svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เครือข่ายวิชาการ แถลงความสำเร็จ "เสียงประชาชน"ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

25 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปริญญา"ปลื้มโครงการ"เสียงประชาชน"ลงมติไม่ไว้วางใจรมต. เป้าหมายเกินคาด อุบตอบโครงการต่อไป เผย มีไอเดียแล้ว ด้าน"พิชาย รัตนดิรก ณ ภูเก็ต" เปรียบ สภาล้าหลัง ประชาชนก้าวหน้า หนีไม่พ้น การเมืองแบบลิงกินกล้วย

ที่อาคารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) เครือข่ายนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 

เครือข่ายวิชาการ แถลงความสำเร็จ "เสียงประชาชน"ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ร่วมแถลงสรุปภาพรวมหลังร่วมสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล 4 ช่อง ได้แก่ เนชั่น ,ไทยรัฐทีวี ,ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี จัดทำโครงการ  "เสียงประชาชนลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจรัฐบาล" เปิดให้ประชาชนได้ลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทางออนไลน์ คู่ขนานกับการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.65 เวลา 18.00 น. ถึงวันที่ 23 ก.ค.65 เวลา 11.00 น. 

 

โดย"ผศ.ดร.ปริญญา" ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเสียงประชาชน กล่าวถึงเจตนารมณ์ของการจัดทำโครงการดังกล่าว คือเพื่อต้องการส่งเสริมประชาธิปไตยให้เสียงประชาชนดังขึ้น ซึ่งกิจกรรมในลักษณะนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ประชาชนทุกคน ทุกฝ่าย ที่มีโทรศัพท์มือถือสามารถเข้าร่วมได้อย่างสะดวกโดยการโหวตผ่านแพลตฟอร์ม  ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว

 

 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

"ผศ.ดร.ปริญญา" ได้สรุปตัวเลขประชาชนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ปรากฏมีมากถึง 524,806 โหวต จากที่ตั้งเป้าเพียงแค่ 1 แสนโหวต ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ยอมรับว่าคงพูดไม่ได้ว่าในผลโหวตทั้งหมดนี้มาจากจำนวนประชาชนคนละ 1 เสียง เพราะประชาชน 1 คนอาจมีโทรศัพท์มือถือหลายเครื่อง ฉะนั้นคนเดียวอาจโหวตได้หลายครั้ง วันนี้เป็นเพียงก้าวแรก ต่อไปจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ดีกว่านี้ ตั้งเป้า 1 โหวตต่อ 1 คน แต่เบื้องต้นจากการตรวจสอบไม่พบข้อมูลประชาชนโหวตซ้ำกัน

 

อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนทั้ง 4 ช่อง (เนชั่น-ไทยรัฐทีวี-ข่าวเวิร์คพอยท์-พีพีทีวี) ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และยังร่วมตั้งข้อสังเกตว่าผลลงมติของประชาชนคนไทยทั่วโลกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับผลในสภาผู้แทนราษฎร ชี้ชัดว่ามีปัจจัยเรื่องการเจรจาต่อรองเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ผลลงมติของรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ประชาชนลงมติไม่ไว้วางใจมาเป็นอันดับที่ 1 แต่ในสภากลับได้เสียงไว้วางใจมากที่สุด ซึ่งมันสวนทางกัน 

 

 

 

 

เครือข่ายวิชาการ แถลงความสำเร็จ "เสียงประชาชน"ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ขณะที่ รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ ชี้ว่าผลการลงมติจากเสียงของประชาชนเหมือนเป็นการพัฒนาของประชาธิปไตย มีคนหลายช่วงวัยตื่นตัวกับเรื่องการเมืองมากขึ้น เชื่อว่าการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแบบนี้ จะทำให้ประเทศมีโอกาสมากขึ้น แม้เป็นเพียงครั้งแรกแต่จากตัวเลขพบมีคนให้ความสนใจมาก ทั้งที่เริ่มดำเนินโครงการได้ไม่นาน ก่อนตั้งข้อสังเกตว่าตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปในสภานั้น ทำงานเพื่อประชาชนจริงหรือไม่ หลังผลลงมติออกมาแตกต่างกันกับสิ่งที่ประชาชนสะท้อน

 

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ด้าน ผศ.วันวิชิต วิเคราะห์ผลลงมติ โดยมองเหมือนเป็นตลกร้ายที่ประชาชนโหวตอย่างหนึ่ง แต่ในสภาฯกลับโหวตอีกอย่างหนึ่ง เชื่อว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือเป็นความสัมพันธ์เชิงไขว้ทางการเมือง คือนักการเมืองบางพรรคไปโหวตให้อีกฝ่าย เหตุอนาคตอาจย้ายไปอยู่ด้วย แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือคนส่วนใหญ่ในประเทศคงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ขอบคุณเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ร่วมจัดโครงการนี้ เป็นนิมิตรหมายที่ดี และถือเป็นความกล้าหาญของผู้จัดที่อยากฟังเสียงสะท้อนของคนในประเทศกลับไปยังผู้มีอำนาจที่ควรต้องรู้สึกละอายบ้าง ก่อนเล่าย้อนไปถึงวันอภิปราย การตอบคำถามของคณะรัฐมนตรีก็ไม่ชัดเจน รวมถึงมีการบูลลี่ด้อยค่าผู้อภิปรายอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

 

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 

รศ.ดร.พิชาย กล่าวภาพรวมใน 2 ประเด็นใหญ่ คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในครั้งนี้ จะถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ระบอบประชาธิปไตย // การมีส่วนร่วมของประชาชนในครั้งนี้ถือตรงตามเจตจำนงของประชาชนเอง ว่าเห็นควรคิดเห็นอย่างไรต่อคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งผลต่างๆออกมา มองมีความหวังทุกคนตื่นรู้มากขึ้น

 

รศ.ดร.พิชาย ยังร่วมวิเคราะห์ผลลงมติ พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “สภาล้าหลัง แต่ประชาชนก้าวหน้า” และยังได้ตำหนิวิธีการโหวตในสภาที่เน้นพวกพ้อง ผลประโยชน์ กำหนดทิศทางได้ล่วงหน้าไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย หรือเรียกว่า "การเมืองแบบลิงกินกล้วย" 

 

ผศ.ดร.ปริญญา ยังทิ้งท้ายยืนยันว่าโครงการนี้ไม่ใช่การสุ่มตัวอย่าง แต่เป็นความสมัครใจของประชาชนทุกคน และผลที่เห็นมันจะทำให้ "ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลาน"

 

ส่วนโครงการต่อไปนั้น ผศ.ดร.ปริญญา ขอยังไม่เปิดเผย แต่ยอมรับมีไอเดียแล้ว ซึ่งคาดหวังจะชักชวนผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งภาคนักวิชาการ และภาคสื่อมวลชนให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาตอบสนองประชาชนอย่างครอบคลุม

logoline