svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ลุ้น 'ทรูควบรวมดีแทค' พรุ่งนี้ (14 ก.ย.)

13 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จับตา กสทช. ลงมติพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทค หลัง"มีชัย"เตรียมนั่งปธ.ตีความอำนาจกสทช. ตามคำสั่ง พล.อ.ประวิตร พรุ่งนี้ (14 ก.ย.) ด้านรักษาการ เลขาฯ กสทช. แจงเหตุผลที่ต้องขอให้ช่วยตีความตามคำสั่งบอร์ดครบถ้วน

13 กันยายน 2565 จับตา กทสช. ลงมีติดีล"ควบรวมทรู-ดีแทค" โดย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ภายหลังจากประชุมร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ที่ได้เรียกให้สำนักงาน กสทช. ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงโดยทีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ว่า กรณีที่สำนักงานกสทช.ได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความอำนาจในประเด็นการขอรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยประเด็นที่ตนชี้แจงนั้น ก็เป็นตามข้อคำถามที่บอร์ดกสทช.ได้มอบหมายมา และเป็นไปตามหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความ 

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม : ประวิตร"ชงคำสั่งลับกฤษฏีกาชุด"มีชัย"ชี้อำนาจ กสทช. ปม"ควบรวมทรู-ดีแทค"

 

ลุ้นดีลควบรวม ทรู-ดีแทค

กสทช. มีความจำเป็นที่จะหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมายที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ

ประกอบกับการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูฯ และดีแทคเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมของประเทศ และการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายภาคส่วน เพื่อให้การดำเนินการทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการรวมธุรกิจให้เป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย และสอดรับกับระยะเวลาเร่งรัดที่ กสทช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

 

จับตา กสทช. กับดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค"

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องข้อ 12 ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมข้อ 9 กำหนดว่า "การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549"
 

และโดยที่ข้อ 12 ของประกาศฉบับเดียวกันกำหนดให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ หากรายงานการรวมธุรกิจส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนีเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (HHI) มากกว่า 2500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 และมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีการครอบครองโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ให้ถือว่าการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้อง

ลุ้น 'ทรูควบรวมดีแทค' พรุ่งนี้ (14 ก.ย.)  

ทั้งนี้ กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจากที่มีการกำหนดไว้ในข้อ 9 ประกอบกับข้อ 12 ดังกล่าวข้างต้น จะถือว่าเป็นการมอบอำนาจการพิจารณาอนุญาตให้ถือครองธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ กสทช. ตามมาตรา 27 (11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเดิม และมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ให้เลขาธิการ กสทช. หรือไม่และจะมีผลประการใด และจะเป็นการกระทบต่อหลักการป้องกันมีให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายและประกาศเกี่ยวข้อง หรือไม่ อย่างไร

 

“ ผมค่อนข้างเชื่อว่าการรายงานต่อกฤษฎีกาครั้งนี้น่าจะครบถ้วนและครอบคลุมตามคำถามของบอร์ดกสทช.ที่ต้องการอยากจะให้ท่านกฤษฎีกาทุกท่านช่วยชี้แนะในประเด็นกฎหมายแล้ว ดังนั้น เข้าไปชี้แจงครั้งเดียวก็น่าจะได้คำตอบว่าท่านจะคิดเห็นอย่างไร ”

จับตา กสทช. กับดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค"

สำหรับในวันพรุ่งนี้ (14 ก.ย.) การประชุมบอร์ดกสทช.จะมีวาระค้างให้บอร์ดกสทช.พิจารณาประเด็นการรวมธุรกิจดังกล่าว เพราะในส่วนที่ผมรับผิดชอบที่เป็นของสำนักงานกสทช.ได้ทำการบ้านตามที่บอร์ดกสทช.สั่งครบแล้ว ตามที่ให้ไป

 

  • วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของรวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม
  • วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม
  • วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน
  • วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร
  • วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
  • วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค

 

