svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

 โค้งสุดท้าย ! เลือกลดหย่อนภาษี "SSF-RMF"  

13 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องกองทุนรวม SSF – RMF รับโค้งสุดท้ายปลายปี 2565   ชี้นักลงทุนนิยมกองทุนกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นทั่วโลก และหุ้นเวียดนาม ด้านบลจ.แห่ออกกองทุนสู้ แม้ผลตอบแทนยังติดลบ แต่ระยะสั้นภาพรวมเริ่มฟื้นตัวเป็นส่วนใหญ่

 เข้าสู่โค้งสุดท้ายการซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีของมนุษย์เงินเดือนที่กำลังมองหาวิธีวางแผนภาษีในวันนี้จะพามารู้จักเครื่องมือการลงทุนที่ช่วยให้ประหยัดภาษีลงได้ และสามารถออมเงินในระยะยาว เพื่อเพิ่มเงินเก็บในอนาคต  และยังสร้างวินัยการออมนำไปใช้ในวัยเกษียณได้อีกด้วย

นั่นคือกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ  SSF (Super Savings Fund) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF (Retirement Mutual Fund) ซึ่งจะพามาดูกันว่ากองทุนแต่ละประเภทคืออะไร และแตกต่างกันอย่างไร

 กองทุน SSF มีหลักเกณฑ์ดังนี้
-ลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
-ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000 บาทและเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท  

-ถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
-ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อและไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีนำค่าซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้ในปี 2563 – 2567

 
สำหรับกองทุน RMF มีรายละเอียดดังนี้    

-ลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนทองคำ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ
-ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
-ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
-ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี (หรืออย่างน้อยซื้อปีเว้นปี)

 

หลายคนคงสงสัยว่าจะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทไหนดี ระหว่างกองทุน SSF และกองทุน RMF เพราะทั้ง 2 กองทุนใช้วงเงินการลดหย่อนภาษีเดียวกัน นั่นคือ รวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

 ซึ่งเราจึงต้องมาพิจารณาทางเลือกในการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเราให้มากที่สุด ถ้าต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ RMF ก็จะตอบโจทย์ แต่ถ้าเน้นที่การออมระยะยาว ประมาณ 10 ปี SSF ก็จะตอบโจทย์มากกว่า

หากพิจารณาผลตอบแทนกองทุน RMF และ SSF ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าทั้ง 2 ประเภท มีกองทุนจำนวน 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนหุ้นไทย  

ส่วนกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ แต่หากเราศึกษาให้ดี ก็จะพอเข้าใจว่าการที่กองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเป็นลบในช่วงปีที่ผ่านมานั้น

เกิดจากปัจจัยภายนอกที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม เงินเฟ้อสูง นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญเป็นหลัก

ในอีกมุมหนึ่ง ก็ถือเป็นจังหวะที่ค่อนข้างดีในการซื้อถัวเฉลี่ย หากมองว่าสินทรัพย์ในกองทุนเหล่านั้น ยังคงมีคุณภาพที่ดี และมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้ในระยะข้างหน้า สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องลดหย่อนภาษีในปี 65 ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี ที่จะได้ซื้อของดีในราคาถูกเพื่อการลงทุนในระยะยาว

 โค้งสุดท้าย ! เลือกลดหย่อนภาษี \"SSF-RMF\"  
   

สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี จะแตกต่างจากปีก่อนๆ ซึ่งในอดีตเมื่อซื้อกองทุน SSF หรือ RMF เวลาจะทำเรื่องลดหย่อนภาษีต้องแสดงหลักฐานการซื้อหากมีการขอหลักฐานจากกรมสรรพากร และต้องกรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตอนยื่นให้กับกรมสรรพากร

แต่สำหรับปีนี้ ถ้าซื้อกองทุนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นไป จำเป็นต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้กับ บลจ. ที่ตัวเองได้ซื้อ

โดยถ้าหากไม่แจ้ง จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้น หากซื้อในปีนี้หรือกำลังจะซื้อก่อนสิ้นปี เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปี 65 นักลงทุนจะต้องแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ภายในวันที่ 31 ธ.ค.65  

หันมาดูข้อมูลของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า ในเดือนต.ค.65 ที่ผ่านมากองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 372,000 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงสิ้นปี 64 ประมาณ 6.1%

โดยในเดือนต.ค.มีเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับเดือนต.ค.ปีที่แล้ว รวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิสะสมรอบ 10 เดือนที่มูลค่า 4,980 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสะสม 7,000 ล้านบาท
   
กองทุน RMF ลงทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา สะท้อนผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นไทยในปีนี้ที่ถือว่าดีกว่า การลงทุนหุ้นต่างประเทศค่อนข้างมาก

ส่วนกลุ่มตราสารหนี้ในประเทศที่แม้จะมีผลตอบแทนติดลบในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา แต่ในระยะยาวกองทุนตราสารหนี้ยังเป็นส่วนสำคัญในการจัดพอร์ตการลงทุน

ขณะที่เดือนพ.ย.65 กองทุน SSF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 40,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค.ประมาณ 3% โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิกว่า 800 ล้านบาทในช่วงวันที่ 1-22 พ.ย. ที่ผ่านมา  รวม 11 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิ 5,600 ล้านบาท  

