13 สิงหาคม 2566 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก พานายทักษิน ชินวัตร กลับไทย ระบุว่า อ “วิธีการพาคุณทักษิณกลับบ้านที่ถูกต้อง” ดังนี้...
การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ผ่านมาเกือบสามเดือนแล้ว จนถึงวันนี้ การจัดตั้งรัฐบาลก็ยังคงไม่แล้วเสร็จ แน่นอน ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ เป็นผลโดยตรงจากความวิปริตของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า อีกประเด็นที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาจัดตั้งรัฐบาล ก็คือ กรณีที่คุณทักษิณ ชินวัตร ประกาศยืนยันว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยในเร็วๆนี้
กรณีนี้ส่งผลให้เหล่าบรรดาพรรคการเมืองและวุฒิสภานำมาใช้เป็น “เครื่องมือต่อรอง” กำหนดตัวนายกรัฐมนตรีและกำหนดองค์ประกอบพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลได้ จนทำให้ความฝันความหวังของประชาชนเกือบ 25 ล้านเสียงที่แสดงเจตจำนงผ่านการเลือกตั้งอยากเห็น “รัฐบาล 8 พรรค/312 เสียง” ต้องดับสิ้นลง
ประเด็นปัญหา “กลับบ้าน” ของคุณทักษิณอยู่ในสังคมไทยมาเกือบสองทศวรรษ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้ง เมื่อไรได้รัฐบาลใหม่จากขั้วเพื่อไทย ก็จะมีผู้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเสมอ
หากใครได้ติดตามการแสดงความเห็นของผมตั้งแต่ปี 2548/49 คงจำได้ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกร้อง “นายกฯพระราชทาน มาตรา 7” ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ผมและเพื่อนอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) รวม 5 คน ในเวลานั้นได้ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ในเวลาต่อมา พวกเรายังได้แถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยและวิจารณ์การดำเนินคดีคุณทักษิณในหลายกรณี รวมทั้งคำพิพากษากรณียึดทรัพย์ด้วย
หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 53 พวกเราได้รวมตัวก่อตั้ง “คณะนิติราษฎร์” 18 กันยายน 2554 คณะนิติราษฏร์ เสนอข้อเสนอ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ดังนี้
หนึ่ง ให้รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และการกระทำของ คปค.( คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ถึง 30 กันยายน 2549 เป็นโมฆะ
สอง ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 36 (ซึ่งรับรองให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย) ตกเป็นโมฆะ ทำให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารถูกโต้แย้งได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
สาม ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 37 (ซึ่งนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร) ตกเป็นโมฆะ
ทำให้ การนิรโทษกรรมรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นโมฆะ สิ้นผลไป เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เมื่อไม่มีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร ทำให้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ยังคงมีความผิดฐานกบฎในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ย่อมสามารถดำเนินคดีเอาคณะรัฐประหารมาลงโทษได้
สี่ ให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตกเป็นโมฆะ
ห้า ให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณา ที่เกิดจากการริเริ่มของ คตส. ยุติลง
ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ต้องทำโดยผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากข้อเสนอเหล่านี้สำเร็จ ผลที่ตามมา คือ ดำเนินคณะรัฐประหารได้ทันที
ส่วนคดีความของคุณทักษิณและนักการเมืองอีกหลายคน ที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร 49 ก็ไม่ได้นิรโทษหรืออภัยโทษแต่อย่างใด เพียงแต่ลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นทิ้ง และสามารถดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนการปกติ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย
