svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานด้านการเงิน พร้อม ดูแลศก.ให้เติบโตต่อเนื่อง-ยั่งยืน

17 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกฯ สั่งทุกหน่วยงานด้านการเงินเตรียมความพร้อม ดูแลเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมกำหนดมาตรการการเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม อย่าทิ้งกลุ่มเปราะบาง หลัง ไอเอ็มเอฟ และ ธปท. สะท้อนเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี และมั่นคง

17 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายงาน World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ประจำเดือน ก.ค. 65 ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตที่ 3.2% ในปี 2565 ทั้งนี้ จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และพื้นที่เศรษฐกิจหลักในยุโรป ยังกระตุ้นให้เกิดความตรึงเครียดในภาวะการเงินโลกเป็นอย่างมาก เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในจีนและรัสเซีย ในขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

 

นายอนุชาฯ กล่าวต่อ ตามรายงานของ IMF เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในปี 2565 จะขยายตัว 2.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม เนื่องจากสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้อุปสงค์ในประเทศชะลอตัว เหตุราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความต้องการภายนอกที่ลดลง พร้อมทั้งคงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ที่จะขยายตัวประมาณ 4% ด้วย

ในรายงานของ IMF ยังระบุอีกว่าเศรษฐกิจไทยซึ่งขยายตัว 1.5% ในปี 2564 หลังจากติดลบ 6.2% ในปี 2563 ได้รับแรงหนุนจากการตอบสนองเชิงนโยบายที่รวดเร็ว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และ IMF ยังย้ำว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยหลัก ๆ ขึ้นอยู่กับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมเตือนว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชน และอุปสงค์จากภายนอก นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว การชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางงบดุลของภาคเอกชนที่ขยายตัว ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

 

นอกจากนี้ ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.3 % และ 3.8 % ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่า จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการ และในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น

 

ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาด ส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ

ทั้งนี้ ยังควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญการมีมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง พร้อมคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ภายในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วนให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่กำลังปรับตัวดีขึ้น

 

ทั้งนี้ ธปท. ยังได้นำเสนอปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องดำเนินการ 3 ด้าน สำคัญ ได้แก่

1. หนี้ครัวเรือน ต้องลดสู่ระดับยั่งยืน

2. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยภาคการเงินควรช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

3. โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัล เร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน Digital payment

 

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.00 % ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งสอดรับกับที่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยจะฟื้นตัวจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และการบริโภคของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน

 

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม และดำเนินการตามนโยบาย เพื่อดูแลเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ตลอดจนกำหนดมาตรการทางการเงินให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ทิ้งกลุ่มที่เปราะบาง เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งผลจากการคาดการณ์ของ IMF และ ธปท. สะท้อนเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และมั่นคง อีกทั้ง ยังอยู่ในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้เป็นอย่างดี” นายอนุชาฯ กล่าว

logoline