svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไอเอ็มเอฟ ชี้ เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอยยาว เรียกร้องทั่วโลกเลี่ยง “นิวนอร์มอล”

10 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไอเอ็มเอฟ ชี้ เศรษฐกิจเสี่ยงถดถอยยาว ผลจากเศรษฐกิจช็อกซ้ำแล้วซ้ำเล่าสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน"คริสตาลินา จอร์เจียวา" เรียกร้องผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ระดมสรรพกำลังหลีกเลี่ยง “นิวนอร์มอล” อันตราย

10 ตุลาคม 2565 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) บรรยายที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในกรุงวอชิงตันดีซีเมื่อวันพฤหัสบดี (6 ต.ค.) ก่อนการประชุมไอเอ็มเอฟในสัปดาห์นี้ว่า การสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกด้วยการเร่งแก้ไขความท้าทายเฉพาะหน้า เช่น เงินเฟ้อพุ่งสูง ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องร่วมมือกัน “ป้องกันช่วงเวลาที่เปราะบางมากนี้ไม่ให้กลายเป็นนิวนอร์มอลอันตราย”

 

พร้อมเตือนด้วยว่า กระบวนการนี้จะสร้างความเจ็บปวด และยอมรับว่าธนาคารกลางประเทศต่างๆ เคลื่อนไหวรุนแรงเกินไปเพื่อลดแรงกดดันด้านราคา อาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจเข้าสู่ขาลง “ยาวนาน”

 

นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

 

สัปดาห์นี้รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจากกว่า 180 ประเทศจะรวมตัวกันที่กรุงวอชิงตัน ในการประชุมไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกแบบพบหน้าค่าตาเต็มรูปแบบครั้งแรกหลังโควิด-19 ผ่อนคลาย

 

การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังประสบปัญหา แม้ควบคุมโควิด-19 ส่วนใหญ่ได้แล้ว แต่ตอนนี้ราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ขัดขวางการฟื้นตัว กระนั้น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่ธนาคารกลางประเทศใหญ่จะเลิกต่อสู้เงินเฟ้อที่ทะลุระดับสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ เงินเฟ้อยังคง “รับมือยาก เรื้อรัง ความเสี่ยงของการลงมือทำน้อยเกินไปใหญ่กว่าความเสี่ยงจากการทำมากเกินไป ชัดเจนว่าพวกเขาต้องทำมากขึ้น ต้องทำแบบเดิมต่อไป”

 

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟมีกำหนดเผยแพร่ รายงานเศรษฐกิจโลกในการประชุมประจำปีสัปดาห์นี้ และมีแผนปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 อีกครั้ง หลังจากเดือนก.ค. หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้มาอยู่ที่ 3.2% และปีหน้าเหลือ 2.9% ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ติดต่อกัน

5 สัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอย

 

ตลาดทั่วโลกส่งสัญญาณเตือนฉับพลันว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่บนปากเหว ไม่มีคำถามเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอีกแล้ว มีแต่จะถามว่าเกิดขึ้นเมื่อใดเท่านั้น

 

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน ข้อมูลจากบริษัทวิจัยเนด เดวิส ระบุว่า ตอนนี้โอกาสเศรษฐกิจโลกถดถอยมี 98% โอกาสสูงระดับนี้เคยมีแค่สองครั้งคือในปี 2551 และ 2563 โดยประเมินจากห้าแนวโน้ม

 

ดอลลาร์แข็งค่า

 

เงินดอลลาร์มีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจโลกและการเงินระหว่างประเทศ และตอนนี้แข็งแกร่งกว่าที่เคยในรอบสองทศวรรษ คำอธิบายง่ายสุดตกอยู่กับเฟด

 

เมื่อธนาคารกลางสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย เริ่มต้นแต่เดือน มี.ค. ทำให้ดอลลาร์น่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั่วโลก

 

ไม่ว่าบรรยากาศเศรษฐกิจเป็นแบบใด ดอลลาร์ถูกมองว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยในการพักเงิน ในช่วงบรรยากาศผันผวน เช่น เกิดโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกหรือสงครามในยุโรปตะวันออก นักลงทุนยิ่งมีแรงจูงใจให้ซื้อดอลลาร์โดยปกติอยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

 

เมื่อดอลลาร์แข็งเป็นสิ่งดีสำหรับชาวอเมริกันที่เดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็สร้างความปวดหัวให้กับเงินสกุลอื่น อย่างเงินปอนด์อังกฤษ หยวนจีน เยนญี่ปุ่น และอื่นๆ อ่อนค่าลง ดอลลาร์จึงทำให้ชาติอื่นๆ ต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นอย่างอาหารและพลังงานแพงขึ้น

 

เพื่อเป็นการรับมือธนาคารกลางที่ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วเพื่อสู้เงินเฟ้อ ก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นเพื่อหนุนค่าเงินของตนเอง

 