วันนี้ ประเด็น “ทักษิณกลับบ้าน” กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ผมยังคงยืนยันตามเดิมว่า การดำเนินคดีคุณทักษิณ โดยใช้องค์กรและกระบวนการที่เริ่มต้นจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่เป็นธรรมต่อคุณทักษิณ
การใช้อำนาจคณะรัฐประหาร ตั้งบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์กับคุณทักษิณ มาทำหน้าที่สอบสวน ทำสำนวนสั่งฟ้อง ไม่เป็นธรรมต่อคุณทักษิณ
ยิ่งไปกว่านั้น ภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ คสช.ตั้งขึ้น ก็ยังร่วมกันตรา พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 25 มาตรา 27 และมาตรา 28 กำหนดว่า
“มาตรา 25 ในการดำเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ให้อายุความสะดุดหยุดลง ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนี รวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 98 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับ”
“มาตรา 27 ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ให้อัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล และอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้เคยมีการออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาแล้วแต่ยังไม่ได้ตัวมา หรือเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลเกิดจากการประวิงคดี หรือไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้ แม้จะไม่ปรากฏผู้ถูกกล่าวหาต่อหน้าศาล”
“มาตรา 28 ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาล ให้ศาลออกหมายจับจำเลย และให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการติดตามหรือจับกุมจำเลยรายงานผลการติดตามจับกุมเป็นระยะตามที่ศาลกำหนด
ในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลยและได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายในสามเดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนไดบทบัญญัติมาตรานี้ไม่เป็นการตัดสิทธิจำเลยที่จะมาศาลเพื่อต่อสู้คดีในเวลาใดก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา แต่การมาศาลดังกล่าวไม่มีผลให้การไต่สวนและการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้ทำไปแล้วต้องเสียไป”
บทบัญญัติทั้งสามมาตรานี้ ส่งผลให้
หนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิจารณาคดีอาญาของคุณทักษิณแบบ “ลับหลังจำเลย” ได้
สอง แม้คุณทักษิณอยู่ต่างประเทศอีกนานเท่าไร ก็ไม่มีทางทำให้คดีต่างๆหมดอายุความ เพราะ กฎหมายกำหนดให้ไม่นับระยะเวลาหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในอายุความ
สาม ในส่วนของคดีที่มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกคุณทักษิณตั้งแต่ 1 ปีแต่ไม่เกิน 7 ปี แม้คุณทักษิณหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศเกิน 10 ปี ซึ่งโดยปกติจะได้รับประโยชน์จาก ป อาญา มาตรา 98 ไม่ต้องรับโทษแล้ว แต่ในเมื่อ พ.ร.ป.ฯ 60 มาตรา 25 วรรคสาม กำหนดไม่ให้นำอายุความตาม ป อาญา มาตรา 98 มาใช้ในกรณีนี้ ทำให้คำพิพากษาที่ลงโทษจำคุกคุณทักษิณ ภายหลังจาก พ.ร.ป.ฯ 60 ใช้บังคับ ต้องถูกบังคับคดีต่อไป
จะเห็นได้ว่า พ.ร.ป.ฯ 60 ทั้งสามมาตรานี้ มุ่งหมายใช้กับกรณีคุณทักษิณ และคุณยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะ
ผมเห็นว่าการเลือกวิธี “กลับบ้าน” โดยการกลับมาติดคุก และหวังว่าจะได้อภัยโทษ ไม่เพียงไม่เป็นคุณกับคุณทักษิณ แต่ยังไม่เป็นคุณกับการเมืองไทยด้วย
ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนี้?
จนถึงวันนี้ มีอะไรรับประกันได้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ว่า หากคุณทักษิณกลับมาติดคุกแล้ว ผ่านไปไม่นาน จะได้รับอภัยโทษ? ก็ในเมื่อจนถึงวันนี้ กำหนดการกลับประเทศไทยของคุณทักษิณต้องเลื่อนออกไปหลายครั้ง จนมีการคาดการณ์กันไปต่างๆนานาว่า การเจรจาตกลงกันยังไม่เป็นที่ยุติ
ต่อให้เชื่อว่าเป็นที่ยุติจริง แล้วคุณทักษิณกลับมาติดคุกไปเรื่อยๆ และยังไม่มีการพระราชทานอภัยโทษเฉพาะกรณีให้แก่คุณทักษิณ หรืออาจไม่มีการอภัยโทษเลย หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จริง ถามว่า...