“ผมไม่อาจก้าวล่วงได้ว่าบอร์ดกสทช.ทุกคนจะลงมติในวันพรุ่งนี้เลยหรือไม่ เพราะทุกอย่างถือเป็นดุลยพินิจของแต่ละท่าน และส่วนคำถามที่ว่าคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาจะมีผลผูกพันกับมติบอร์ดหรือไม่ เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมเช่นกันว่าจะคิดเช่นไร แต่ถึงตอนนี้ถือว่าทุกอย่างครบแล้ว รอเพียงการลงมติเท่านั้น ”

ลุ้น 'ทรูควบรวมดีแทค' พรุ่งนี้ (14 ก.ย.)

สำหรับคณะกรรมการกฤษฏีกาคณะที่ 1  ประกอบด้วย

  • นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการ
  • นายอารีย์ วงศ์อารยะ กรรมการ
  • นายอาษา เมฆสวรรค์ กรรมการ
  • นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ กรรมการ
  • นายปรีชา วัชราภัย กรรมการ
  • นายประสพสุข บุญเดช กรรมการ
  • นายดิสทัต โหตระกิตย์ กรรมการ
  • นายทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการ
  • หม่อมหลวงไกรฤกษ์ เกษมสันต์ กรรมการ

 

ลำดับเหตุการณ์ควบรวม ทรู-ดีแทค

กสทช. ได้สั่งให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือที่ สทช 2402/38842 ลงวันที่ 25 ส.ค.65 เพื่อขอให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค 

 

อย่างไรก็ดี คราวนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา  มีหนังสือปฏิเสธการให้ความเห็นในกรณีดังกล่าวมาแล้ว เพราะถือเป็นอำนาจของ กสทช.ตามบทบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ทั้งยังเป็นกรณีที่กฤษฎีกาไม่อาจก้าวล่วงได้เนื่องจากประเด็นที่หารือ ยังเป็นคดีความอยู่ในชั้นศาล

 

ล่าสุด หลังนายกฯถูกศาลรธน.สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ มอบหมาย บิ๊กป้อม มารักษาการนายกฯ ได้ใช้อำนาจรักษาการนายกฯ  สั่งการให้ สำนักงานเลธิการนายกฯ ทำหนังสือที่ นร 0403 (กน)/12008 ลงวันที่ 5 ก.ย. 65 แจ้งมายังสำนักงาน กสทช. ว่า พล.อ.ประวิตร ได้มีบัญชา “เห็นชอบ” ตามที่สำนักงาน กสทช. ร้องขอ และได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับทราบแล้ว 

 

ทั้งที่ตอน ประยุทธ์ เป็นนายกฯ  กฤษฏีกาขณะนั้น ได้ทำหนังสือ ตอบทำเนียบฯ ปฏิเสธ วินิจฉัยประเด็นอำนาจกสทช.มาแล้วครั้งหนึ่ง 

จับตาดีลควบรวมดีแทค-ทรู

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ได้นัดประชุมเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 13 ก.ย. 65 นี้  โดยขอให้สำนักงาน กสทช. ส่งผู้แทนเข้าร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมด้วย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ส่ง นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. พร้อมนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.
 

น่าสนใจกว่านั้น  การส่งเรื่องให้ คณะกรรมการกฤษฏีกา คณะที่ 1 วินิจฉัย นั้น เปิดชื่อหัวโต๊ะ ทำหน้าที่ ก็คือ มีชัย ฤชุพันธุ์  ผู้ที่เคยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานในคณะกรรมการกฤษฏีกาชุดพิเศษ ตีความ ปม 8 ปีนายก  ว่าให้นับตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 เท่านั้น   

 

โดยประเด็นที่ต้องจับตามองคือวันนี้ (13 ก.ย.) มีชัย จะทำหน้าที่ตีความ อำนาจกสทช. ตามบัญชา  พล.อ.ประวิตร ในฐานะรักษาการนายกฯ หรือไม่ 

จับตา กสทช. กับดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค"

ขอบคุณข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ
 

logoline