svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"ปิยบุตร" ยกกรณีศึกษา ณ เวลานี้ ประเทศไทยไม่มี"ผู้นำฝ่ายค้าน"

05 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชำแหละรัฐธรรมนูญ สร้างเงื่อนไข ตั้ง"ผู้นำฝ่ายค้าน" ปิยบุตร แสงกนกกุล ชี้ หาก"พรรคก้าวไกล"ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ต้องทำ 2 ข้อ ขาดข้อใดข้อหนึ่งมิได้

5 กันยายน  2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน "นายปิยบุตร  แสงกนกกุล"  คณะทำงานคณะก้าวหน้า ให้ความเห็น สถานการณ์ทางการเมือง ในหัวข้อ ณ เวลานี้ ไม่มีพรรคใดได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน

"นายปิยบุตร" ระบุว่า 

ประเทศไทยเริ่มนำตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” มาใช้ในรัฐธรรมนูญ 2517 นับจนถึงปัจจุบัน เรามีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 9 คน ดังนี้

1.ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์

22 มีนาคม 2518 - 12 มกราคม 2519

2.พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทย

24 พฤษภาคม 2526 - 1 พฤษภาคม 2529

30 ตุลาคม 2535 - 7 พฤษภาคม 2537

3.พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่

15 พฤษภาคม 2539 - 16 มิถุนายน 2535,

26 พฤศจิกายน 2540 - 2 มิถุนายน 2541,

2 กันยายน 2541 - 27 เมษยน 2542,

12 พฤษภาคม 2542 - 30 เมษายน 2543

4.นายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย

27 พฤษภาคม 2537 - 19 พฤษภาคม 2538

5."นายชวน หลีกภัย" พรรคประชาธิปัตย์

4 สิงหาคม 2538 - 17 กันยายน 2539,

21 ธันวาคม 2539 - 8 พฤศจิกายน 2540,

11 มีนาคม 2544 - 3 พฤษภาคม 2546

6."นายบัญญัติ บรรทัดฐาน" พรรคประชาธิปัตย์

23 พฤษภาคม 2546 - 5 มกราคม 2548

7."นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" พรรคประชาธิปัตย์

23 เมษายน 2548 - 24 กุมภาพันธ์ 2549,

27 กุมภาพันธ์ 2551 - 17 ธันวาคม 2551,

16 กันยายน 2554 - 9 ธันวาคม 2556

8."นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์" พรรคเพื่อไทย

6 ธันวาคม 2563 - 28 ตุลาคม 2564 ,

17 สิงหาคม 2562 - 26 กันยายน 2563

9."นายชลน่าน ศรีแก้ว" พรรคเพื่อไทย

23 ธันวาคม 2564 - 20 มีนาคม 2566

รัฐธรรมนูญ 2517 มาตรา 126, รัฐธรรมนูญ 2521 มาตรา 105, รัฐธรรมนูญ 2534 มาตรา 116, รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 120 และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 110 กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านเอาไว้คล้ายคลึงกัน โดยกำหนดให้ "ผู้นำฝ่ายค้าน" ต้องเป็น

"ปิยบุตร" ยกกรณีศึกษา ณ เวลานี้ ประเทศไทยไม่มี"ผู้นำฝ่ายค้าน"

1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2. หัวหน้าพรรคการเมือง

3. หัวหน้าพรรคการเมืองที่ ส.ส.ในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่ง รมต.

4. หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดในซีกของพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี

5. หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ในขณะแต่งตั้ง

จนกระทั่งมาถึง รัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 106 ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เป็นดังนี้

1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2. หัวหน้าพรรคการเมือง

3. หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด

4. พรรคการเมืองนั้น ต้องมีสมาชิกที่มิได้ดำรงตำแหน่ง รมต. ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เพิ่มเงื่อนไขมาว่า ส.ส.ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองนั้น นอกจากพรรคนั้นจะต้องไม่มีสมาชิกเป็น รมต.แล้ว ยังต้องไม่มีสมาชิกเป็นประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ฝ่ายค้าน คือ ใคร?

