เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
23 กรกฎาคม 2565 โควิดวันนี้ สถานการณ์ “โอมิครอน” ยังคงระบาดหนัก และเกิดผลข้างเคียง ภาวะ Long COVID ล่าสุด “หมอธีระ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” เปิดผบการศึกษา ภาวะ Long COVID ในเด็กที่น่ากังวล โดยมีโอกาสเกิดสูงเกือบ 10% และมีอาการมากกว่า 4 อาการ พร้อมข้อแนะนำในการดูแลเด็ก มีรายละเอียดดังนี้
อัปเดต Long COVID ในเด็ก
Funk AL และคณะจาก 8 ประเทศทั่วโลก ได้ทำการติดตามศึกษาเรื่อง Long COVID ในผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 1,884 คน ในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา อิตาลี สิงคโปร์ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย จอร์เจีย และนิวซีแลนด์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ระดับสากล JAMA Network Open เมื่อวานนี้ 22 กรกฎาคม 2565
สาระสำคัญที่รายงานคือ ในภาพรวม เด็กที่ติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จะประสบปัญหา Long COVID ราว 5.8% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 4.8%-7.0%)
แต่หากติดเชื้อแล้วต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะมีโอกาสเกิดปัญหา Long COVID สูงขึ้นเป็น 9.8% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 7.4%-13.0%)
ทั้งนี้หากติดเชื้อ แต่อาการเล็กน้อย โดยไม่ต้องเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล จะมีโอกาสเกิด Long COVID เป็น 4.6% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 3.6%-5.8%)
ปัจจัยที่จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะ Long COVID มากขึ้น ได้แก่ การป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป, มีอาการตั้งแต่ 4 อย่างขึ้นไป, และอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไป
ผลจากการวิจัยนี้ ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของภาวะ Long COVID ในเด็กมากขึ้น แม้โอกาสเกิด Long COVID จะน้อยกว่าผู้ใหญ่หากเทียบกันเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่หากดูสถานการณ์จริงที่มีเด็กติดเชื้อจำนวนมากมาย เมื่อคิดเป็นจำนวนเด็กที่จะต้องประสบปัญหาอาการผิดปกติระยะยาว ก็จะมีจำนวนมาก
ภาวะ Long COVID จะกระทบต่อร่างกาย และจิตใจของเด็ก บั่นทอนคุณภาพชีวิต รวมถึงสมรรถนะการใช้ชีวิตและการเรียนของเด็ก คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู คงต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อท่ามกลางสถานการณ์ระบาดในประเทศที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และรีบตรวจรักษา
หมอธีระ ย้ำว่า พาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีน เพื่อลดโอกาสป่วยรุนแรง เสียชีวิต และลดความเสี่ยงที่จะเป็น Long COVID ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้าน และโรงเรียน ให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี และสอนให้เด็กๆ มีความรู้ และทักษะในการดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อ เหนืออื่นใด
"การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเป็นหัวใจสำคัญที่จะลดความเสี่ยงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด"
อ้างอิง
Funk AL et al. Post–COVID-19 Conditions Among Children 90 Days After SARS-CoV-2 Infection. JAMA Network Open. 22 July 2022.