svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วราวุธ แสดงจุดยืนมุ่งแก้ไขปัญหาทะเลอย่างยั่งยืน บน เวที UN Ocean Conference

29 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วราวุธ แสดงจุดยืนมุ่งแก้ไขปัญหาทะเลอย่างยั่งยืน บน เวที UN Ocean Conference โดยมุ่งเน้นจัดการ ขยะทะเล แก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล ความเป็นกรดในมหาสมุทร และประมงผิดกฎหมาย

29 มิถุนายน 2565 ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส วานนี้( 28 มิ.ย.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยมหาสมุทร ครั้งที่ 2 หรือ 2022 UN Ocean Conference ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2565

วราวุธ แสดงจุดยืนมุ่งแก้ไขปัญหาทะเลอย่างยั่งยืน บน เวที UN Ocean Conference

พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) นางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐโปรตุเกส นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงฯ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้แทนจากกรมประมง และกรมเจ้าท่า  ภายหลังการเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ในวันนี้(28 มิ.ย.) นายวราวุธ ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงแสดงบทบาทท่าทีของประเทศไทย ตอกย้ำความก้าวหน้าในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยอย่างก้าวกระโดด พร้อมแสดงจุดยืนยกระดับการดำเนินงานเสริมประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในทุกมิติ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 อย่างเป็นรูปธรรม

นายวราวุธ ยังได้เน้นย้ำกับทุกประเทศภาคีสมาชิกฯ ให้ตระหนักถึงประเด็นที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ โดยเรียกร้องให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และให้ความสำคัญกับนโยบายทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการสนับสนุนทางด้านการเงิน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ทั้งยังได้ให้คำมั่นในการดำเนินการจัดการทะเลและมหาสมุทรบนฐานของความเป็นธรรมชาติ (Nature – based) และศักยภาพของระบบนิเวศ เพื่อการจัดการอย่างยั่งยืน

วราวุธ แสดงจุดยืนมุ่งแก้ไขปัญหาทะเลอย่างยั่งยืน บน เวที UN Ocean Conference

โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะทะเล การแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล การจัดการความเป็นกรดในมหาสมุทร และการจัดการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งประเทศไทยมีผลการดำเนินงานค่อนข้างโดดเด่นอย่างมาก และที่สำคัญประเทศไทยยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานประสานทศวรรษแห่งมหาสมุทร จาก UNESCO ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นของนานาประเทศ ถึงความพร้อมของไทยในการเป็นหน่วยประสานและขับเคลื่อนการดำเนินงานในช่วงทศวรรษแห่งมหาสมุทร ในปี ค.ศ. 2021 - 2030

สำหรับการประชุม UN Ocean Conference ในครั้งนี้ มีประเทศภาคีสมาชิกสหประชาชาติเข้าร่วมกว่า 193 ประเทศ ประกอบด้วย องค์กรภาคเอกชนและองค์กรภาครัฐ รวมกว่า 600 องค์กรจากทั่วโลก โดยมีประเทศเคนยาและโปรตุเกสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการประชุมครั้งแรกที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2017 เพื่อกระตุ้นและยกระดับการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของโลกให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

วราวุธ แสดงจุดยืนมุ่งแก้ไขปัญหาทะเลอย่างยั่งยืน บน เวที UN Ocean Conference

ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้ ทุกประเทศภาคีสมาชิกจะได้ร่วมรับรองปฏิญญาทางการเมือง เพื่อการเร่งรัดขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานกลางในการประสานและขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 20 หน่วยงาน โดยได้มีการรายงานผลการดำเนินงาน และพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทางทะเลและชายฝั่ง ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้รัฐบาลรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง

Boyan Slat ผู้ก่อตั้งองค์กร Ocean Clean Up เจ้าของเรือกำจัดขยะพลังแสงอาทิตย์ เก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา

logoline