คุณทักษิณ พรรคเพื่อไทย ส.ส.พรรคเพื่อไทย และมวลชนผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะออกมาต่อสู้เรื่องนี้ได้อย่างไร?
มีฐานความชอบธรรมเพียงพอ ในการเรียกระดมมวลชนออกมา ต่อสู้กับความอยุติธรรมได้อีกหรือ? ยังคงมีฐานความชอบธรรมและกระแสสูงได้เหมือนสมัยปี 2552-2553 หรือไม่?
ที่สำคัญ มวลชนจำนวนมากที่ผิดหวังกับกรณีพรรคเพื่อไทย “ข้ามขั้ว” ไปตั้งรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ มวลชนที่ “ตาสว่าง” จากการตั้งรัฐบาลในรอบนี้ จะยังคงออกมาร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่คุณทักษิณและคณะอีกหรือไม่?
ยังไม่นับรวมอีกว่า แนวบรรทัดฐานที่ผ่านมา การอภัยโทษเป็นรายบุคคล ไม่ปรากฏในกรณีความผิดเกี่ยวกับการทุจริต ยิ่งกรณีนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองและเป็นที่จับตาของสังคมไทย มีทั้งฝ่ายสนับสนุนคุณทักษิณและฝ่ายตรงกันข้ามกับคุณทักษิณ เช่นนี้ ก็อาจกระทบกับสถานะความเป็นกลางของพระมหากษัตริย์ได้
นอกจากนั้น หากมีการนำประเด็น “ทักษิณกลับบ้าน” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาต่อรองจัดตั้งรัฐบาล จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องถูกบีบให้ “ข้ามขั้ว” ก็ยิ่งทำให้กลุ่มอำนาจที่อยู่ฝักฝ่ายเดียวกันกับการรัฐประหาร 2549-2557 และการสืบทอดอำนาจ มีอำนาจต่อรองกดดันพรรคเพื่อไทย จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องยอมละทิ้งจุดยืน “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่ยึดกุมไว้ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 และนำมาซึ่งการทำลายพลังของฝ่ายประชาธิปไตย ที่ผนึกกันอย่างเข้มแข็งตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
ผมเห็นว่า จนถึงวันนี้ คุณทักษิณไม่ควรต้องติดคุก โทษจำคุกที่คุณทักษิณได้รับ ไม่เป็นธรรมคุณทักษิณ คือ “เหยื่อผู้ถูกกระทำ” จากรัฐประหาร หนทางที่ถูกต้อง เป็นธรรมต่อคุณทักษิณ และยืนอยู่บนหลักการ ก็คือ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ที่เสนอไว้ เมื่อ 12 ปีก่อน
หรืออย่างน้อยก็ควรแก้ไข พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ในมาตรา 25 มาตรา 27 มาตรา 28 ให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์ปกติเหมือนคดีอาญาอื่นๆ ไม่จำเพาะเจาะจงตรากฎหมายโดย “ดูหน้าคน” เพื่อเล่นงานคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์
คุณทักษิณไม่ต้องติดคุก เมื่อไม่ติดคุก ก็ไม่ต้องขออภัยโทษ ไม่ต้องตรากฎหมายนิรโทษกรรมคุณทักษิณ แต่ลบล้างคำพิพากษาที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วเริ่มต้นดำเนินคดีกันใหม่อย่างเป็นธรรม ปล่อยตัวชั่วคราว ใช้ชีวิตตามปกติ และต่อสู้คดีกันใหม่
หนทางนี้ อาจทำให้คุณทักษิณได้กลับบ้านล่าช้าออกไปเล็กน้อย แต่จะสร้างความยั่งยืน ความแน่นอนชัดเจน ให้กับคุณทักษิณได้มากกว่า
คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทย ก็จะไม่เสียความนิยมจากมวลชนและพลังของฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยังคงเข้มแข็ง ต่อสู้กับพวกฝ่ายอำนาจนิยมได้ต่อไป