว่า 

 

สำหรับ "เพชร กรุณพล" เป็นผู้สมัครที่น่าจับตาในแง่ของคนรุ่นใหม่ และชื่อเสียงของพรรค  รวมทั้งเจ้าตัวที่เป็นดารานักแสดง มองว่าครั้งนี้คะแนนก็อาจจะขึ้นมาสูสีกับคนในพื้นที่อย่างสุรชาติ และเจ้าของพื้นที่เดิมอย่าง "มาดามหลี" 

 

ขณะที่ "เอ๋ อรรถวิชช์" จากพรรคกล้า มองว่ากระแสแผ่วเกินไป แม้จะเคยเป็น ส.ส.พื้นที่นี้ แต่ก็ห่างพื้นที่ไปพอสมควร คะแนนเสียงคนกรุงเทพฯ กับเรื่องกระแส เป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อกระแสไม่มา จึงมองว่าครั้งนี้อาจจะยังไม่ถึงเวลาของผู้สมัครจากพรรคกล้า  

 

ปิดท้ายด้วย รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มองว่า การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร มีนัยยะในการประเมินคะแนนนิยมของพรรคการเมือง เพื่อมุ่งสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า ส่วนความได้เปรียบยังเป็นพรรคพลังประชารัฐเจ้าของพื้นที่ และพรรคเพิ่งพ่ายแพ้ที่สนามเลือกตั้งซ่อมชุมพรกับสงขลา ทำให้ถูกมองหรือตีความได้ว่า พลังประชารัฐกำลังถดถอย สนามนี้จึง "แพ้ไม่ได้" 

 

4 นักรัฐศาสตร์ประเมินศึกเลือกซ่อมกรุงเทพ"พปชร.-เพื่อไทย"เบียด

 

เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลที่พ่ายแพ้จากสนามเลือกตั้งซ่อม 2 สนามก่อนหน้านี้เช่นกัน พ่วงด้วยวาทกรรมของแฟนคลับที่ด้อยค่าคนภาคใต้ จึงส่งผลมายังพรรคก้าวไกลด้วย ทำให้ลำบากใจ ฉะนั้นศึกเลือกตั้งซ่อมที่ "หล้กสี่-จตุจักร" จึงแพ้ไม่ได้เช่นกัน

 

ส่วนพรรคเพื่อไทย ทำพื้นที่มานาน โดยมี ส.ก. หรือสมาชิกสภาฯ กทม. และมวลชนของพรรคคอยสนับสนุน อีกทั้งยังเชื่อมไปถึง ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้จะไม่ได้เปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคเพื่อไทย แต่สังคมก็รู้ว่าพรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน ดังนั้น หากเพื่อไทยแพ้สนามเลือกตั้งซ่อมหนนี้ ก็จะส่งผลต่อการชิงผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคตด้วย จึงต้องทำเต็มกำลัง 

 

ฟากฝั่งพรรคกล้า ที่ส่ง อรรถวิชช์ ถือเป็นแนวคิดกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ ขายไอเดียสถาบันแบบใหม่ ขณะที่พรรคไทยภักดี ของ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง โดยมีแรงสนับสนุนจาก หมอเหรียญทอง แน่นหนา ถือว่าเดิมพันสูงทั้งคู่ 

 

รศ.ดร.โอฬาร สรุปว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อยู่บนเงื่อนไขที่ทุกพรรคแพ้ไม่ได้ ส่วนคะแนนของแต่ละพรรคที่จะได้กลับมา ประเมินว่าจะมีบางพรรคได้คะแนนโดดมาเป็นอันดับหนึ่งเลย เนื่องจากภาพลักษณ์ทางการเมืองของหลายพรรคจุดไม่ติด แต่ต้องมาวัดกันช่วงโค้งสุดท้ายก่อนไปเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าแต่ละพรรคมีการมอตโต้ทางการเมืองออกมา เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ปี 62

logoline