svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ส่องสองมุมมอง "ช่องแคบไต้หวัน"ระอุ ชนวนเหตุสงครามหรือไม่(มีคลิป)

04 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องสองมุมมอง "รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์"และ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล  ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านรายการ"คมชัดลึก" วิเคราะห์สถานการณ์ ภายหลังแนนซี่ เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐเยือนไต้หวัน สร้างความขุ่นเคืองให้จีน จากนี้ ช่องแคบไต้หวันระอุหรือไม่

 

รายการคมชัดลึก เนชั่นทีวี  ตอน "ช่องแคบไต้หวันระอุ ชนวนสงคราม?" ผู้ดำเนินรายการ วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ร่วมสนทนา  รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์  นักวิชาการอิสระศึกษา ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล  ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

จีน-ไต้หวัน-สหรัฐ สงครามยั่วยุ ละครฉากใหญ่


รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กล่าวว่า สงครามยั่วยุ ที่เกิดขึ้นในช่องแคบไต้หวัน ที่มีจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เป็นเสมือนการเล่นละครฉากใหญ่ ที่จีนกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตัวแทนของไต้หวัน โดยทั้งสองฝ่ายแสดงบทบาทเพราะความจำเป็นของนโยบายด้านต่างประเทศที่มีผลประโยชน์แห่งชาติกำกับจึงต้องเล่นบทบาทให้แรง แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็รู้ดีว่า หากเกิดสงครามก็จะพังทั้งคู่  จึงคาดว่าไม่น่าจะเกิดเป็นสงครามใหญ่ ยกเว้นสงครามเล็กๆที่ติดกับพรมแดน  

 

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์  นักวิชาการอิสระศึกษา ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง

 

แต่ในโลกนี้ก็ไม่มีอะไร ร้อยเปอร์เซ็นต์ สงครามอาจเกิดขึ้นได้หากมีอุบัติเหตุ ซึ่งโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะท่าทีของจีนที่แสดงการเคลื่อนไหว ประกาศว่าจะทำการซ้อมรบใกล้กับไต้หวัน ถือเป็นการขู่ว่าสหรัฐอเมริกากำลังล้ำเส้นอยู่ใกล้ไฟแดง หากจะก่อให้เกิดสงครามจริงก็ไม่จำเป็นต้องข่มขู่   

 

ที่ผ่านมา จีนก็แค่แสดงท่าที ทั้งการส่งเครื่องบินรบบินผ่าน หรือออกข่าวว่ามีการยิงในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งก็ไม่มีเหตุการณ์ขึ้นจริง รวมถึงสหรัฐอเมริกา หลีกเลี่ยงที่จะให้เกิดความรุนแรง ซึ่งเส้นทางที่ นางแนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐ มาที่ไต้หวัน ดังนั้นทั้งสองฝ่ายก็พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า โอกาสเกิดสงครามจึงน้อยมาก 

 

เทียบ รัสเซีย-ยูเครน ถ้าจีนบุกไต้หวัน


รศ.ดร.สมชาย กล่าวถึง การเดินทางของนางแนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐ ถือเป็นการปรามจีนไม่ให้ก่อเหตุเหมือนที่ รัสเซียบุกยูเครน และส่งสัญญาณท้าทาย ด้วยการส่งตัวตัวแทนส.ส.ไปเยือนไต้หวันก่อนหน้านี้  

 

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กำลังขยายความยิ่งใหญ่ให้จีน ผ่านนโยบายที่เข้มข้น และตึงเครียดเน้นความยิ่งใหญ่แต่เป็นภัยคุกคาม  ขณะที่สหรัฐอเมริกา ส่งสัญญาณไม่ให้จีนดำเนินการกับไต้หวัน เหมือนเช่นที่ รัสเซีย ทำกับยูเครน  การแสดงให้โลกเห็นว่า สหรัฐฯ ยังมีเขี้ยวเล็บ
 

นอกจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน เล่นการเมืองแบบมีชั้นเชิงเชิงจังหวะที่ถูกประเมินว่า สหรัฐอเมริกา อยู่ในช่วงขาลง แต่สหรัฐอเมริกา เปลี่ยนท่าทีเป็นแข็งกร้าว และไม่สนใจคำข่มขู่ของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีน ที่เคยพูดกับ ประธานาธิบดี โจ ไบ เดน  ของสหรัฐอเมริกา  ถึงนโยบาย "จีนเดียว" และขอให้สหรัฐอเมริกาอย่าสนับสนุนไต้หวัน เพราะจะเหมือนการเล่นกับไฟ และแสดงแสนยานุภาพทางอาวุธของจีน ก่อนที่ นางแนนซี เพโลซี จะเดินทางมา แต่สหรัฐอเมริกา กลับเป็นเสี้ยนหนามกับจีน  เพราะนาง แนนซี เพโลซี เดินทางมาถึงไต้หวัน 
     

แต่สงครามไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ หากจีนจะบุกไต้หวัน ก็ต้องมีต้นทุนสูง เพราะไต้หวันมีพันธมิตรทั้งสหรัฐอเมริกา และกลุ่มเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิก การประกาศสงครามด้วยอาจเป็นเรื่องไม่คุ้มค่า ไม่เหมือนรัสเซียที่มีผู้นำอย่าง วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่กำหนดทิศทางที่แข็งแกร่ง และประเมินว่า การบุกยูเครน ในวันที่นาโต้ ไม่สามารถตั้งตัวป้องกันได้ทัน รัสเซียจะมีความได้เปรียบ แต่สงครามก็ยังไม่สิ้นสุด 

 

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล  ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ระวังอุบัติเหตุ ชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 


"รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล" ที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   มองว่า การเดินทางมาของ นางแนนซี เพโลซี หวังเป็นการยั่วยุ  หรือภาษานักเลง คือต้องการ "กวนตีน" จีน ซึ่งสหรัฐทำมาโดยตลอด ตั้งแต่หลังสงครามเย็น และเพื่อเป็นการปราม "จีน" ที่พยายามแสดงตนเองเป็นประเทศมหาอำนาจใหม่  ซึ่งเป็นการท้าทายสหรัฐอเมริกามาตลอดและสหรัฐอเมริกาก็ไม่ต้องการให้เกิดมหาอำนาจหลายขั้ว  

 

การยั่วยุแบบนี้เทียบเคียงรัสเซียบุกยูเครน 

 

วราวิทย์ ถาม การยั่วยุจะช่วยยุติแนวคิดบุกไต้หวัน เหมือนยูเครนแห่งเอเชีย จีนจะต้องจับสัญญาณนี้อย่างไร 

 

"รศ.วรศักดิ์"  จีนมีจุดยืนชัดเจนในการใช้กำลังกับไต้หวัน และต้องการรวมแบบสันติ แต่ก็ไม่ละเลยที่จะใช้กำลังโดยมีเงื่อนไข 3 ประการ กรณีไต้หวันประกาศเอกราช จีนจะใช้กำลังทันที กรณีที่สอง เมื่อมีประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซงการรวมชาติ  กรณีที่สาม เมื่อไต้หวัน หน่วงเหนี่ยวการเจรจารวมชาติ เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา ผู้นำของไต้หวัน ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ถ้าเป็นพรรคการเมืองนี้จะมีจุดยืนความเป็นอิสระสูง ตรงข้ามกับพรรคก๊กมินตั๋ง ที่มีจุดยืนรวมชาติกับจีน ซึ่งหากความสัมพันธ์จีนและไต้หวันไปมาหาสู่กันได้จีนก็ไม่ได้เร่งรัดเรื่องการรวมชาติ ทำมาค้าขายกันได้ และติดต่อสื่อสาระหว่างกันได้ มาตราการตอบโต้คือการแบนสินค้ากับไต้หวัน 

 

"วราวิทย์" ถามว่า โอกาสจะเป็นสงคราม หรือแค่สงครามน้ำลาย การซ้อมรบเท่านั้น 


"รศ.วรศักดิ์" มองว่า หากความสัมพันธ์ยุติแค่การมาเยือนของ นาง แนนซี เพโลซี  ก็ไม่น่าจะขยายเป็นสงครามเพราะจีนก็ตระหนักดี จากกรณีสงครามรัสเซีย - ยูเครน ก็ไม่ได้สนับสนุนหรือต่อต้านเพราะจีนก็เข้าใจ แต่หากต้องขยายไปสู่การใช้กำลังถือเป็นเรื่องน่ากลัว ที่ต้องระวังสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะรัสเซียประกาศชัดเจนว่าจะอยู่ข้างจีนกรณีไต้หวัน

 

รับชมคลิป>>>

 

logoline