svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอเฉลิมชัยย้ำข่าวดี คลินิกทั่วไทย สามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้แล้ว

22 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอเฉลิมชัย รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข เผยข่าวดี! คลินิกทั่วไทยจ่ายยา "โมลนูพิราเวียร์" ได้แล้ว เงื่อนไขยังไง อ่านเลยตรงนี้มีคำตอบ หมอเฉลิมชัยเผยสบส. ร่วม อย. ในการเข้าถึงยาต้านไวรัสได้สะดวกขึ้น

รายงานความคืบหน้าทางการแพทย์ที่น่าสนใจ

ล่าสุดทางด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ หรือ หมอเฉลิมชัย รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

หมอเฉลิมชัยย้ำข่าวดี คลินิกทั่วไทย สามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้แล้ว

ข่าวดี !! คลินิกกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ สามารถจ่ายยาต้านไวรัส Molnupiravir (โมลนูพิราเวียร์) ได้แล้ว ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

 

จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าวันละ 20,000 ราย แม้จะเป็นผู้ที่มีอาการจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นจำนวนน้อย

 

แต่ก็มีผู้ติดเชื้อกลุ่มเสี่ยงที่เริ่มต้นด้วยอาการน้อย แต่อาจจะพัฒนาจนป่วยหนักได้ ทำให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส เช่น Molnupiravir

แต่ในปัจจุบันนี้ ผู้ติดเชื้อจะต้องไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น

 

ทำให้เกิดความไม่สะดวก เพราะเมื่อตรวจรักษาและรับยาเสร็จแล้ว ก็กลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน ไม่ได้นอนโรงพยาบาล

 

ขณะนี้ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผล ในการเข้าถึงยาต้านไวรัสได้สะดวกขึ้นในระดับคลินิกดังนี้

 

  • อย.จะออกประกาศให้มีการกระจายยาต้านไวรัสลงไปในระดับคลินิกได้
  • คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ จะมีประกาศออกมา ซึ่งสบส.จะแจ้งคลินิกทั่วประเทศให้ทราบถึงประกาศดังกล่าว
  • คลินิกต่างๆ จะสามารถสั่งซื้อยาต้านไวรัส Molnupiravir ผ่านทางองค์การเภสัชกรรม หรือบริษัทเอกชน ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 3 แห่ง
  • จะยังไม่ขยายการจำหน่ายยาดังกล่าวไปที่ร้านขายยา ทั้งนี้เนื่องจากว่า ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทุกรายจะต้องใช้ยาต้านไวรัส จำเป็นที่จะต้องให้แพทย์สั่งตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

หมอเฉลิมชัยย้ำข่าวดี คลินิกทั่วไทย สามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้แล้ว

โดยผู้ที่จะได้รับยาต้านไวรัสคือ ผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการปานกลางขึ้นไป หรือมีเอกซเรย์พบปอดอักเสบ

 

แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่ม 608 แม้มีอาการน้อย แต่ถ้ามีความจำเป็น ก็สามารถรับยาต้านไวรัสได้

การที่สามารถไปรับยาได้จากคลินิก เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้ลดความแออัดคับคั่งของการเข้ารับการตรวจรักษาเพื่อรับยาต้านไวรัสดังกล่าวในโรงพยาบาล

 

ส่วนเรื่องราคายา Molnupiravir ที่แตกต่างกันระหว่างของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็เนื่องมาจากนโยบายของบริษัทฯ ที่ผลิตยา

 

กำหนดให้ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางขั้นต่ำ ไม่ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรยา ราคาจึงถูกกว่าประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (ซึ่งรวมประเทศไทย) และประเทศรายได้ขั้นสูง ซึ่งจะมีราคายาสูงกว่าหลายเท่าตัว

 

ในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อยู่ในกลุ่มต้องซื้อยาแพงด้วยกัน

 

ส่วนกัมพูชา ลาว เวียดนาม อยู่ในกลุ่มที่ยามีราคาถูก เช่นเดียวกับอินเดีย และประเทศในทวีปแอฟริกา

 

ขอขอบคุณที่มา blockdit  : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย  
 

หมอเฉลิมชัยย้ำข่าวดี คลินิกทั่วไทย สามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้แล้ว

โดยประเด็นนี้ สอดรับกับเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ทางด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ.ได้ดำเนินการจัดหายาต้านโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน ตามความต้องการของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (PHEOC) เพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 สำหรับการจัดหา “ยาโมนูลพิราเวียร์” (Molnupiravir) จำนวน 5 ล้านแคปซูลนั้น อภ. ได้ส่งมอบแล้วจำนวน 2 ล้านแคปซูล เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 อีกจำนวน 3 ล้านแคปซูล คาดว่าสามารถส่งมอบได้ไม่เกินปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ขณะนี้ดำเนินการจัดหาเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 ล้านแคปซูล

 

“สำหรับการจัดหายา โมลนูพิราเวียร์ อภ.ได้จัดตั้งคณะทำงานพิจารณาการนำเข้ายา โมลนูพิราเวียร์ Molnupiravir 200 mg Capsules เพื่อนำข้อมูลเชิงคุณภาพ มาใช้ในการคัดเลือกแหล่งที่มีคุณภาพจากประเทศอินเดีย หรือประเทศอื่น โดยค่ายาต่อ คอร์สการรักษาไม่เกิน 1,000 บาท (40 เม็ด) ขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น” ภญ.ศิริกุล กล่าว

 
นอกจากนี้ ทาง อภ.ได้ดำเนินการจัดส่ง “ยาฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ตั้งแต่วันที่ 1 -20 กรกฎาคม 2565 แล้วจำนวนประมาณ 10 ล้านเม็ด และดำเนินการทยอยส่งมอบอย่างต่อเนื่องทุกวัน ขณะนี้อภ.เร่งกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดหาเพิ่มเพื่อสำรองไว้กรณีที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (PHEOC) แจ้งความต้องการเพิ่มเติม
อภ.จะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ความต้องการใช้อย่างใกล้ชิด ตามความต้องการของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) โดยอภ.เป็นผู้ดำเนินการจัดส่ง กระจายให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ ทุกวันไม่มีวันหยุด

หมอเฉลิมชัยย้ำข่าวดี คลินิกทั่วไทย สามารถจ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ได้แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

logoline