พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหุ้น STARK เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุด ว่าวานนี้ (3 ก.ค. 66) ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 2 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท โดยให้เข้ารับทราบข้อหาวันที่ 6 ก.ค.นี้ เวลา 10.30 น. และนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตกรรมการ โดยให้เข้ารับทราบข้อหาวันที่ 7 ก.ค. เวลา 09.30 น.ที่กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เนื่องจากพยานหลักฐานและคำให้การของพยานบุคคล พบว่า ทั้งคู่มีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชี และได้รับผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว แต่หากทั้งคู่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาก็เป็นสิทธิ์ที่กระทำได้ ทั้งนี้ดีเอสไอยังเดินหน้าเร่งตรวจสอบพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายเรียกบุคคลอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป
ส่วนข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า นายศรัทธาได้ส่งหนังสือชี้แจงกับดีเอสไอนั้น พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวว่า ยืนยันยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบข้อมูลว่า นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค ได้ประสานมายังดีเอสไอว่า จะเข้าพบคณะพนักงานสอบสวน วันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยจะเป็นตัวแทนของบริษัทร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลเพิ่มเติม แต่ตนยังไม่ได้ตอบรับนัดหมายอย่างเป็นทางการ
ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA ) กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้มีการประสานงาน และหารือร่วมกับก.ล.ต.และตลท. บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งขณะนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงหรือเพิ่มเติม เครื่องหมายแจ้งเตือน (Event Sing Bond) ให้สามารถส่งสัญญาณเตือนหรือสื่อสารกับนักลงทุนได้ชัดเจนมากขึ้น และประสานขอข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์ของสมาคมฯเพื่อแจ้งให้นักลงทุนรับทราบได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความระมัดระวังให้นักลงทุน มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ในส่วนของ FETCO ได้เข้าไปหารือร่วมกับฝ่ายต่างๆในตลาดทุนแล้ว เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าจะต้องมีการเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่องกับประชาชนที่ถูกกระทบ ว่าคดีนั้นมีความคืบหน้าอย่างไร เงินที่เสียหายจะได้คืนอย่างไร เท่าไหร่ และเมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่หลายคนมีคำถามกับเรื่องนี้
นอกจากนี้ในการหารือกันอย่างใกล้ชิดว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นก็ต้องมาดูเรื่องของกลไกตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยทุกๆครั้งที่เกิดเหตุลักษณะนี้ในตลาดทุน มักจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ และระบบต่างๆให้มีกลไกมากขึ้นมาตรวจสอบ เช่น การตรวจสอบ 3 ระดับ ที่เรียกว่า “third line of defense” เพื่อจัดการไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอย