svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

เช็กชื่อ"บิ๊กเนม-ส.ส."ย้ายพรรค- งูเห่ารอวันป่าช้าแตก

06 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กำลังเป็นช่วงเวลานับถอยหลังของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนจะเข้าสู่โหมดเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างเป็นทางการ ทำให้บรรยากาศการเมืองเริ่มเห็นความเคลื่อนไหว

โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง – ส.ส. ขยับเนื้อขยับตัว โยกย้าย ถ่ายเท ย้ายพรรค เปลี่ยนค่าย เปลี่ยนโปรฯ เพื่อเตรียมพร้อมลงสู้สนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดกลางปีหน้า

 

"ทีมข่าวการการเมืองเนชั่นทีวี” รวบรวมความเคลื่อนไหวของเหล่า "นักการเมืองบิ๊กเนม - ส.ส." รวมถึงกลุ่มก๊วนการเมืองที่มีทั้งย้ายพรรค และเตรียมที่จะย้าย 

 

เริ่มด้วยบรรดา "บิ๊กเนม" ทั้งหลายที่ย้ายไปตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นหัวหน้าพรรคเอง

 

1.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งย้ายจากประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และโบกมือลาในเวลาต่อมา เพื่อมานั่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

2.นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองหัวหน้าพรรค-แม่ทัพเศรษฐกิจจากค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งลาออกจากประชาธิปัตย์ หลังพ่ายศึกเลือกหัวหน้าพรรคให้กับ “หัวหน้าจุรินทร์” แล้วมาตั้งพรรคกล้า นั่งเป็นหัวหน้าพรรคเอง  

 

3.นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ออกจากประชาธิปัตย์เช่นกัน เนื่องจากพ่ายศึกชิงหัวหน้าพรรคตั้งแต่ยุคที่แข่งกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยเบื้องต้นไปเป็น ซีอีโอ พรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ก็ไปกันไม่ได้ สุดท้ายตั้งพรรคไทยภักดี และนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเอง 

 

4.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ถูกพรรคมีมติขับออก ฐานสร้างความขัดแย้งและแตกแยกภายในพรรค พร้อมด้วย ส.ส.อีก 20 ชีวิต บางส่วนข้ามไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ส่วนผู้กองธรรมนัส ไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ตอนแรกเป็นเลขาธิการพรรค แต่ภายหลังผงาดนั่งหัวหน้าพรรคเอง และถอนตัวจากการร่วมรับบาล

 

5.ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ "แรมโบ้อีสาน" อดีตมือปราบหวยแพง ล่าสุดประกาศตัดขาดจากพลังประชารัฐ โดยให้เหตุผลว่า เพราะถูกคลื่นใต้น้ำภายในพรรคเตะตัดขา จนถูกข้ามหัว เลยขอลาขาด เตรียมตั้งพรรคเทิดไท นั่งหัวหน้าพรรคเอง เพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นผู้นำต่อไป 

ถัดมาที่กลุ่มแกนนำพรรค มีบทบาทสูงในพรรคการเมืองที่เคยสังกัด แต่ขอลาออก เพื่อไปร่วมสร้างพรรคใหม่ 

 

1.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตลูกหม้อพระชาธิปัตย์ และอดีตโฆษก กปปส. ลูกเลี้ยง "ลุงกำนัน" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ย้ายไปอยู่พรรครวมไทยร้างชาติ นั่งตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรค 

 

2.นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส. เมืองคอน หลายสมัย และแกนนำ กปปส. อีกราย ที่ลาออกจากประชาธิปัตย์ ก่อนล่าสุดเข้าร่วมงานกับรวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมการบริหารพรรค

 

3.นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.หลายสมัยของพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากพรรคเก่า มาเป็นเลขาธิการพรรคกล้า

 

4.นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ หลังจากหายหน้าไปจากการเมืองกว่าทศวรรษ ปรากฏว่าในช่วงปี 2562 ได้ลาออกจากประชาธิปัตย์ แล้วมาปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในฐานะประธานยุทธศาสตร์และนโยบายของพรรคกล้า เมื่อเดือนเม.ย.2565 

 

5.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยอมทิ้งบ้านเก่า จากประเด็นปัญหาการเปลี่ยนตัวผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง ก่อนย้ายมาเป็นรองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย 

 

6.นายวิเชียร ชวลิต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ขอแยกทางจากพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไปร่วมงานกับสร้างอนาคตไทย ตามคำเชื้อเชิญของ นายอุตตม สาวนายน ก่อนได้นั่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการพรรคสร้างอนาคตไทย  

 

7.นายสันติ กีระนันทน์ ลาออกจาก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  ย้ายมาเป็นรองหัวหน้า และเหรัญญิกพรรคสร้างอนาคตไทย

ต่อมาเป็นกลุ่ม ส.ส.-นักการเมืองที่ย้ายออกจากบ้านเดิมไปสังกัดพรรคอื่น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาบทบาทภายในพรรค และพื้นที่เลือกตั้งซ้ำซ้อน ถูกเบียด 

 

ประชาธิปัตย์ 

 

1.นายอภิชัย เตชะอุบล อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และได้นั่งเป็นผู้อำนวยศูนย์อำนวยการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. แต่ไม่ประสบความสำเร็จ พรรคได้ ส.ก.มาเพียง 2 คนต่ก 50 คน   

 

2.นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐ

 

3.นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล

 

4.นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ อดีต ส.ส.กทม. ย้ายไปร่วมงานกับพรรคไทยสร้างไทย

 

5.นายไพร พัฒโน อดีต ส.ส.สงขลา และอดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เข้าร่วมงานกับพรรคเศรษฐกิจไทย เพราะมีปัญหาเรื่องเขตเลือกตั้งทับซ้อน 

 

พลังประชารัฐ

 

ตระกูลอดิเรกสาร โดย นายปองพล และ นายปรพล อดิเรกสาร สองพ่อลูก อดีต ส.ส.สระบุรี ได้ลาออก เพื่อไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

ไทยสร้างไทย 

 

สองพ่อลูก "ตระกูลอรรณนพพร" คือ นายพงศกร อรรณนพพร อดีต รมช.ศึกษาธิการ และ นายพัชรกร อรรณนพพล บุตรชาย ย้ายมากลับมาเพื่อไทยอีกครั้ง หลังจากออกจากพรรคเพื่อไทยไปอยู่กับไทยสร้างไทย ส่วนสาเหตุนั้นข่าวแว่วว่า ถูกบีบให้เลือก เนื่องด้วยตระกูลอรรณนพพรบางส่วน ยังสังกัดกับพรรคเพื่อไทย หากตัดสินใจร่วมงานกับไทยสร้างไทย ก็ต้องย้ายออกไปทั้งหมด ทำให้ตัดสินใจย้อนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง 

 

เช่นเดียวกับ นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ย้ายกลับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจลุยช่วยงาน "คุณหญิงหน่อย" สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในการสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

 

กลุ่ม ส.ส.ที่ถูกขับพ้นพรรค และย้ายเข้าสังกัดพรรคใหม่ 

 

พลังประชารัฐ 

 

มีส.ส.ถูกขับออกพรรคมากที่สุด เพราะครั้งเดียวถูกขับออกถึง 21 คน โดยในจำนวน 21 คน ย้ายเข้าพรรคเศรษฐกิจไทย 18 คน ประกอบด้วย 

 

1.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 2.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 3.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา 4.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 5.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 7.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 8.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 9.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี

 

10.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง (ต่อมาแพ้การเลือกตั้งซ่อม) 11.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 12.น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 13.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา 14.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก 15.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 16.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 17.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น และ 18.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์

 

ขณะที่ อีก 3 ส.ส. ไม่ได้ไปร่วมกับพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ข้ามไปพรรคภูมิใจไทย ก็ คือ สองพ่อลูกช่างเหลา นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น อีกคนคือ นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา

 

เพื่อไทย 

 

1.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อชาติ นั่งแท่นเป็นหัวหน้าพรรค แต่ภายหลังก็ขัดแย้งกัน และเตรียมย้ายค่ายอีกหน 

 

2.นางพรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย 

 

อนาคตใหม่-ก้าวไกล

 

