svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"พีระพันธุ์"ลุยปลดล็อก3ปัญหาจี้กรมประมงบรรเทาเดือดร้อนผู้ประกอบการ

27 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พีระพันธ์ุ"ลงพื้นที่ชลบุรีเร่งปลดล็อกแก้ปัญหากลุ่มประมงแสมสาร หลังร้องเรียน 3 ประเด็น เพื่อกลับมาหาปลาได้ปกติ พร้อมขอกรมประมงดูเจตนา ม.57 และขอดูรายละเอียดแรงงานต่างด้าว ก่อนถกหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ผู้ประกอบการเดินหน้าธุรกิจได้ง่ายขึ้น ชี้นายกฯ เป็นห่วงทุกฝ่าย

27 กรกฎาคม 2565 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาของประชาชน ที่ได้ยื่นร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านสายด่วน 1111 ของรัฐบาล 2 กรณี ได้แก่ กลุ่มชาวประมงร้องเรียนขอความช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการกระทำผิดกฎหมายของ "นายหน้า" หลอกจัดทำเอกสารประจำตัวสำหรับแรงงานต่างด้าว หรือ Seabook ปลอม จนทำให้ถูกระงับการออกเรือหาปลา และปัญหาด้านการประมงอื่นๆ และชายพิการร้องเรียนถูก ก.อุตสาหกรรม เลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม 

 

 

โดยช่วงเช้าได้เดินทางไปยังท่าเรือแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมง นำโดยนายธนกร ถาวรชินโชติ นายกสมาคมประมงแสมสาร และนายณัฐพงศ์ วรรณพัฒน์ ประมงจังหวัดชลบุรี รายงานข้อมูลรายละเอียด ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2565 หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลอ่างศิลา (ชลบุรี) ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจปราบปราม และควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย บริเวณอ่าวแสมสาร

 

ทั้งนี้ พบว่ามีการใช้เอกสารปลอมของแรงงานประมงต่างด้าว ซึ่งเป็นการกระทำผิดพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 83 ฐานความผิด เป็นเจ้าของเรือใช้แรงงานต่างด้าวทำงานบนเรือโดยไม่มีหนังสือคนประจำเรือ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเสียค่าปรับไม่ต่ำกว่า 1,600,000 บาท และยังมีความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอมด้วย ซึ่งได้มีการดำเนินคดี โดยจะไม่สามารถทำการประมงในรอบถัดไปเป็นเวลา 5 ปี  

 

แต่ต่อมาได้มีการยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม และตรวจสอบจนพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการประมงเป็นเหยื่อที่ถูกกระทำจริง ทำให้สามารถนำเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องมายื่นคำขอเพื่อทำหนังสือคนประจำเรือใหม่ได้อีกครั้ง และออกเรือได้ปกติแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังคงมีเรืออีก 9 ลำที่ยังถูกกรมประมงออกคำสั่งห้ามออกเรือ ทั้งที่พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องเจ้าของเรือทั้ง 9 ลำ ทำให้ปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ซึ่งเรื่องนี้ผู้ร้องเรียนทั้งหมดต้องการขอเป็นธรรมให้ช่วยพิจารณาหาทางช่วยเหลือ 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากทราบรายละเอียด ตนได้สอบถามความคืบหน้าจากประมงจังหวัดเกี่ยวกับการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ยังติดอยู่ที่เรื่องของขั้นตอนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งขั้นตอนการพิจารณาของอัยการสูงสุด แผนกการค้ามนุษย์ที่ยังรอผู้มีอำนาจลงนาม ขณะที่ในส่วนของกรมประมงทราบว่ายังอยู่ที่ขั้นตอนการลงนามของอธิบดีกรมประมงเช่นกัน ซึ่งก็จะได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเรือประมงทั้งหมดสามารถนำเรือออกไปทำมาหากินได้

 

ทั้งนี้ ในส่วนของประเด็นปัญหาอื่นๆ เช่น เอกสารเพื่อขอทำงานของแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่สามารถต่ออายุ หรือ ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทำให้ยังค้างคาอยู่ ทราบว่ายังติดอยู่ที่ขั้นตอนของการออกประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี และ กระทรวงมหาดไทย ตนได้ขอให้กลุ่มประมงผู้เดือดร้อนจัดทำรายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นลายลักษณ์อักษรมาเพื่อที่จะได้นำไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป

