svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

2 ศูนย์วิจัยฯ คาดเศรษฐกิจโลกทรุดทุบส่งออกเดี้ยง

19 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

2 ศูนย์วิจัยฯ ประสานเสียงเศรษฐกิจโลกปีหน้าชะลอตัว หลังจากธนาคารกลางในหลายประเทศเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยคุมเงินเฟ้อ –ผสมโรงความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ฉุดการค้าโลกหดตัวกระทบส่งออก คาดติดลบ 1.5 % หวังการท่องเที่ยวเป็นพระเอกพยุงจีดีพี

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกรุงไทยแคมปัสมองเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว บางเขตเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากภาวะการเงินที่ตึงตัวตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

ขณะที่ต้นทุนสินค้าต่างๆ ยืนอยู่ในระดับสูงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่คาดว่าจะยังดำเนินต่อไป รวมไปถึงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และแนวนโยบายแบ่งขั้ว (de-globalization) ระหว่างกลุ่มประเทศ NATO กับรัสเซีย และสหรัฐฯ กับจีน ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้มองว่าปีหน้าจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความท้าทายในหลายด้าน ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ใหม่ที่ยังไม่ทราบคำตอบที่แน่ชัด จึงมีความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่าน หรือเป็น Transition Risk รูปแบบหนึ่ง

โดยเศรษฐกิจโลกจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการฟื้นตัวไปสู่ภาวะชะลอตัว หรือถดถอยแบบไร้ตัวช่วย ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง กรณีสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว แต่อาจไม่เกิดภาวะถดถอย เนื่องจากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง

ขณะที่ยุโรปเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย เพราะประสบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ส่วนจีนชะลอตัวจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และความไม่แน่นอน ภายหลังทางการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศหลักในปีหน้ามีความซับซ้อนและหาสมดุลได้ยาก 

ทั้งนี้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ 3.4% แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ที่จะเติบโต 3.5 %  จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง กระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น

นอกจากนี้ภาวะการเงินในประเทศที่จะตึงตัวมากขึ้น จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณถึงความต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น เพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3%

ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาถึง 21.4 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2565 สนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของให้กลับมาเกินดุล ส่วนค่าเงินบาทยังเผชิญความผันผวนจากการคาดการณ์นโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยประเมินว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.75 – 36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจาก เครื่องยนต์เดียวคือภาคการท่องเที่ยว จึงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญความท้าทายใหม่จากการเปลี่ยนผ่านเชิงนโยบายสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน

ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับค่าธรรมเนียม FIDF กลับไปที่เดิมที่ 0.46% ตั้งแต่เดือนม.ค. 66 โดยจะเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับสูงขึ้นได้ถึง 0.4-0.6% ในคราวเดียว ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่า ณ สิ้นปี 66 จะขึ้นไปสู่ระดับ 2.00% จึงเป็นยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเต็มตัว

ภาวะที่ธุรกิจยังมีแรงกดดันต้นทุนจากค่าไฟ ค่าแรง และวัตถุดิบ ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นความท้าทายสำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึงในรูปแบบของ New K-shaped Economy ต่อไป

สำหรับปี 2566 จะเป็นช่วงเวลาที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงที่เป็นผลจากการเปลี่ยนผ่านซึ่งครอบคลุมในหลายมิติ นอกจากประเด็นด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมปรับตัวให้ทันกระแสโลกที่แปรเปลี่ยนไป

โดยให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องสำคัญ เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะด้านนโยบายใหม่ๆ อาทิ การเริ่มบังคับใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป การกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) และนโยบายของไทยที่มุ่งสู่เศรษฐกิจ BCG

เรื่องที่สอง คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยีอย่างเต็มขั้น ซึ่งทำให้การแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลักจะมีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่ต้องบริหารความเสี่ยงด้าน Cyber security อย่างรัดกุม

เรื่องที่สาม คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดแรงงานที่ต้องมีการ Up & Re-skill อย่างเข้มข้นให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ตลอดจนการปรับแผนทรัพยากรบุคคลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

เรื่องที่สี่ คือ การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจ ซึ่งหมายถึงการยึดหลัก ESG สอด คล้อง กับแนวโน้มที่ลูกค้าและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2566 ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะไม่เติบโต เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากวิกฤตพลังงานในยุโรปด้วย

ขณะที่แนวโน้มที่จีนจะเปิดประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีมากขึ้น แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ในจีนหลังจากนี้ ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และความเพียงพอของระบบสาธารณสุข เนื่องจากยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะเผชิญการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อสถานการณ์การเปิดประเทศของจีนดังกล่าว โดยยังคงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 22 ล้านคน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ไว้ที่  3.2% จากเดิมอยู่ที่ 3.2-4.2%  แม้ว่าปรับจีดีพีปี 65 มาอยู่ที่ 3.2%  จากเดิม 2.9% ขณะที่ส่งออกติดลบ 15% จากปีนี้คาดว่าส่งออกลบวก 5.2% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น มองว่าเฟดคงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 ไปแตะระดับ 5   หรืออาจสูงกว่านั้น ก่อนที่จะมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงตลอดทั้งปี 2566

ขณะที่ กนง.มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้งๆ ละ  0.25 % ซึ่งย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในจังหวะขาขึ้นเช่นเดียวกัน ด้านแนวโน้มเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปี มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากตลาดรับรู้ความเป็นไปได้ดังกล่าวแล้ว

สำหรับภาคการเงิน ภาพแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยปี 2566 คาดว่าจะเติบโตในกรอบจำกัด 4.2-5.2 % (ค่ากลางร้อยละ 4.7) เทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะโต 5 % ตามผลของเศรษฐกิจที่เผชิญหลายปัจจัยเสี่ยง อีกทั้งธุรกิจมีการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง

ขณะที่ ทิศทางที่ระมัดระวังดังกล่าว ยังสะท้อนผ่านมุมมองต่อคุณภาพสินทรัพย์ของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่า สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวม น่าจะยังไม่ได้ดีขึ้นจากปี 2565 นัก โดยเอ็นพีแอล ณ สิ้นปี 2566 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80 % จากสิ้นปี 2565 อยู่ที่  2.65-2.75% 

 

logoline