svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชัยชาญ โต้ ฝ่ายค้าน ตั้งแต่ปี 64 เครื่องบินเมียนมาไม่เคยล้ำน่านฟ้า

22 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชัยชาญ โต้ ฝ่ายค้าน ระบุ เครื่องบินเมียนมาล้ำแดน 230 ครั้ง ฟาด ตั้งแต่ มี.ค.64 - 29 มิ.ย.65 เรดาห์กองทัพอากาศ ตรวจพบ 315 เที่ยวแต่ไม่มีรุกล้ำเลย นอกจากวันที่ 30 มิ.ย. ย้ำ แม่ทัพภาค 3 บินประชุมตามปกติ ยัน กองทัพไม่มีนโยบายไอโอ-สปายแวร์ ที่จะไปกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน

22 กรกฎาคม 2565 พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องเครื่องบินรบ MIG 29 ของเมียนมา รุกล้ำเขตแดนไทย ค่ำวานนี้( 21 ก.ค.) ว่า กรณีที่เกิดขึ้นวันที่ 30 มิถุนายน เวลา 11.16 น. กองทัพอากาศได้ตรวจพบอากาศยานของเมียนมา ซึ่งเป็นเครื่องบินรบ MIG 29 บินห่างจากชายแดนไทย ประมาณ 100 ไมล์ทะเล หรือ 180 กิโลเมตร ศูนย์ยุทธการอากาศได้ทำการพิสูจน์ทราบ เมื่อทราบฝ่ายแล้ว ได้มีการเฝ้าติดตามตลอด เมื่อถึงเวลา 11.48 น. เครื่องบินลำดังกล่าวก็ได้เข้าปฎิบัติการในฝั่งประเทศเมียนมา ตรงข้ามอำเภอพบพระ จังหวัดตาก

 

ตามที่ผู้อภิปรายกล่าวว่าในการปฏิบัติของเมียนมานั้น มีการล้ำแดน 230 ครั้ง ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ถึง 29 มิถุนายน 2565 ก่อนที่เกิดเหตุการณ์ เรดาร์กองทัพอากาศได้ตรวจจับเที่ยวบินของอากาศยานหรือเครื่องบินเมียนมาได้ 315 เที่ยว ซึ่งไม่เคยมีการล้ำเข้ามาในเขตประเทศไทย แต่เมื่อเวลา 10.56 น. เครื่องบินลำดังกล่าว ได้บินล้ำเข้ามา ในฝั่งไทยประมาณ 1 ไมล์ทะเลบริเวณอำเภอพบพระ จังหวัดตาก และมีทิศทางที่จะมุ่งหน้ากลับประเทศ และหายจากจอเรดาร์ไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด โดยการผ่านเข้ามาในประเทศไทย ถือเป็นระยะเวลาอันสั้น

 

กองทัพอากาศได้ยกระดับการพัฒนาประเทศ พร้อมกับตอบโต้ทันที โดยทำการประท้วงผ่านทูตทหารอากาศไทยประจำเมียนมา ขณะเดียวกันกรรมการท้องถิ่นไทย-เมียนมาก็ได้ประท้วงเช่นกัน

 

“ยืนยันว่าการสั่งการนั้น เป็นไปตามการปฎิบัติระดับสากล ตามหลักการทางทหารและการทูต”

ชัยชาญ โต้ ฝ่ายค้าน ตั้งแต่ปี 64 เครื่องบินเมียนมาไม่เคยล้ำน่านฟ้า

ชัยชาญ โต้ ฝ่ายค้าน ตั้งแต่ปี 64 เครื่องบินเมียนมาไม่เคยล้ำน่านฟ้า

ส่วนที่กล่าวว่าก่อนที่จะมีเหตุการณ์นี้ แม่ทัพภาคที่ 3 ได้เดินทางไปประชุมที่สหภาพเมียนมา ขอชี้แจงว่าในการประชุมกับเมียนมานั้น เป็นกลไกความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง 4 ประเทศ ทุกประเทศก็มีเช่นเดียวกัน มีความร่วมมือแบบท้องถิ่นระดับภูมิภาค และระดับกองทัพ โดยมีการผลัดกันเป็นเจ้าภาพ มีแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานฝ่ายไทย ซึ่งการประชุมเป็นเรื่องของความร่วมมือ  การที่จะทำให้ชายแดนมีความมั่นคง  การแก้ปัญหายาเสพติด  การพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกัน การป้องกันการกระทำผิดกฏหมายตามแนวชายแดน รวมถึงเรื่องกลไกความร่วมมือ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ

 

ส่วนกรณีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เกี่ยวกับการบริการข่าวสารและการใช้สปายแวร์ ส่องข้อมูลส่วนบุคคลนั้น กระทรวงกลาโหมไม่ได้มีโยบายไอโอกับกลุ่มบุคคลใดๆ และเน้นย้ำว่าเรื่องของข่าวลวง ข่าวปลอม เฟกนิวส์ มีผลกระทบต่อประชาชนมาก โดยในส่วนของกองทัพ กระทรวงกลาโหม ได้มีการตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในสังกัดกระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงและตอบโต้ป้องกันเพื่อไม่ให้มีผลกระทบ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความมั่นคง และการที่จะทำให้เข้าใจผิด รวมไปถึงเกิดผลกระทบในวงกว้าง

ส่วนเรื่องสปายแวร์ที่มี ส.ส. อภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องของการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้งานทั่วไป หลังจากที่บริษัทได้ตรวจพบว่ามีการติดตั้งสปายแวร์ ที่ประดิษฐ์โดยบริษัทของตนเอง ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย และได้ส่งอีเมล์ แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อให้มีการปรับปรุงปฏิบัติการป้องกัน ซึ่งไม่ได้ส่งให้กับประเทศไทยเท่านั้น มีการส่งไป 45 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการแจ้งเตือนปกติ

 

“ในส่วนของรัฐบาล ขอยืนยันว่าไม่ได้มีนโยบายที่จะใช้สปายแวร์ ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ยืนยันว่าไม่มีนโยบาย ไม่เคยกำหนดที่จะใช้สปายแวร์หรือการข่าวที่จะไปกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไป”

logoline