เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก - องค์การมหาชน หรือ อบก. กล่าวว่า เปิดปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มาได้แค่ 2 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565) ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทยก็มียอดการซื้อขาย กันคึกคัก โดยใน 2 เดือนแรกมีปริมาณคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ที่ขายไปแล้ว 28,496 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมาจาก โครงการประเภท พลังงานทดแทน คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 1,088,319.84 บาท โดย 3 อันดับแรก ได้แก่
- โครงการชีวภาพ ราคาเฉลี่ย 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปริมาณการซื้อขาย 565 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่ารวม 113,000 บาท
- โครงการชีวมวล ราคาเฉลี่ย 150 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปริมาณการซื้อขาย 12,645 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่ารวม 287,970 บาท
- โครงการแสงอาทิตย์ ราคาเฉลี่ย 44.97 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ปริมาณการซื้อขาย 15,286 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่ารวม 687,350 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับความต้องการใช้ ในช่วงไตรมาสแรกนี้ ยังถือว่าปริมาณคาร์บอนเครดิต ที่นำออกมาขายยังน้อยกว่าอยู่มาก โดยเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการ องค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจกได้มีมติ เห็นชอบ รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก
จากโครงการ ลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เพิ่มเติมอีก จำนวน 8 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้รวมทั้งสิ้น 460,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทพลังงานทดแทน
ทั้งนี้ ประโยชน์ของผลิตคาร์บอนเครดิต จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน หรือ ภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วม เป็นแรงจูงใจ ที่ทำให้มีผู้พัฒนา โครงการ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มากขึ้น และ เพิ่มความได้เปรียบ ด้านการแข่งขัน เสริมความน่าเชื่อถือ ขององค์กร ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม