svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

'ประสาร' หนุน กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรงสู้เงินเฟ้อ

ปัจจุบันนโยบายการเงิน อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ Inflation Targeting ดังนั้น การที่จะทำให้เงินเฟ้อลงได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลัก ก็คือการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ระบุ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ถือเป็นนัดสำคัญที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ภายใต้ดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น และสิ่งที่ตลาดจับตา คือการส่งสัญญาณของ กนง.ครั้งนี้ และท่าที ในการดูแลเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งถัดไป ซึ่งจะเหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ ว่าจะเป็นอย่างไร

 

อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ระบุ หากดูเงินเฟ้อปัจจุบันจากตัวเลขทางการทั้งเดือน มิ.ย.และ ก.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าออกมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งเงินเฟ้อที่ยืนระดับสูงถือว่ากินเวลายาวนานกว่าที่เคยคิดไว้ จากเมื่อต้นปีเดิมที่เคยมองว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยชั่วคราว แต่เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง อาจอยู่กับเรานานกว่าที่คิดไว้

\'ประสาร\' หนุน กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรงสู้เงินเฟ้อ

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้เงินเฟ้อสูงควรเป็นอย่างไร ปัจจุบันนโยบายการเงิน อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ Inflation Targeting ดังนั้น การที่จะทำให้เงินเฟ้อลงได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลัก ก็คือการปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ ภายใต้กรอบนโยบายที่มีอยู่ ซึ่งหากดูเงินเฟ้อในปัจจุบันถือว่าเกินกรอบบนค่อนข้างมากที่เดิมตั้งเป้า 1-3%

เงินเฟ้อสูงไม่ใช่ปัจจัยระยะสั้น            

หากดูจากปัจจัยต่างๆ มองว่าเงินเฟ้อน่าจะยืนระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น เรื่องเงินเฟ้อไม่ใช่ปัจจัยชั่วคราว หรือระยะสั้นๆแน่นอน อีกทั้ง ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นระยะข้างหน้า มองว่าจะมาทั้งจากปัจจัยอุปสงค์และอุปทาน ทั้งจากราคาน้ำมันแพง และจากการเปิดประเทศ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น เหล่านี้จะมีส่วนหนุนให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

ทั้งนี้ หากดูปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยอุปสงค์และอุปทานที่ต้องให้ความสำคัญมาก คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อ เพราะตัวนี้จะมีผลค่อนข้างมากหากธุรกิจคิดว่า เงินเฟ้อจะไปอีก ก็อาจตัดสินใจขึ้นราคา ผู้บริโภคก็อาจซื้อของแพงขึ้น อาจมีการซื้อสินค้าตุน เหล่านี้มาจากแรงกดดันที่มาจากการคาดการณ์ ดังนั้น ในการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องแสดงให้เห็นถึงความแข่งขันที่จะต้องจัดการเงินเฟ้อให้ได้ ภาคธุรกิจ ประชาชนจะได้ไม่คาดการณ์ไปล่วงหน้า

 

ดังนั้น หากมองอัตราดอกเบี้ยของไทย ในระยะข้างหน้าคงต้องขยับเพิ่มขึ้น จากที่อยู่ระดับต่ำมานาน ส่วนจะเป็นการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ มองว่าหากดูการประชุมกนง. วันนี้ประชุมน้อยลงเหลือปีละ 6 ครั้ง จากเดิม 8 ครั้งต่อไป ในขณะที่การประชุมที่ห่างขึ้น และบังเอิญเกิดเหตุการณ์จากปัจจัยต่างประเทศ เศรษฐกิจโลกสำคัญเกิดและถี่ขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปอาจจะยาก จึงมองว่าการขยับดอกเบี้ยควรมากกว่าปกติ เพราะการประชุม กนง.ค่อนข้างห่าง

\'ประสาร\' หนุน กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแรงสู้เงินเฟ้อ

“ก่อนที่จะประชุม กนง.ในวันที่ 10 ส.ค.นี้ ห่างกับการประชุมของเฟด ถึง 2 ครั้ง แปลว่า กว่าไทยจะประชุมเฟดก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งมีความถี่ค่อนข้างมาก อีกนัยก็มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นเยอะมากในช่วงที่กนง.ทิ้งห่าง 2 เดือน

ดังนั้น คำว่าค่อยเป็นค่อยๆ ไปแล้วจะปรับขึ้นทีละสเต็ปทีละน้อย จึงมองว่าการทำแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดูยาก เพราะประชุมกันห่าง ดังนั้นการประชุมแต่ละครั้งก็ต้องใหญ่กว่าปกติ คือการขยับขึ้นดอกเบี้ยต้องมากกว่าปกติ กว่าการทำก้าวละนิดนะน้อย เพราะการขยับแต่ละครั้งมันนานเกินไป”

ส่วนการประชุม กนง.ภายใต้ความถี่ช้าลง หากเทียบกับอดีต จำเป็นต้องมีการประชุม กนง.รอบพิเศษหรือไม่นั้น มองว่าที่เหมาะสม คืออาจรอให้ทุกอย่างสงบก่อนแล้วถึงเรียกประชุมพิเศษได้ ทั้งนี้มองว่าการประชุมกนง. แบบเดิมคือ 8 ครั้ง ส่วนตัวมองว่าดีกว่า 6 ครั้ง เพราะสถานการณ์ต่างๆเกิดขึ้นเร็วและเยอะมาก

“เวลานี้ก็เห็นใจกนง.เพราะมีปัจจัยแวดล้อมเยอะ การดำเนินนโยบายการเงินก็มีข้อจำกัด อยู่พอสมควร ก็ต้องช่วยกันดูให้รอบคอบ แต่ระยะที่ผ่านมาเราสร้างภูมิคุ้มกันไว้พอสมควร เช่น เรื่องเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง กรอบนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นพอสมควร เสถียรภาพระบบการเงินแข็งแกร่ง ดังนั้นน่าจะป้องกันได้ระดับหนึ่ง ไม่ให้เกิดวิกฤติต่างๆได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาท ต้องรักษาความแข็งแกร่งไว้”