svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กรณีศึกษา “นิพนธ์” พ้นเก้าอี้ นายกอบจ. “สุนทร” ลอยนวล ?

23 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง กรณี "สุนทร วิลาวัลย์" ยังคงดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี หลังตกเป็นจำเลยคดีบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อมองย้อนเปรียบเทียบกับกรณี "นิพนธ์ บุญญามณี" ก่อนหน้านี้

แม้ว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี จำเลยคดีบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อปี 2545 แต่น่าคิดว่าเหตุใดต้นสังกัดอย่างกระทรวงมหาดไทย จึงยังนิ่งไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับการออกคำสั่งให้ “โกทร” พ้นตำแหน่งนายก อบจ.ปราจีนบุรี

 

ต่างกับกรณีของ นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลทางอาญา เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่สมัยดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา ไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน เป็นเงินกว่า 51,000,000 บาท และไม่เบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับสมาคมกีฬาจังหวัดสงขลาในปีงบประมาณ 2558 และ 2559

 

ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เซ็นคำสั่งให้นายนิพนธ์พ้นจากตำแหน่ง อาศัยอำนาจตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2562 ประกอบมาตรา 98  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
 

กรณีศึกษา “นิพนธ์” พ้นเก้าอี้ นายกอบจ. “สุนทร” ลอยนวล ?

 

สำหรับ พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 79 ระบุว่า ในกรณีที่นายก อบจ. รองนายก อบจ. ประธานสภา อบจ. หรือรองประธานสภา อบจ. ละเลยไม่ปฏิบัติการตามอํานาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะดําเนินการสอบสวนก็ได้ ถ้าหากผลการสอบสวนปรากฏว่ามีพฤติการณ์เช่นนั้นจริงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอให้รัฐมนตรีใช้ดุลพินิจสสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง คําสั่งของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

 

ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ส่วนที่ 2 การดําเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาตรา 98 ระบุไว้ว่า เมื่อผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสํานวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น

 

กรณีศึกษา “นิพนธ์” พ้นเก้าอี้ นายกอบจ. “สุนทร” ลอยนวล ?
 

สำหรับมาตรา 91 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกันให้ดําเนินการดังต่อไปนี้

  • (1) ถ้ามีมูลความผิดทางอาญาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สํานวนการไต่สวนเอกสารหลักฐาน สําเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคําวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดภายใน 30 วัน เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีต่อไป
  • (2) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงาน สํานวนการไต่สวนเอกสารหลักฐาน และคําวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนภายใน 30 วัน เพื่อให้ดําเนินการทางวินัย

 

หากจะนำกรณีศึกษาของนายนิพนธ์ มาเทียบเคียงกับ นายสุนทร โดยยึดตาม พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ พบว่า นักการเมืองทั้งสองรายถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้งคู่ แถมนายสุนทรยังถูกออกหมายจับดำเนินคดีอาญา จึงเป็นเรื่องค่อนข้างผิดสังเกตที่กระทรวงมหาดไทยยังไม่ดำเนินการใดๆ กับนายสุนทร จนถึงทุกวันนี้

 

กรณีศึกษา “นิพนธ์” พ้นเก้าอี้ นายกอบจ. “สุนทร” ลอยนวล ?

logoline