เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
เมื่อมาส่องดูจำนวนเสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษขณะนี้ อยู่ที่ 476-477 เสียง
เสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่ที่ 238-239 เสียง
เสียงเต็มของรัฐบาล นับรวมพรรคเศรษฐกิจไทยและพรรคเล็กทุกพรรค เดิมอยู่ที่ 269 เสียง
แต่เมื่อตัด วัฒนา สิทธิวัง ซึ่งแพ้เลือกตั้งซ่อม จ.ลำปาง (ก่อนหน้านี้นับเป็น ส.ส.เพราะยังแค่หยุดปฏิบัติหน้าที่) ทำให้เหลือเสียงรัฐบาล 268 เสียง
เสียงเต็มของรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งอยู่ราวๆ 29-30 เสียง
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 วรรค 4 บัญญัติว่า...
"มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร"
ดังนั้น การอภิปรายครั้งนี้เป็นการอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
ฉะนั้นรัฐมนตรีคนใดที่โดนลงมติไม่ไว้วางใจด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 239 เสียง ต้องพ้นจากตำแหน่ง
***ส่วนเสียงไว้วางใจน้อยหรือมาก ไม่เกี่ยวในทางกฎหมาย แต่จะมีผลเชิงจิตวิทยาในแง่ที่ว่า คือ หากใครได้เสียงไม่ไว้วางใจไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่เสียงไว้วางใจต่ำมาก แม้ไม่หลุดจากตำแหน่ง แต่จะเป็นแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องปรับพ้น ครม.
และหากรัฐมนตรีโดนไม่ไว้วางใจคราวละหลายๆ คน นายกรัฐมนตรีอาจถูกเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่กำกับดูแลรัฐมนตรี และเลือกรัฐมนตรีเข้ามาทำหน้าที่ อาจถูกเรียกร้องให้ลาออกแสดงความรับผิดชอบ
สำหรับความเป็นไปได้ที่รัฐมนตรีบางคน หรือหลายๆ คนจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนต้องพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ก็มีอยู่เหมือนกัน หลังจากพรรคเศรษฐกิจไทย ประกาศไม่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกต่อไป ซึ่งท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทย ก็สอดประสานกับ พิเชษฐ สถิรชวาล แกนนำกลุ่ม 16 ซึ่งเป็นศูนย์รวม ส.ส.พรรคเล็ก ที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลอยู่ตลอด
ฉะนั้น หาก 2 กลุ่มนี้ ไปโหวตให้ฝ่ายค้าน คือ โหวตไม่ไว้วางใจรัฐบาล ครบทุกเสียง ไม่มีแตกแถว ก็จะมีเสียงประมาณ 30-33 เสียง
และเมื่อจำแนกออกมา เป็นเศรษฐกิจไทย 15 เสียง จากเดิม 16 เสียง หัก วัฒนา สิทธิวัง + กลุ่ม 16 เต็ม 16 เสียง หรือมีเพิ่มเป็น 18 เสียง เพราะเคยคุยว่าเป็นกลุ่ม 16+2
ถ้าเป็นแบบนี้ รัฐมนตรีก็ต้องพ้นเก้าอี้ ยิ่งถ้ามี "งูเห่า" ในรัฐบาลของผู้กองธรรมนัส ตามที่เคยคุยเอาไว้อีก 5-6 เสียง "ฝ่ายแค้น" กลุ่มนี้ ก็จะมีเสียงถึง 39-40 เสียง
ทางรอดทางเดียวของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย คือ "งูเห่า" ของรัฐบาลที่ซุ่มซ่อนอยู่ในฝ่ายค้าน ต้องทำงาน ไม่ว่าจะโหวตสวน หรืองดออกเสียง ก็จะช่วยให้รัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้า รอดชีวิตทางการเมือง โดย "งูเห่า" ของรัฐบาลยังมีอยู่ 9-12 เสียง
ปัญหา คือ เมื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายกระจายกันหลายพรรค แล้วต้องใช้ "งูเห่าข้ามพรรค" จะมีรายการเล่นเกม "หักหลัง" หรือ "หักกล้วย" กันหรือไม่ โดยเฉพาะ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ได้คะแนนน้อยมาตลอดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านๆ มา
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดจากการโหวตญัตติซักฟอก เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2564 รัฐมนตรี 6 คน โดย "เสี่ยเฮ้ง" ได้คะแนนบ๊วย อยู่ที่ 263 เสียง ในขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ เว้นนายกรัฐมนตรี ได้ 267-270 เสียง
ส่วนการโหวตญัตติซักฟอก เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 รัฐมนตรี 10 คน โดย รมว.แรงงาน ได้รองบ๊วย อยู่ที่ 263 เสียง ในขณะที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่ได้คะแนนระหว่าง 268-275 เสียง ยกเว้น "ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" รมว.ศึกษาธิการ ขณะนั้น ที่ได้ตำแหน่งบ๊วย 258 เสียง