ในรัฐธรรมนูญไม่ได้นิยามคำว่า "ฝ่ายค้าน" เอาไว้ชัดเจน แต่คนทั่วไปก็ตีความเอาจากเงื่อนไขของการเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งแต่ไหนแต่ไร คำว่า "ฝ่ายค้าน" ควรหมายถึง พรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสังกัด ที่มิได้ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร หรือ รมต. เท่านั้น

แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาเพิ่มเงื่อนไขตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านไว้ในมาตรา 106 ให้รวมถึง พรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย ก็กลายเป็นปมปัญหาใหม่

ผมเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 106 นี้ เขียน "เกิน" ไป คำว่า "ฝ่ายค้าน" ควรหมายถึง พรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็น รมต.หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดในฝ่ายบริหารเท่านั้น

ไม่จำเป็นเสมอไปที่ตำแหน่งประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฏร ต้องมาจากพรรคฝ่ายรัฐบาล เพราะ นี่คืองานของฝ่ายนิติบัญญัติ เพียงแต่ว่าโดยทั่วไป สองตำแหน่งนี้ มักมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล)

ในอดีต เกิดกรณีตำแหน่งประธานหรือรองประธาน กลับกลายเป็น ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯกันในสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน จากเดิมเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็กลายเป็นฝ่ายค้าน

เข่น 15 ธันวาคม 2551 มีการลงมติเลือก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรี

ในเวลานั้น พรรคเพื่อไทย (พรรคพลังประชาชน ถูกยุบพรรค ส.ส.ส่วนใหญ่ย้ายมาพรรคเพื่อไทย) กลายเป็นฝ่ายค้าน และพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นรัฐบาล

ปรากฏว่า รองประธานสภาฯคนที่ 1 และ 2 คือ "สามารถ แก้วมีชัย" และ"อภิวันท์ วิริยะชัย" ซึ่งสังกัดพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่ง ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯต่อไปจนยุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554

นอกจากนี้ เพื่อความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ และเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของทุกพรรคในสภาผู้แทนราษฎร ผมยังเห็นไปอีกว่า ในอนาคต ควรกำหนดบังคับไว้เลยว่า รองประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่างน้อย 1 คน ต้องเป็น ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

ตามองค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ผู้นำฝ่ายค้าน จะตกเป็นของ ส.ส.พรรคใด?

ณ เวลานี้ พรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในองค์ประกอบรัฐบาล ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม

แต่หากนำเกณฑ์พิจารณาว่า ส.ส.พรรคใดยกมือเห็นชอบ "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน ให้ความเห็นชอบ

ยังไม่นับรวมว่ามี พรรคเล็ก 1 เสียง ที่ไม่ได้อยู่ในการแถลงตั้งรัฐบาล 11 พรรค อีก แต่ก็ไปยกมือให้ความเห็นชอบ

ในส่วนของ"พรรคก้าวไกล" แม้มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่ก็ติดเงื่อนไข 2 ข้อ คือ หัวหน้าพรรคซึ่งเป็น ส.ส.ถูกศาล รธน สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว และ พรรคตนเองมีสมาชิกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ผมเห็นว่า ณ เวลานี้ ไม่มีพรรคใดที่มี ส.ส.ที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้เลย ตำแหน่งนี้ต้องเว้นว่างไปก่อน จนกว่าจะมี ส.ส.ของพรรคใดเข้าเกณฑ์เงื่อนไขตามมาตรา 106 ครบถ้วน

ด้วยเหตุผล ดังนี้

ประการแรก

มาตรา 106 กำหนดเงื่อนไขของการเป็น "ผู้นำฝ่ายค้าน" ไว้ชัดเจนว่า

1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2. หัวหน้าพรรคการเมือง

3. หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด

4. พรรคการเมืองนั้น ต้องมีสมาชิกที่มิได้ดำรงตำแหน่ง รมต. ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