ความแข็งแกร่งของดอลลาร์ยังทำให้วอลล์สตรีทปั่นป่วน เพราะหลายบริษัทในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ทำธุรกิจทั่วโลก การประเมินชิ้นหนึ่งของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า ทุกๆ 1% ที่ดัชนีดอลลาร์เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้รายได้เอสแอนด์พี 500 ลดลง 0.5%

 

เครื่องยนต์เศรษฐกิจสหรัฐติดขัด

 

การช็อปปิ้งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐหมายเลขหนึ่ง แต่นักช็อปอเมริกันกำลังหมดแรง หลังจากข้าวของแทบทุกอย่างขึ้นราคามาปีกว่า ขณะที่ค่าแรงไม่ขึ้นตาม ผู้บริโภคต้องวางมือ

 

“ความยากลำบากเหตุจากเงินเฟ้อหมายความว่า ผู้บริโภคต้องเอาเงินเก็บมาใช้” เกรกอรี ดาโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทอีวาย พาร์เทอนอนกล่าว และว่า อัตราการออมเงินส่วนบุคคลในเดือน ส.ค. ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่แค่ 3.5% เท่านั้น อัตราเกือบต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551 และต่ำมากจากระดับก่อนโควิดระบาดที่ราว 9% ซึ่งเหตุผลที่ตัวเลขลดลงก็หนีไม่พ้นเฟดเหมือนเดิม

 

ชาวอเมริกันเคยนำเงินมาใช้จ่ายช่วงล็อกดาวน์โควิดปี 2563 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงครู่หนึ่งผลพวงโควิด นับจากนั้นความช่วยเหลือจากรัฐบาลหายไป เงินเฟ้อฝังรากลึก ดันเงินเฟ้อพุ่งในอัตราเร็วสุดรอบ 40 ปี บั่นทอนอำนาจใช้จ่ายของผู้บริโภค

 

บริษัทอเมริกันรัดเข็มขัด

 

ธุรกิจสหรัฐโตทุกภาคส่วนในยุคโควิด แม้เงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์กัดกินผลกำไร ทั้งนี้เป็นผลจากนักช้อปชาวอเมริกัน เมื่อภาคธุรกิจส่วนใหญ่สามารถผลักต้นทุนที่สูงขึ้นไปสู่ผู้บริโภคได้ แต่รายได้มหาศาลนี้อาจไม่ยืนยาว

 

กลางเดือน ก.ย. เฟดเอ็กซ์ที่ดำเนินงานในกว่า 200 ประเทศ จู่ๆ ก็ทบทวนแนวโน้มธุรกิจ พร้อมเตือนว่า ความต้องการอาจเบาบางลง รายได้อาจลดฮวบกว่า 40% ซึ่งเฟดเอ็กซ์เป็นบริษัทหนึี่งที่ใช้เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้

 

หุ้นสู่ภาวะตลาดหมี

 

วอลล์สตรีทถูกลงแส้อย่างแรง ตอนนี้ตลาดหุ้นเดินหน้าสู่ปีเลวร้ายสุดนับตั้งแต่ปี 2551 แตกต่างจากปี 2564 อย่างเห็นได้ชัด ปีที่แล้วตลาดหุ้นร้อนแรงมาก เอสแอนด์พี 500 พุ่งขึ้น 27% เนื่องจากกระแสเงินสดที่เฟดอัดเข้ามา ตามนโยบายผ่อนคลายทางการเงินในฤดูใบไม้ผลิปี 2563 เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดเงินพังทลาย

 

ความสำเริงสำราญนี้ดำรงอยู่ถึงต้นปี 2565 เมื่อเงินเฟ้อก่อตัวเฟดเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดกลไกการซื้อพันธบัตรที่เคยหนุนตลาดก่อนหน้านี้

 

ความเสียหายรุนแรงมาก ดัชนีเอสแอนด์พี 500 มาตรวัดกว้างสุดของวอลล์สตรีท ส่งผลต่อชาวอเมริกันกว่าสี่แสนคน ลดลงเกือบ 24% ในปีนี้ และไม่ใช่เพียงดัชนีเดียว ดัชนีใหญ่ทั้งสามตัวของสหรัฐอยู่ในตลาดหมี หรือลดลงอย่างน้อย 20% จากจุดสูงสุดล่าสุดเช่นกัน

 

สงคราม เงินเฟ้อ นโยบายขัดแย้งกัน

 

สหราชอาณาจักรเผชิญความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเงิน และการเมืองอย่างเจ็บปวดที่่สุด หลังจากเงินเฟ้อสูง ส่วนใหญ่เป็นผลจากโควิด-19 ตามด้วยการค้าสะดุดเพราะรัสเซียรุกรานยูเครน ชาติตะวันตกตัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซีย ราคาพลังงานจึงสูงขึ้นและอุปทานดิ่งลง นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ประกาศแผนลดภาษีเป็นวงกว้าง ที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งซ้ายจัดขวาจัดรุมประณาม เพราะสร้างหนี้สินให้รัฐบาลมหาศาล นโยบายนี้สร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนจนตลาดปั่นป่วน สุดท้ายรัฐบาลต้องคว่ำแผนนี้ไป

 

ที่มาข้อมูล กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

logoline