svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตาศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. โค้งสุดท้าย...ใครหลุด!

20 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นอกจากการเมืองภาพใหญ่ที่กำลังเข้าใกล้โค้งสุดท้าย แต่ที่ต้องจับตา คือ โค้งสุดท้าย...ท้ายสุดจริงๆ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพราะเหลือแค่ 2 วันสุดท้าย ซึ่งไม่นับรวมวันหย่อนบัตร 

บรรยากาศตอนนี้ต้องบอกว่า "ฝุ่นตลบ" ตามที่ "ข่าวข้นคนข่าว" คาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่ไก่โห่ ว่าจะมีการโจมตีกันดุเดือด แล้วก็เดือดจริงๆ ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับวาทกรรม 

 

จับตาศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. โค้งสุดท้าย...ใครหลุด!

 

แต่เรื่องที่เกาะติดมาทุกวัน คือ การแย่งคะแนนของฝั่งเดียวกัน และกระแสเทคะแนน "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" ซึ่งเป็นฐานเสียงฝั่งเดียวกันเช่นกัน เพราะฐานเสียง กทม. หรืออาจจะทั้งประเทศไทย เป็นฐานเสียงแบบ "ไม่ข้ามขั้ว - ไม่ข้ามกล่อง" กล่าวคือ สังคมการเมืองไทยแบ่งเป็น 2 ขั้วหลวมๆ คือ "เอาทักษิณ - ไม่เอาทักษิณ" หรืออีกด้าน "เอาทหาร - ไม่เอาทหาร" 

 

สถานการณ์ขณะนี้จึงมีอยู่ 3 เรื่องที่ต้องหาคำตอบ คือ 

 

1.การตัดคะแนนกันเอง จากผู้สมัครฐานเสียงเดียวกัน 

 

กลุ่มที่หนึ่ง ชัชชาติ - วิโรจน์ - ศิธา (เอาทักษิณ หรือไม่เอาทหาร) เรียกรวมๆ ว่าฝั่งเสรีนิยม เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ อาจจะไม่ถูกต้องนัก 

 

กลุ่มที่สอง อัศวิน - สกลธี - ดร.เอ้ - รสนา (ไม่เอาทักษิณ หรือรับได้กับทหาร) เรียกรวมๆ ว่าฝ่ายอนุรักษนิยม เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ 

 

น่าคิดว่าการตัดคะแนนกันเอง กลุ่มไหนหนักกว่ากัน 

2.การโอนคะแนนในกล่องเดียวกัน จะเป็นไปได้หรือไม่ เช่น กลุ่มหนึ่ง ฐานเสียงวิโรจน์เทให้ชัชชาติ จะได้ชนะขาดไปเลย หรือฐานเสียง อัศวิน หรือ สกลธี เทให้อีกคน จะได้สู้ชัชชาติได้ ฯลฯ 

 

3.บทบาทของพรรคเพื่อไทย เล่นหนัก เอาเบอร์ใหญ่มาลุย อย่าง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หรือ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แสดงว่างานนี้เอาจริง และใช้สนาม กทม.ทดลองแลนด์สไลด์ 

 

สมมติฐานที่น่าสนใจ คือ ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ก. เยอะจริง เช่น เกินครึ่ง (26 คนขึ้นไป) จะสรุปได้หรือไม่ว่า คนชอบเพื่อไทย หรือจริงๆ แล้วคนเลือกเพราะสนับสนุนชัชชาติ 

 

อย่าลืมว่า "เนชั่นโพล" เคยทำสำรวจและพบว่า คนในชุมชนต่างๆ ยังเข้าใจว่าชัชชาติสังกัดพรรคเพื่อไทย และบรรดาผู้สมัคร ส.ก.ของเพื่อไทย ก็พูดไปแนวๆ นั้นด้วย 
 

 

 

 


 

เมื่อไปหาคำตอบทั้ง 3 ประเด็น จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ในฐานะนักสังเกตการณ์ทางกาเรมือง 

 

เริ่มด้วย รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

 

ประเด็นที่ 1 การตัดคะแนนกันเอง - อาจเกิดขึ้นได้ เพราะปัจจุบันมีการแบ่งขั้วทางอุดมการณ์อยู่แล้ว แต่มองว่าการตัดคะแนนกันเองจะเทหนักไปทาง "ฝั่งอนุรักษ์นิยม" มากกว่าฝั่ง "เสรีนิยม" เพราะมีตัวผู้สมัครเยอะ โดยเฉพาะแต่ละคน ต่างมีฐานคะแนนเสียงของตัวเอง ดังนั้น จะเกิดการตัดคะแนนกันเองได้มากกว่า 