ตำแหน่งนี้ ต้องมีครบทั้ง 4 ข้อ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไปมิได้

หากขาดข้อใดข้อหนึ่งไป นั่นหมายความว่า ก็ไม่มีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 106 เขียนเงื่อนไขไว้เคร่งครัด ไม่มีข้อความใดกำหนดไว้เลยว่า หากพรรคอันดับหนึ่งของฝ่ายค้าน ไม่มี ส.ส.เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ แล้วตำแหน่งนี้จะเลื่อนไหลไปสู่พรรคอันดับถัดไปของฝ่ายค้าน

หากรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ตำแหน่งนี้เลื่อนไหลไปสู่พรรคอื่นได้ ก็ต้องเขียนเอาไว้ชัดเจน

ดังที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 120 วรรคสอง และรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 110 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากไม่มี ส.ส.พรรคใดเข้าเกณฑ์การเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ให้พรรคที่ไม่มี ส.ส.เป็นรัฐมนตรี ทั้งหมด (พรรคฝ่ายค้าน) เลือก ส.ส.ที่เป็นหัวหน้าพรรคจากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็น รมต. ขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

ประการที่สอง

ในอดีต เคยมีกรณีไม่มี ส.ส.ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

นั่นก็คือ ช่วงตั้งแต่ 17 ธันวาคม 2551 - 10 พฤษภาคม 2554

17 ธันวาคม 2551 คือ วันที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ้นจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ไปเป็นนายกรัฐมนตรี

10 พฤษภาคม 2554 คือ วันยุบสภาผู้แทนราษฎร

ในตอนนั้น พรรคเพื่อไทย กลายมาเป็นฝ่ายค้าน ร่วมกับพรรคประชาราช ในขณะที่พรรคอื่นที่เหลือ ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์

ปรากฏว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คือ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ แต่ ยงยุทธ ไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ เพราะ มิได้เป็น ส.ส.

และพรรคเพื่อไทย ก็มิได้เปลี่ยนตำแหน่งหัวหน้าพรรค ให้คนที่เป็น ส.ส.ไปเป็นแทน เพื่อมารับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน

ในขณะที่ พรรคประชาราช แม้มีหัวหน้าพรรคเป็น ส.ส. แต่ก็มี ส.ส.9 คน ไม่ถึงจำนวน 1 ใน 5 ตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนด

และพรรคฝ่ายค้านทั้งสองพรรค คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาราช ก็ไม่ใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 110 วรรคสอง เพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรคประชาราชขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านด้วย

ทำให้สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 ไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน 2 ปี 5 เดือน

ประการที่สาม

หากตีความ มาตรา 106 ให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน "ไหลเลื่อน" ไปพรรคอื่นๆได้ ก็จะเกิดผลประหลาด

สมมติว่า "พรรคก้าวไกล" ไม่ได้ ก็ให้ไหลไป"พรรคประชาธิปัตย์"

แต่พรรคประชาธิปัตย์ เกิดมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ก็ต้องไหลไปพรรคไทยสร้างไทย

พรรคไทยสร้างไทย ก็มีหัวหน้าพรรคที่ไม่ได้เป็น ส.ส.อีก

ก็ต้องไหลไปพรรค 2 เสียง ที่ไม่มีสมาชิก เป็น รมต ประธาน รองประธาน แต่ว่าตนเองสนับสนุนรัฐบาล และหัวหน้าพรรค ก็ไม่ได้เป็น ส.ส.

