svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ก.ยุติธรรม สั่ง ดีเอสไอ ตรวจสอบเพจปล่อยกู้ ปมฉ้อโกงไม่คืนรถค้ำประกัน

19 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สายไหมต้องรอด" พาเหยื่อกว่า 20 ราย ร้อง ยธ. หลังถูกเพจปล่อยเงินกู้ ภาคตะวันออก ฉ้อโกง บ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนรถที่นำไปใช้ค้ำประกัน อ้างอยู่กับนายทุนใหญ่ พบถูกโกงกว่า 100 คัน ด้าน เลขาฯ ยธ. สั่งดีเอสไอลงพื้นที่ตรวจสอบพรุ่งนี้ทันที เตือน ไม่ยอมคืนมีความผิด

วันที่ 19 สิงหาคม 2565 นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด พาผู้เสียหายกว่า 20 ราย เดินทางเข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงยุติธรรม หลังถูกแก๊งหลอกปล่อยเงินกู้ในภาคตะวันออก โกงไม่คืนรถที่นำไปค้ำเงินกู้ไว้

 

หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ตัวเองมีเหตุจำเป็น ที่ต้องนำรถไปค้ำประกัน เนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ซึ่งได้ไปเจอกับบริษัทเงินกู้นี้ ผ่านทางเพจในเฟซบุ๊ก โดยมีความน่าเชื่อถือ มีผู้ที่เอารถไปค่ำประกันเงินกู้ไว้ และได้รับคืนจริง ตนจึงนำรถไปค้ำประกันเงินกู้ จำนวน 80,000 บาท ทางบริษัทโอนเงินให้ 72,000 บาท หักดอกเบี้ย 8,000 บาท 

 

หลังจากนั้นตนก็จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน เดือนละ 8,000 บาท ซึ่งเดือนล่าสุด ชำระดอกเบี้ยช้าไปเพียง 2 ชั่วโมง ทางบริษัทก็บอกว่า ตนจำเป็นต้องจ่ายเงิน 4,500 บาท เพื่อซื้อสัญญาคืน ไม่เช่นนั้นรถตนจะหลุด

 

จนเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตนหาเงินไปไถ่รถออกมาได้ครบจำนวน และมีการนัดส่งคืนรถในวันที่ 22 มิถุนายน แต่เมื่อถึงเวลาทางบริษัทก็จะอ้างบ่ายเบี่ยง ขอเลื่อนนัดคืนรถ โดยมีทั้งเลื่อนทั้งแบบวันต่อวันไปเรื่อยๆ เลื่อนเป็นสัปดาห์ หรือบางครั้งก็เลื่อนไป 15 วัน

นอกจากนี้เวลาที่นัดส่งมอบรถกัน ก็จะนัดเฉพาะเวลากลางคืนเท่านั้น โดยให้เอาไปส่งที่ที่ทำการบริษัทในพื้นที่ สภ.เสม็ด จังหวัดชลบุรี ส่วนสาเหตุที่บริษัทอ้างในการไม่ส่งคืนรถ ก็มีทั้งบอกว่าคนส่งรถไม่พอ ,พนักงานติดโควิด ,ฝนตก หรือน้ำท่วมบ้าง ซึ่งจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่ทราบว่ารถอยู่ที่ไหน ทางบริษัทไม่ยอมบอก บอกแต่ว่าอยู่ในโกดัง อยู่กับนายทุนใหญ่ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ารถยังอยู่กับบริษัทนี้จริงหรือไม่ ส่วนเพจของบริษัท ตอนนี้ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ปกติ

ด้าน นายเอกภพ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับกลุ่มผู้เสียหาย ทราบว่าตอนนี้มีรถที่ถูกนำไปแล้วไม่คืนกว่า 100 คัน ในพื้นที่ภาคตะวันออก ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการฉ้อโกงเกิดขึ้นหลายคดี จึงขอฝากกระทรวงยุติธรรม ให้พิจารณาการเพิ่มอัตราโทษคดีฉ้อโกง เพราะกลุ่มมิจฉาชีพไม่เกรงกลัวกฎหมายข้อนี้ และเชี่ยวชาญในการหลบเลี่ยงกฎหมายด้วย

ก.ยุติธรรม สั่ง ดีเอสไอ ตรวจสอบเพจปล่อยกู้ ปมฉ้อโกงไม่คืนรถค้ำประกัน

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ตอนนี้ได้ทำการประสานไปยังยุติธรรมจังหวัด และจะให้เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่ไปในวันพรุ่งนี้ เพื่อดำเนินการติดตามกับบริษัทดังกล่าวว่ามีเหตุจำเป็นอะไรจึงไม่ส่งมอบรถคืนตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา 

 

“ซึ่งการรับจำนำรถแล้วไม่ส่งคืน ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานยักยอกทรัพย์ มีอัตราโทษไม่ต่ำกว่า 3 ปี จึงขอฝากไปยังบริษัทดังกล่าวว่า หากไม่คืนรถให้ผู้เสียหายจะต้องได้รับโทษอย่างแน่นอน” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ

logoline