 

ประเด็นที่ 2 การโอนคะแนน - คงยาก เพราะพรรคก้าวไกลคงไม่เทคะแนนให้อีกฝั่ง หรือแม้แต่ชัชชาติ เพราะถ้าคิดจะเทคะแนน คงไม่ส่งคนลงสมัคร และอีกส่วนมองว่าหัวคะแนน ไม่ได้มีอิทธิพลมากในกรุงเทพฯ ไม่เหมือนกับในต่างจังหวัด จึงมองว่า การเทคะแนนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก

 

ประเด็นที่ 3 การขยับตัวของเพื่อไทย  - อาจต้องการทดสอบเสียงในกรุงเทพฯ หลังพรรคไทยสร้างไทย (กลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์) แตกตัวออกไป 

 

หากเพื่อไทยได้ ส.ก.เยอะจริง ก็ยังสรุปไม่ได้ทั้งหมดว่า คะแนนนิยมของเพื่อไทยยังดี หรือคนชื่นชอบชัชชาติ จึงเทคะแนนให้ เพราะมีหลายตัวแปร เช่น ครั้งนี้เป็นเพียงการเลือกตั้งท้องถิ่น และการเลือก ส.ก. เป็นการเลือกที่ตัวบุคคลเป็นหลัก

 

สำทับด้วย รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นคล้ายๆ กันว่า

 

ประเด็นที่ 1 การตัดคะแนนกันเอง - มองว่าไม่เกิดในฝั่งของชัชชาติ เพราะกระแสดี นำโด่งต่อเนื่อง ขณะที่ผู้สมัครคนอื่นมีขึ้น-ลง จึงไปรวมตัวกันเชิงยุทธศาสตร์ แต่ก็บลัฟกันเอง การตัดคะแนนจึงเป็นการตัดกันเองของคนอื่นที่ไม่ใช่ชัชชาติ

 

ประเด็นที่ 2 การเทคะแนน - วาทกรรม "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" จะไม่เกิดในการเลือกตั้งหนนี้ เพราะปี 56 คู่แข่งชัดเจน "ชายหมู กับ จูดี้" แต่ครั้งนี้ผู้สมัครฝั่ง "อนุรักษนิยม" เยอะ และไม่ได้วางยุทธศาสตร์กันตั้งแต่แรก ทำให้ไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้น การเทคะแนน จึงเป็นแนวทางของผู้เชียร์ แต่ไม่ใช่ของตัวผู้สมัคร 

 

ประเด็นที่ 3 การขยับของพรรคเพื่อไทย - เป็นการเช็กคะแนนนิยมว่าผลเป็นเช่นไร เพื่อจะได้สามารถประเมินถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งหน้า หลังประกาศแลนด์สไลด์ เพราะหากแพ้ใน กทม. ก็จะต้องไปทำการบ้านว่าหมายความว่าอย่างไร เช่น พรรคเพื่อไทยมีปัญหาอะไรกับคน กทม. หรือภาพทรงจำของพรรคเพื่อไทยกับ คนกทม. ไม่ดีอย่างไร จะได้แก้ไขก่อนสู้ศึกเลือกตั้งสนามใหญ่ 

 

สำหรับอีกประเด็นทิ้งท้ายซึ่งเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ 

 

1.ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ คือ ตัวแทนคู่ขัดแย้งทางการเมืองทั้งสิ้น สะท้อนว่าความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่

 

2.คนกทม.ดั้งเดิมที่อยู่ในกลุ่มไม่ตัดสินใจ ประเมินยากมากว่าจะเลือกใคร และถือเป็นตัวแปรสำคัญ ต่างจากกลุ่มนิวโหวตเตอร์ ที่มีผู้สมัครในใจที่เลือกชัดเจน ซึ่งการเมือง กทม. ต่างจากการเมืองต่างจังหวัดที่เป็นระบบอุปถัมภ์ แต่ กทม.เป็นการดูแล ผ่านตัวผู้นำชุมนุม ส.ก. หรือ ส.ข.ในอดีต

logoline