14 กรกฎาคม 2567 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นกรณีที่ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และแคนดิเดตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ถูกลอบสังหาร ขณะปราศรัยหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ มลรัฐเพนซิลเวเนีย โดยระบุว่า พฤติกรรมของคนร้าย ต้องมีความชำนาญในพื้นที่พอสมควร ถึงแม้ว่า สถานที่ที่ใช้ในการปราศรัยจะไม่ใช้สถานที่ปิด แต่การที่จะเข้าไปในพื้นที่ก็ต้องมีความยากลำบาก
เพราะก่อนหน้าที่ ทรัมป์ จะลงพื้นที่ ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยตะเวนตรวจตรา หรือตรวจสอบอยู่ก่อนหน้าการปราศรัยหลายวัน และการที่ คน คนหนึ่งสามารถพกปืนเข้าไปยิงในระยะใกล้ขนาดนั้นได้ ต้องมีความชำนาญพอตัว แม้ว่าที่ผ่านมาการรักษาความปลอดภัยให้กับ "ทรัมป์" จะเป็นไปด้วยความเข้มงวดและเข้มข้นก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีช่องโหว่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ สามารถเข้ามาก่อเหตุได้เช่นเดียวกัน
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ว่า คนที่ก่อเหตุจะเป็นผู้ก่อการร้าย หรืออยู่กลุ่มใดนั้น ยังเร็วไปที่จะให้ข้อสรุป เนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งเกิด และยังไม่มีข้อมูลมากนักที่จะนำมาวิเคราะห์ ส่วนประเด็นที่ว่าเป็นการสร้างสถานการณ์หรือไม่นั้น ในส่วนนี้ก็แล้วแต่คนจะคิด เพราะถ้ายิ่งปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปแล้ว ความจริงไม่ปรากฏ ก็เป็นไปได้ ที่หลายคนจะคิดไปในทิศทางต่าง ๆ นานา
ต้องบอกว่าที่ผ่านมากรณีของการลอบยิงประธานาธิบดี หรือนักการเมืองในสหรัฐอเมริกานั้นมีมาโดยตลอด และสามารถทำสำเร็จถึง 4 ครั้ง และที่ไม่สำเร็จอีกจำนวนเยอะมากครั้ง ซึ่งบุคคลที่ก่อเหตุก็มีทั้งที่มาในรูปแบบของ องค์กร และมาในรูปแบบของบุคคล ที่มีความเห็นสุดโต่งทางความคิด หรือเป็นพวกหัวรุนแรง ซึ่งหากกรณีใดลักษณะที่เกิดบ่อย ๆ มันจะแสดงให้เห็นได้ว่า ไม่มีเสถียรภาพการเมืองในสหรัฐอเมริกา และที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าหากสหรัฐไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ก็จะก่อให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ ที่มีทั้งความคิดสุดโต่ง หรือความเห็นแยกทางการเมือง หรือกลุ่มจากต่างประเทศ เข้ามาอาศัยจังหวะนี้ในการดำเนินการอย่างไรก็ได้
"หลังจากเกิดเหตุนี้ เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการหาเสียง ของทางรีพับลิกัน และเดโมแครต อย่างแน่นอนเช่น ลดวาทะที่มีความรุนแรง และลดความเข้มข้นให้การปราศรัยลงอย่างแน่นอน เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงในลักษณะนี้"
ส่วนเรื่องของการจะกระทบคะแนนเสียงของทั้ง รีพับลิกัน และเดโมแครต หรือไม่นั้น สำหรับมลรัฐที่มีความเสถียรทางการเมืองอยู่แล้ว ตนคิดว่าไม่น่ากระทบ เพราะแต่ละรัฐก็มีฐานคะแนนเสียงที่ชัดเจนว่า ต้องการที่จะเลือกใคร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะส่งผลอย่างแน่นอน กับรัฐที่ไม่ได้มีฐานคะแนนเสียงชัดเจน ซึ่งมีประมาณ 4 มลรัฐ มีประชากรประมาณ 50,000 - 1 แสนคน ที่จะเป็นตัวชี้ชะตาว่า ใครจะได้จะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
เมื่อถามว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาจะมีผลกับไทยอย่างไร รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวว่า ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา จะมีผลอย่างมาก ในเรื่องของสงครามระหว่าง ยูเครนและรัสเซีย เพราะจะเห็นได้ชัดเจนว่า ทรัมป์จะมีนโยบายในการยุติสงคราม ขณะที่โจไบเดนเองก็มีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุน ยูเครน นอกจากนี้ประธานาธิบดีคนใหม่ ก็จะมีผล ต่อทวีปเอเชียของเราเหมือนกัน อย่างเช่นการเติบโตของจีน ซึ่งทาง ทรัมป์เท่าที่เห็น ยังไม่ค่อยมีนโยบายอะไรที่ชัดเจน เกี่ยวกับการเติบโตของจีน ในขณะที่ โจไบเดน ค่อนข้างจะมีนโยบายที่ชัดเจนในการ เฝ้าระวังการเจริญเติบโตของประเทศจีน
ส่วนที่ว่าจะมีผลกระทบกับไทยหรือไม่ต้องบอกว่ามี แต่ค่อนข้างน้อย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการแสดงท่าทีในครั้งนี้ของประเทศไทยด้วยว่า จะมีท่าทีอย่างไร หากว่าเราเลือกข้าง แล้วผู้ที่เราเลือกได้เป็นประธานาธิบดี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาก็จะดีขึ้น แต่ถ้าเราเลือกที่จะนิ่งเฉย และวางตัวเป็นกลาง ประเทศไทยของเรา ก็จะอยู่ในลักษณะนี้ต่อไป
นอกจากนี้ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ยังพูดถึงการก่อเหตุให้ลักษณะ "โลน วูล์ฟ" ในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นแล้วแต่ไม่ใช่ตัวบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่เกิดขึ้นกับสถานที่ เช่นการวางระเบิดในโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า หรือการทำร้ายเด็กในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายเช่นเดียวกัน เพราะคนที่เคยก่อเหตุในลักษณะนี้ มักจะเป็นคนที่ในวงการเรียกกันว่า "คนหน้าขาว" หรือ คนที่ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม หรือการใช้ความรุนแรง แต่คนเหล่านี้มักจะเคยเข้าร่วมชุมนุม ไม่เหตุการณ์ใดก็เหตุการณ์หนึ่ง มีการรับแนวคิด ความรู้ ต่าง ๆ มาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะลงมือก่อเหตุ
และคนที่ก่อเหตุในลักษณะ "โลน วูล์ฟ" ถ้าไม่ถูกวิสามัญฯ ก็สอบสวนค่อนข้างลำบากว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มใดหรือไม่ เพราะคนกลุ่มนี้จะใช้วิธีการชักจูงทางแนวคิด มีความคิดที่ซับซ้อน ทำให้บางครั้งไม่สามารถสืบสาวไปยังต้นตอว่า มีใครอยู่เบื้องหลัง หรือมาจากองค์กรใด จากในหรือนอกประเทศ และไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงไปถึง
ส่วนที่ว่าจะหาแนวทางในการป้องกันการก่อเหตุในลักษณะ "โลน วูล์ฟ" ได้หรือไม่นั้น ต้องบอกว่าในทวีปเอเชียมีหลายประเทศสามารถทำไปได้สำเร็จ สามารถลดความรุนแรงในการก่อเหตุลักษณะนี้ลงได้ แต่ต้องพึ่งทั้งทางภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม คอยเป็นหูเป็นตาให้ หรือบางประเทศก็ใช้กฎหมายพิเศษ ในการจัดการกลุ่มคนเหล่านี้ ถ้าหากมีสายข่าวว่ามีการระดมกำลัง หรือมีการซ่องสุมอาวุธปืน ก็สามารถเข้าจัดการได้ทันที แต่ในประเทศไทยก็จะมีเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่กฎหมายพิเศษนั้น อาจจะเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนมากเกินไป ในช่วงปกติในประเทศไทยจึงไม่ค่อยเห็นว่า มีการบังคับใช้กฎหมายในข้อนี้