svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กระทรวงเกษตรฯหนุน 'ชุมพรมหานครแห่งทุเรียน'

22 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เริ่มแล้วฤดูกาล “ชุมพรมหานครแห่งทุเรียน” ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรทันสมัย หลังยอดส่งออกพุ่งเมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ตั้งเป้าให้ชุมพรเป็นเมืองผลิตผลไม้ไร้สารเคมีพร้อมส่งออกทุเรียนปลอดสารเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

วานนี้ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดชุมพร ถนนพิศิษฐพยาบาล ตำบลท่าตะเภา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ “ฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลผลไม้ ทุเรียนเมืองชุมพร” ระหว่าง 16 – 26 มิถุนายน 2565 โดยมี นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

 

นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จังหวัดชุมพรเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีผลิตผลด้านเกษตรอุดมสมบูรณ์ ผลิตไม้ผลและไม้ยืนต้นที่สำคัญหลายชนิด มีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ระบบจำนวน 84,859 ไร่ โดยมีทุเรียนหมอนทอง เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร สามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ในปี 2564 รวมมูลค่าได้ถึง 42,643,600,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 37.78 โดยจังหวัดชุมพรมีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 246,580 ไร่ คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1,658 กิโลกรัมต่อไร่ และคาดว่าในปี 2565 จะมีผลผลิตทุเรียนจำนวน กว่า 200,000 ตัน โดยในฤดูกาลนี้ประเทศไทยได้ส่งออกผลไม้ทุเรียนไปประเทศจีนได้แล้ว กว่า 500,000 ตัน ซึ่งเมื่อเทียบในเวลาเดียวกันของปี 2564 จำนวนสูงถึง 68% คิดเป็นยอดจำหน่ายกว่า 150,000 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาทแน่นอนพร้อมส่งเสริมสินค้าเกษตรจังหวัดชุมพร เข้าสู่ตลาดยุโรป เช่น ทุเรียน กาแฟโรบัสต้า นอกจากจะเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดชุมพรด้านการเกษตรทันสมัยและเกษตรมูลค่าเพิ่ม ด้านการท่องเที่ยว ด้านการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร ด้านสังคมและความมั่นคง และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผลไม้เมืองชุมพร และส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นให้แพร่หลายอีกด้วย

กระทรวงเกษตรฯหนุน 'ชุมพรมหานครแห่งทุเรียน'

 ด้าน นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า จังหวัดชุมพรมีรายได้จากภาคการเกษตรคิดเป็น 57% จากรายได้ของจังหวัด รายได้เกินครึ่งมาจากภาคการเกษตร และเฉพาะ 57% นี้มีรายได้จากทุเรียนมากถึง 33% โดย 30% มาจากทุเรียนอย่างเดียวปี ในปีที่แล้วมีผลผลิตทุเรียนกว่า 300,000 ตัน สร้างรายได้กว่า 37,000 ล้านบาท จากทุเรียนอย่างเดียว โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนประมาณ 260,000 ตัน เฉพาะของจังหวัดชุมพรแหล่งเดียว แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ จังหวัดชุมพรเป็นตลาดผลไม้ ทั้งผลิตและส่งออก ทั้งในและต่างประเทศ โดยในปีที่แล้วส่งออกกว่า 600,000 กว่าตัน ดังนั้นผลไม้ในจังหวัดภาคใต้ทั้งหมดโดยเฉพาะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะมาบรรจุและส่งออกที่จังหวัดชุมพร นับเป็นฮับและตลาดผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้

กระทรวงเกษตรฯหนุน 'ชุมพรมหานครแห่งทุเรียน'

กระทรวงเกษตรฯหนุน 'ชุมพรมหานครแห่งทุเรียน'

 ขณะที่ นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า ทุเรียนของจังหวัดชุมพรจัดได้ว่ามีคุณภาพเป็นลำดับต้นของประเทศ และจังหวัดชุมพรก็ยังปลูกทุเรียนมากเป็นลำดับแรกๆ ของประเทศเช่นกัน ดังนั้นในระยะเวลาอีกไม่นานนี้คาดหมายว่าชุมพรจะเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดและมีผลผลิตทุเรียนมากที่สุด โดยสิ่งสำคัญที่ชาวสวนทุเรียนชุมพรเน้นย้ำคือการลดเคมีทุกชนิด ควบคู่กับการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มีการจัดทำแอปพลิเคชันบันทึกประวัติของทุเรียนทุกต้นในแปลงใหญ่ โดยแอปพลิเคชันของชาวสวนจะบันทึกไว้ว่าระยะเวลาตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยว 120 วันเป็นมาตรฐานของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และก้านยาว ความแก่อยู่ที่ 75 ถึง 85% และจะมีเปอร์เซ็นต์แป้งอยู่ที่ 32% สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สามารถควบคุมคุณภาพของทุเรียน และที่สำคัญไปกว่านั้นเกษตรทันสมัยจะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถตรวจย้อนได้ว่าซื้อทุเรียนมาจากที่ไหน เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคด้วย

“งานฤดูกาลท่องเที่ยว เทศกาลผลไม้ ทุเรียนเมืองชุมพร จัดขึ้นระหว่าง 16 - 26 มิถุนายน 2565 ภายในงานมีทั้งการเจรจาซื้อขายผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน นิทรรศการเมืองจำลองขึ้นมา 5 เมือง ทุเรียน ผลไม้ กัญชา กระท่อม และกาแฟ มีนักวิชาการมาคอยให้ความรู้ คำแนะนำให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยงานครั้งนี้ถือเป็นการจัดกิจกรรมซีซั่นสอง ซีซั่นแรกจัดในช่วงสงกรานต์ในงานกระท่อมไทยของดีเมืองชุมพร และต่อไปมีอีกสองซีซั่นรวมเป็นสี่เทศกาลในปีนี้ จึงขอเชิญชวนมาเที่ยวจังหวัดชุมพรกันได้ตลอดทั้งปี” เกษตรจังหวัดชุมพร กล่าวเชิญชวน

logoline