นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในปี 2565 ผลผลิตลำไย มีปริมาณ 1.66 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6%
ปัจจุบันผลผลิตภาพรวมในภาคเหนือออกสู่ตลาดแล้ว 65% ซึ่งในช่วงปลายฤดูผลผลิตส่วนใหญ่จะเป็นลำไยรูดร่วง และส่วนใหญ่ได้นำลำไยรูดร่วงไปเข้าโรงงานแปรรูปผลิตเป็นลำไยอบแห้ง โดยในปีนี้ กรมฯ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ และสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทยดูดซับผลผลิตรวม 100,000 ตัน เพื่อแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งและส่งออกไปยังต่างประเทศ
ในวันนี้ (11 ส.ค. 65) เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือ ซึ่งกรมการค้าภายในได้ผนึกกำลังกับสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง พีที โออาร์ และบางจาก ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ลำไย โดย กรมฯ เร่งเข้าไปรับซื้อลำไยรูดร่วงเกรด B ในราคาไม่ต่ำกว่า 5 บาท ซึ่งเป็นราคานำตลาด รวม 1,000 ตันสด และนำไปแปรรูปเป็นลำไยอบแห้ง ส่งต่อให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงกระจายผลผลิต
โดยนำมามอบเป็นของสมนาคุณให้แก่พี่น้องประชาชน เป็นจำนวน 1,670,000 ถุง ซึ่งจะเริ่มแจกตั้งแต่วันที่ 11 ถึง 14 ส.ค. 65 หรือจนกว่าสินค้าจะหมด ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก รวม 12 จังหวัด กว่า 800 สาขา เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้มีช่องทางการกระจายผลผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของลำไยสดได้ดำเนินมาตรการเชิงรุก โดยเข้าไปรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม กรมฯ ได้ประสานผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตลำไยช่อ และลำไยรูดร่วงจากสถาบันเกษตรกรในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย เป็นการล่วงหน้าในราคานำตลาด ภายใต้ “อมก๋อยโมเดล” ปริมาณมากกว่า 52,000 ตันสด โดยรับซื้อเกรดสดช่อ ราคา ไม่ต่ำกว่า 25-30 บาท/กก. ราคารูดร่วง เกรด B ไม่ต่ำกว่า 4 บาท/กก.
ส่งผลให้ราคาลำไยเกรดสดช่อส่งออกและเกรดมัดปุ๊กในประเทศในปีนี้มีราคาที่ดีกว่าปีที่แล้วมาก โดยเกรดส่งออกราคาดีกว่าปีที่แล้ว 60% สำหรับเกรดมัดปุ๊กทั่วไปราคาดีกว่าปีที่แล้ว 89% สำหรับราคาเกรดรูดร่วง ในภาพรวมสูงกว่าปีที่ผ่านมา โดย เกรด AA ราคา 12-18 บาท/กก. สูงกว่าปีที่แล้ว 11%
ทั้งนี้ กรมฯ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้าไปช่วยเร่งกระจายผลผลิตลำไยแปรรูป จะสามารถรักษาเสถียรภาพด้านราคา ส่งผลให้สถานการณ์ราคาลำไยในภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นตลอดฤดูกาลผลิต ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรมีช่องทางระบายผลผลิต มีรายได้ที่ดีขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน รวมถึงช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคที่มาใช้บริการเติมน้ำสามารถเข้าถึงสินค้าดีมีคุณภาพอีกด้วย