1.น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี ย้ายไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท 

 

2.พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ 

 

3.น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย 

 

4.นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี ย้ายไปสังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท 

 

กลุ่ม ส.ส.งูเห่า-กบฏ ที่ยังไม่ได้ย้ายพรรค 

 

เพื่อไทย 

 

1.นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี 

 

2.นายจาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ 

 

3.นายนายธีระ ไตรสรณกุล ส.ส.ศรีสะเกษ 

 

4.นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก 

 

5.นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ 

 

6.นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส.นครนายก 

 

7.นายสุชาติ ภิญโญ ส.ส.นครราชสีมา

 

**เกือบทั้งหมดมีแนวโน้มย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทย 

 

ก้าวไกล 

 

1.นายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 

 

2.นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

3.นายขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี 

 

4.นายพีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย 

 

5.นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย

 

**ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดมีแนวโน้มย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทย 

 

เศรษฐกิจไทย 

 

1.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 

 

2.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส.อุบลราชธานี  

 

3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส.ตาก  

 

**ทั้งหมดโหวตหนุนแกนนำพรรคภูมิใจไทยในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดว่าย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทย 

 

ประชาธิปัตย์ 

 

นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า อาจย้ายไปพรรคประชาชาติ 

 

กลุ่มนักการเมืองที่ยังไม่ประกาศท่าทีชัด แต่น่าจะย้ายพรรคแน่ 

 

1.นายวีระชัย วีระเมธีกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มีชื่อไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

2.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จากพรรคพลังประชารัฐ ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจ อาจจะไปรับเก้าอี้หัวหน้าทีมคุมพื้นที่ กทม.ให้กับพรรคภูมิใจไทย แทนย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ หรืออยู่กับพรรคไทยสร้างสรรค์ 

 

3.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคพลังประชารัฐ มีข่าวทำพรรคไทยสร้างสรรค์ 

 

4.นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 3 ออกจากพรรคพลังประชารัฐ มีข่าวกำลังทำพรรคไทยสร้างสรรค์ 

 

5.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย มีข่าวกับพรรคไทยสร้างไทย

 

6.นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ไม่มีชื่อลงสมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีข่าวกับพรรคไทยสร้างไทย 

 

7.นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย มีข่าวกับพรรคไทยสร้างไทย

 

รอวันป่าช้าแตก 

 

สำหรับ ส.ส. ซึ่งมีสถานะ "งูเห่า" ทั้งที่เปิดตัว และซุ่มซ่อน รวมถึงรอวันฟักไข่ หรือพรรคไม่ยอมขับออก เพื่อหวังผลทางการเมืองนั้น จะมีช่วงที่เรียกว่า "ป่าช้าแตก" คือ 180 วันสุดท้ายของอายุสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็คือนับจากราวๆ วันที่ 24 ก.ย.65 เป็นต้นไป ช่วงเวลา 6 เดือนนี้ หากตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง ไม่ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม 

 

ทั้งนี้ ถือเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 ประกอบมาตรา 105 กล่าว คือ

 

มาตรา 100  สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง (ฉะนั้นวาระของสภาชุดนี้ และสมาชิกภาพ ส.ส.ชุดปัจจุบัน จะอยู่ถึงวันที่ 24 มี.ค. 66) 

 

มาตรา 105 เมื่อตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่างลง เพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 

(1) ในกรณีที่เป็นตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน...

 

ดังนั้น หากนับจากวันที่ 24 ก.ย. 65 คอการเมืองจึงเรียกว่าช่วง "ป่าช้าแตก" เพราะจะมี ส.ส. งูเห่า เริ่มเลื้อยเพ่นพ่าน ยื่นลาออกจากพรรคเก่า เพื่อไปสังกัดพรรคใหม่ เพราะไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม รวมถึงไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าใข้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งแทน กกต. ซึ่ง ส.ส.ที่ย้ายพรรค แม้จะสิ้นสมาชิกภาพ แต่ก็สามารถไปเปิดตัวขึ้นป้ายกับพรรคใหม่ เพื่อสร้างการจดจำกับพี่น้องชาวประชาได้

 

logoline