svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ทวี” จี้รื้อโครงสร้างสภานโยบายฯ ปมอุดมศึกษาไทยแพ้เพื่อนบ้าน

29 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อุดมศึกษาไทยแพ้เพื่อนบ้าน “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” จี้รื้อโครงสร้างสภานโยบายฯ หลังมหาวิทยาลัยไทยไม่ติด 1 ใน 500 อันดับของโลก ตามหลังสิงคโปร์-มาเลย์ สะท้อนนโยบายอุดมศึกษาของประเทศ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีวาระรับทราบรายงานการพัฒนาการอุดมศึกษาฯ โดยระบุตอนหนึ่งว่า เนื่องจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ถือว่าเป็นเรื่องของอนาคต ตนได้พูดในสภานี้มาครั้งหนึ่งแล้วว่า ถ้าจะดูอดีตสังคมใดให้ไปดูที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าจะดูปัจจุบันให้ไปดูที่หน่วยปฏิบัติ แต่ถ้าจะดูอนาคตให้ไปดูที่การศึกษาให้ไปดูที่เยาวชนคืออนาคต

 

 

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายที่ชิงออกก่อนที่จะมีสภาผู้แทนราษฎร เราต้องยอมรับว่ากฎหมายที่ออกในยุคที่ผู้นำยึดอำนาจ หรือยุคที่ผู้นำรัฐประหาร จะเป็นกฎหมายที่เป็นลัทธิชาตินิยม ที่แบ่งเขาแบ่งเรา เห็นคนอื่นเป็นฝ่ายตรงข้ามเสมอ

 

จะเห็นได้ว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของอนาคต คณะกรรมการสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ใน 28 คน มีถึง 16 คนอยู่ในคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดนี้เราก็พบว่าบริหารบ้านเมืองสร้างความเหลื่อมล้ำ สร้างความยากจน คุณภาพชีวิตของได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ประธานสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ก็เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯก็เป็นประธานนโยบายทางเศรษฐกิจ เราก็จะเห็นว่า เศรษฐกิจเรายิ่งล้าหลังเมื่อไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ตนจึงมีความรู้สึกเห็นใจต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ท่านที่ท่านถูกเลือกมาจากตัวแทนอธิการบดี

 

“ทวี” จี้รื้อโครงสร้างสภานโยบายฯ ปมอุดมศึกษาไทยแพ้เพื่อนบ้าน

 

ในรายงานนี้ก็มีข้อมูลที่เราจะเห็นได้ว่า ในระดับอุดมศึกษาของเราเมื่อไปเทียบกับอุดมศึกษาของโลกที่มี 1,527 มหาวิทยาลัยนั้น  อันดับ 1 ใน 100 ไม่มีมหาวิทยาลัยของไทยติดอยู่ จะมีแค่ประเทสสิงคโปร์ 2 มหาวิทยาลัย  ถ้า 1 ใน 500 มหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ไม่มี มีแค่ประเทศมาเลเซีย 1 มหาวิทยาลัย  ถ้าตั้งแต่ 500 – 1,000 ของไทยมีอยู่ 4 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยแม้ฟ้าหลวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนมาเลเซียมีถึง 8 มหาวิทยาลัย

 

ข้อมูลนี้ทำให้ไม่มั่นใจว่า คณะกรรมการของสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ แม้จะมีวัตถุประสงค์ถึง 11 ข้อ อยากจะเรียนถามว่า บุคคลที่ทำหน้าที่โดยตำแหน่ง ใน 1 ปีคณะกรรมการประชุมกี่ครั้ง ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่มีรายชื่อมาประชุมด้วยตนเองหรือไม่ และถ้ามีรายละเอียดการประชุมก็อยากจะทราบว่า มีวาระลักษณะอย่างไรบ้าง  เพราะเนื้อหาบางทีรายงานเล็กๆ ยังมีคุณค่ามากกว่ารายการการศึกษาของสภาหลายๆ ฉบับที่เกี่ยวกับการศึกษา

 

หนึ่งในนโยบายที่ตนเห็นและอยากจะช่วยให้สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ลงไปคิด ซึ่งมีอยู่ในรายงานฉบับนี้แล้ว ก็คือการเรียนมหาวิทยาลัยของเยาวชนไทยลดลง เพราะอัตราการเกิดลด แสดงว่าในอนาคตเรื่องการศึกษามหาวิทยาลัยอาจจะต้องเปลี่ยนจากการให้การศึกษาต่อนักศึกษาที่เป็นเยาวชน เปลี่ยนไปสู่บุคคลที่สูงอายุ

 

ที่สำคัญที่รายงานเขียนเอาไว้ คือการลดความเหลื่อมล้ำ ให้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา วันนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งจะมีกฎหมายในหมวดปฏิรูปประเทศ จริงๆ ให้ปฏิรูปกฎหมายให้เสร็จใน 1 ปี และให้มีผลใน 5 ปี แต่วันนี้รัฐธรรมนูญใช้มาครบ 5 ปีเมื่อวันที่ 6 เม.ย.65 มีกฎหมายอีกจำนวนมาก น่าจะหลายสิบหรือเป็นร้อยฉบับที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

 

แม้แต่กฎหมายเรื่องปฏิรูปการศึกษา รัฐธรรมนูญบอกว่าให้เสร็จภายใน 1 ปี โดยให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รัฐธรรมนูญเราเขียนไว้ชัดเจนเลยว่า มาตรา 54 วรรค 6 ผู้ยากไร้ให้มีกองทุน แต่รัฐไปมีกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาที่ได้งบประมาณปีละ 6,000 ล้านบาท กลับใช้เงินทั้งหมดกับคนไม่ยากไร้ ก็คือให้คนเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเอาเงินไป แต่กองทุนนี้ก็เดินเข้าไปหาคนเรียนฟรี แต่คนที่ยากไร้ต้องไปกู้เงิน กู้ กยศ.

 

“ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลคสช.ยังไปออก พ.ร.บ.กยศ. เมื่อปี 610 ให้มีดอกเบี้ยจาก 1 สลึงเป็นร้อยละ 7.5 และเบี้ยปรับอีก 18 เปอร์เซนต์ รวมเป็น 25 เปอร์เซนต์ อันนี้คือมะเร็งร้ายที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ที่สำคัญพอไปดูงบการเงินของ กยศ.จะมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับถึง 20 เปอร์เซนต์ ไปหากินกับคนที่เรียนหนังสือ แสดงว่าท่านไม่ได้ส่งเสริมการศึกษา ผมก็อยากจะฝากทางสภานโยบายการอุดมศึกษาฯ ช่วยเอาข้อมูลว่าสภานี้ทำอะไรกันบ้าง เพราะรายงานเหมือนตัดแปะมาเท่านั้น” พ.ต.อ.ทวี กล่าว

 

logoline