 

สำหรับประเด็นปัญหาเรื่องขอความช่วยเหลือในเรื่องของกฎหมายการห้ามจัดสัตว์น้ำขนาดเล็กตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 นั้น ต้องมองที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดความถูกต้องยุติธรรม ในกรณีนี้คือต้องการควบคุมดูแลพันธุ์สัตว์น้ำไม่ให้ถูกจับขึ้นมาเพื่อจะได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ต่อไป เป็นเจตนารมณ์ที่ดี ดังนั้น จึงต้องตีความอย่างเข้าใจ ทั้งผู้บังคับใช้และผู้อยู่ใต้กฎหมายเพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ที่แท้จริงของสังคมโดยรวม อย่างไรก็ตามรับจะนำไปหาแนวทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในการใช้กฎหมายเพื่อการอยู่ร่วมกันไม่ให้เกิดปัญหา

 

"ทุกข์ของพวกเราผมทราบว่ามีปัญหาเยอะ และท่านนายกฯเป็นห่วง เดี๋ยวผมจะนำไปรายงานให้ท่านทราบ และอยากให้ชาวประมงเห็นใจหน่วยงานรัฐด้วยเพราะเขาก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย ในส่วนของปัญหาต่างๆ ก็จะรับไปหาแนวทางแก้ไขตามที่ได้รับข้อมูลมาในวันนี้" นายพีระพันธุ์กล่าว 

 

 

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการประมง กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการ อยากขอบคุณนายพีระพันธุ์ที่ลงมาช่วยแก้ปัญหา ดีใจที่มีผู้ใหญ่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงมาช่วยรับฟังความเดือดร้อนของชาวประมงโดยไม่ได้มองชาวประมงเป็นผู้ร้าย เพราะแท้จริงแล้วพวกตนเป็นผู้เสียหายที่เดือดร้อนในขณะนี้ อยากฝากว่าตอนนี้เพราะกฎเกณฑ์ของกฎหมายบางข้อที่ไม่เป็นธรรมกับชาวประมง ทำให้อาชีพชาวประมงเกือบสูญสิ้นแล้ว มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ได้จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับฟังจากชาวประมงจริงๆ เหมือนวันนี้ที่นายพีระพันธุ์และคณะลงมาด้วยตัวเองทำให้กลุ่มชาวประมงมีความหวังขึ้นมาได้ว่าปัญหาความเดือดร้อนจะได้รับการแก้ไขในไม่ช้า 

 

ต่อมานายพีระพันธุ์ และคณะทำงานได้เดินทางไปยัง บริษัทพรีแม็กช์ อิเล็กทรอนิกส์ จ.ชลบุรี เพื่อรับตัว นายเอกชัย ชาญประโคน อายุ 36 ปี  ซึ่งเป็นผู้พิการแขน-ขาซีกขวาอ่อนแรง ที่ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมเนื่องจากถูกเลิกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่นักวิชาการอุตสาหกรรม กลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคล แผนกกฎหมาย กระทรวงอุตสาหกรรม ที่นายพีระพันธ์ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือ โดยประสานการเคหะแห่งชาติ ขอให้ช่วยเหลือนายเอกชัยเข้าทำงานที่มีความมั่นคงและมีสวัสดิการ รวมทั้งการทำงานที่เหมาะสมกับวุฒิการศึกษา ป.ตรี และสภาพร่างกาย

 

"ทราบว่าช่วงระหว่างนั้น เขาได้พยายามหางานทำแต่ก็ไม่มีใครรับ อาจจะเห็นเป็นคนพิการ กระทั่ง 10 กค.65 ได้ทำงานที่บริษัทพรีแม็กช์ อิเล็กทรอนิกส์ จ.ชลบุรี เป็น รปภ.คอยสแกนบัตรพนักงานเข้าออกสำนักงาน ซึ่งผมเห็นว่าควรพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับเขาให้รายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว และวันนี้ผมมีโอกาสที่ จ.ชลบุรี ก็ถือโอกาสรับเขา ไปทำงานบริษัทของการเคหะแห่งชาติตามที่ประสานงานไว้ด้วย" นายพีระพันธุ์ 

logoline