ถ้าต้องไหลไปพรรค 1 เสียง ที่ไม่มีสมาชิก เป็น รมต. ประธาน รองประธาน ซึ่งมีหลายพรรค ก็ต้องมาจับสลากกัน และก็มีหลายพรรคที่ไปสนับสนุนรัฐบาล และมีพรรคเป็นธรรมอยู่ซีกฝ่ายค้าน เกิดจับสลากได้พรรคที่สนับสนุนรัฐบาล ก็ยุ่งไปกันใหญ่

การตีความมาตรา 106 ให้ "เลื่อนไหล" จนเกิดผลประหลาด ประเภทที่ว่า พรรคไม่กี่เสียงมีโอกาสเป็นผู้นำฝ่ายค้านก็ดี หรือพรรคที่มี ส.ส.สนับสนุนรัฐบาลมีโอกาสเป็นผู้นำฝ่ายค้านก็ดี จนทำให้กระทบต่อ "ฝ่ายค้าน" เช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่า มาตรา 106 กำหนดเงื่อนไขไว้เคร่งครัด ไม่ต้องการให้มีการเลื่อนไหล หากไม่มีพรรคไหนเข้าเงื่อนไขได้ ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องว่างเว้นไป

หัวใจสำคัญที่สุดของการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ต้องเป็น ส.ส.ที่มาจากพรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดและไม่ได้ร่วมเป็นรัฐบาล

หากปล่อยให้ "ผู้นำฝ่ายค้าน" เลื่อนไหลไปพรรคที่มีจำนวน ส.ส.เล็กน้อยได้ หรือไปพรรคที่ ส.ส.ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดสนับสนุนรัฐบาลได้ ก็จะกระทบกับการทำงานของฝ่ายค้าน

ประการที่สี่

จำนวน ส.ส.มากที่สุด คือ หัวใจของการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีตำแหน่งนี้ รัฐธรรมนูญ 2517 2521 2534 2540 2550 2560 ยืนยันเงื่อนไขสำคัญเรื่อง "หัวหน้าพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด" ไว้เสมอ

และผู้นำฝ่ายค้านในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทั้ง 9 คน ต่างก็เป็น ส.ส.ที่เป็นหัวหน้าพรรคของพรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลทั้งสิ้น

ณ เวลานี้ ไม่มีพรรคใดเข้าเงื่อนไข ตามมาตรา 106 วรรคแรก

ไม่มีพรรคใดที่มี สส.จำนวนมากที่สุด

ไม่มีพรรคใดที่ไม่มี สส.เป็น รมต. ประธาน หรือรองประธานสภา และมีหัวหน้าพรรค เป็น สส.

ดังนั้น สภาชุดนี้ ก็ยังไม่มีผู้นำฝ่ายค้าน ต้องว่างเว้นไปก่อนจนกว่าจะมี สส.จากพรรคใดเข้าเงื่อนไขครบถ้วน

แล้วสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 นี้ จะมีผู้นำฝ่ายค้านได้เมื่อไร?

ทั้งหมดขึ้นกับ"พรรคก้าวไกล"เพียงพรรคเดียว

เพราะ "พรรคก้าวไกล" ผ่านเงื่อนไขข้อจำนวน สส.มากที่สุดไปแล้ว ในขณะที่พรรคอื่น ไม่มีทางผ่านด่านข้อนี้ได้เลย

"พรรคก้าวไกล" คงเหลือแต่เงื่อนไขที่ยังไม่ผ่าน นั่นคือ 1. หัวหน้าพรรคต้องเป็น สส. 2. พรรคต้องไม่มีสมาชิกเป็น รมต. ประธาน รองประธาน

หาก"พรรคก้าวไกล"ต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องทำ 2 ข้อ ขาดข้อใดข้อหนึ่งมิได้ ดังนี้

หนึ่ง ทำให้สมาชิกพรรคตนไม่ดำรงตำแหน่ง รมต. ประธาน หรือรองประธาน

(เช่น ปดิพัทธิ์ ลาออกจากรองประธาน หรือ พรรคมีมติขับปดิพัทธ์ ให้ไปหาสังกัดพรรคอื่น)

สอง ทำให้หัวหน้าพรรคเป็น ส.ส.

(เช่น เปลี่ยนหัวหน้าพรรค ให้คนที่เป็น ส.ส.และไม่ถูกสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่มาเป็นแทน หรือรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.กลับมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้)

 

logoline