svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไทยเนื้อหอมต่างชาติแห่ลงทุน"ญี่ปุ่น" ครองแชมป์

16 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สินิตย์" เผยตัวเลข  11 เดือนต่างชาติลงทุนในไทย 112,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% ญี่ปุ่น แชมป์  39,000 ล้านบาท  รองลงมาคือจีน 22,677 ล้านบาท สิงคโปร์ 11,999 ล้านบาทก่อให้เกิดจ้างงานคนไทย 5,008 คน

นายสินิตย์ เลิศไกร  รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า  นายทศพล ทังสุบุตร  อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานบว่า  ในช่วง  11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - พ.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย

แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,008 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 137 ราย หรือ  26 %  เงินลงทุน 39,000 ล้านบาท สิงคโปร์ 85 รายสัดส่วน 16 %เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 70 ราย 13 % เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท ฮ่องกง 38 ราย สัดส่วน  7% เงินลงทุน 8,451 ล้านบาท และ จีน 25 ราย สัดส่วน 5 % เงินลงทุน 22,677 ล้านบาท

 

ทั้งนี้หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 64  พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 30 ราย คิดเป็น 6 % (ปี 2565 อนุญาต 530 ราย ปี 2564 อนุญาต 500 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 47,884 ล้านบาท คิดเป็น 74%

 ก่อให้เกิดจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 5 ราย คิดเป็น  0.1% (ปี 2565 จ้างงาน 5,008 คน ปี 2564 จ้างงาน 5,003 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565 

นอกจากนี้ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตฯ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา

บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการขุดลอก ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด

บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น

ศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

 

logoline