กลุ่มกองทุน SSF ที่ได้รับความนิยมในช่วงเดือนพ.ย.คือ กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นทั่วโลก และหุ้นเวียดนาม ซึ่งโดยรวมแล้ว ยังคงเป็นกลุ่มหุ้นทั่วโลกที่มีเงินไหลเข้าสะสมมากที่สุด 1,300 ล้านบาท

 โค้งสุดท้าย ! เลือกลดหย่อนภาษี \"SSF-RMF\"  

ด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนี้ส่วนใหญ่ยังคงติดลบ เช่น กลุ่มเทคโนโลยี หุ้นสหรัฐ หรือหุ้นจีน แต่ในระยะสั้น ก็เริ่มมีภาพของการฟื้นตัวเป็นส่วนใหญ่จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น  

ส่วนของกองทุน SSF และ RMF ที่เหล่าบลจ.แนะนำให้เข้าซื้อในช่วงที่เหลือของปีนี้นั้นมีให้เลือกหลากหลาย  เริ่มจาก บลจ.กรุงศรี เสนอกองทุน SSF ความเสี่ยงต่ำ ลงทุนในตราสารหนี้สัดส่วนที่มีนัยสำคัญ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ยอมรับได้ความเสี่ยงต่ำ และต้องการผลประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก

 โดยมีกองทุนที่แนะนำคือ กองทุนกรุงศรีตราสารเงิน-เพื่อการออม (KFCASHSSF) ส่วนกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้น กองทุนที่แนะนำคือ กองทุนกรุงศรี SET100-เพื่อการออม (KFS100SSF)

ซึ่งกองทุนนี้จะลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนประกอบของดัชนี SET 100 และกองทุน SSF ลงทุนต่างประเทศ คือ กองทุนกรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้ปันผลเพื่อการออม (KFGBRANSSF) และกองทุนกรุงศรีไชน่าเอแชร์อิควิตี้เพื่อการออม (KFACHINSSF)

ขณะที่บลจ.กสิกรไทย แนะนำ กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อการออม (K-SF-SSF) เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ต้องการพักเงินในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนก่อนสับเปลี่ยนไปยังกองทุน SSF ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในช่วงที่ตลาดเริ่มคลี่คลาย

กองทุนเปิดเค โกลบอล อินคัม เพื่อการเลี้ยงชีพ (K-GINCOME-RMF) เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง และต้องการลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตเกษียณ ด้วยการกระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก

ด้านบลจ.วรรณ ส่งกองทุนเปิดวรรณ อัลติเมท โกลบอล โกรว์ธ หน่วยลงทุนชนิดเพื่อเพื่อการออม แบบไม่จ่ายเงินปันผล (ONE-UGG-ASSF) ลุยตลาดรวมถึงกองทุนเปิด วรรณ อัลติเมท โกลบอล อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ หน่วยลงทุนชนิดทั่วไป (ONE-UGERMF-A)

กองทุนเปิด วรรณ ออล ไชน่า อิควิตี้ หน่วยลงทุนชนิดเพื่อการออม แบบไม่จ่ายเงินปันผล (ONE-ALLCHINA-ASSF) ให้เป็นทางเลือกของนักลงทุน

ส่วนบลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) แนะนำกองทุนเปิด อเบอร์ดีน โกลบอล ไดนามิค ดีวิเด็น ฟันด์ – ชนิดเพื่อการออม (ABGDD-SSF), กองทุนเปิด อเบอร์ดีน เอเชีย แปซิฟิค เอคควิตี้ ฟันด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (ABAPAC-RMF), กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สมาร์ทแคปปิตอล เพื่อการเลี้ยงชีพ (ABSC-RMF) และกองทุนเปิด อเบอร์ดีน สมาร์ทอินคัม เพื่อการเลี้ยงชีพ (ABSI-RMF)  

ปิดท้ายบลจ.กรุงไทย แนะกองทุนกลุ่มมั่ง มี ศรี สุข เพื่อการออม (SSF) และเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ประกอบด้วย 4 กลุ่มกองทุนย่อย ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยมั่งคั่ง SSF/RMF (KTMUNG SSF/RMF), กองทุนเปิดกรุงไทยมีทรัพย์ SSF/RMF (KTMEE SSF/RMF), กองทุนเปิดกรุงไทยศรีสิริ SSF/RMF (KTSRI SSF/RMF) และกองทุนเปิดกรุงไทยสุขใจ SSF/RMF (KTSUK SSF/RMF)

การตัดสินใจลงทุนในกองทุนประเภทใด นอกจากจะพิจารณาเรื่องของนโยบายการลงทุน ความเสี่ยง และผลตอบแทนแล้ว ยังต้องมองไปถึงค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการของกองทุน

ซึ่งเป็นต้นทุนที่นักลงทุนจะต้องจ่ายทุกปี ไม่ว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนั้นๆ จะเป็นบวกหรือลบก็ตาม และแม้หากว่ากองทุนจะทำผลตอบแทนได้ดี  

แต่หากค่าธรรมเนียมแพงมากเกินไป เมื่อเทียบกับกองอื่น ๆ ในประเภทเดียวกัน ก็จะเป็นตันทุนที่คอยกัดกร่อนให้ผลตอบแทนโดยรวมในระยะยาว ไม่สูงอย่างที่คาดหวังไว้ได้...

 โค้งสุดท้าย ! เลือกลดหย่อนภาษี \"SSF-RMF\"  

logoline