ชาวอเมริกันกำลังเผชิญสถานการณ์ "Bidenflation" ราคาน้ำมันเฉลี่ยต่อแกลลอน (ราว 3.785 ลิตร) อยู่ที่ 4.57 ดอลลาร์ เกือบ 2 เท่าของเดือนสุดท้ายในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อยู่ที่ 2.41 ดอลลาร์ ขณะที่ปั๊มน้ำมันในรัฐวอชิงตัน ดีซี เตรียมปรับโปรแกรมเพื่อรองรับความเป็นไปได้ ที่ราคาจะทะยานขึ้นไปถึงแกลลอนละ 10 ดอลลาร์ ส่วนปั๊มน้ำมันอื่น ๆ อย่างน้อย 10 แห่งในรัฐ ทั้งของ Exxon และ Circle K ติดป้าย "น้ำมันหมด" ขณะที่บางรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย มีรายงานราคาน้ำมันทะยานขึ้นไปถึง 5.98 ดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้
ข่าวนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของ Ipsos poll ที่ชี้ว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่วิตกต่อภาวะเงินเฟ้อมากที่สุด สอดคล้องกับสถานการณ์ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อดัชนีดาวโจนส์ปิดที่ 31,490.07 จุด ร่วงลง 1,164.52 จุด หรือ -3.57%, เมื่อวันวันพุธที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการทรุดตัวแรงที่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 เพราะความกังวลของนักลงทุนที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทค้าปลีกในสหรัฐฯ โดย Target ห้างค้าปลีกชื่อดังที่เอาตัวรอดมาได้ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทั้งยังสวนกระแสด้วยการแจกโบนัสพนักงานในขณะที่ห้างอื่นซบเซา ได้ยอมรับว่ากำไรต่อหุ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงสู่ระดับ 2.19 ดอลลาร์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ คือ 3.07 ดอลลาร์ เพราะผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนเชื้อเพลิง และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทั้งยังต้องปรับลดราคาสินค้าเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดด้วย
ตลาดยังถูกกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ยืนยันว่า ไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเท่าที่จำเป็นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ที่ตอนนี้กำลังสร้างความเดือดร้อนให้ทุกครัวเรือนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ที่ต้องแบกรับราคาอาหารที่พุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาอาหารเดือนเมษายน ปี 2564 ถึงเดือนเมษายน ปี 2565 พบว่า ราคาเบคอน เพิ่มขึ้น 17.7% เนื้อวัว 14.3% ซีเรียล 12.1% ไส้กรอก 13.9% ไข่ 22.6% ไก่ 16.4% ผัก-ผลไม้ 7.8% และนม 14.7%
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบที่ขึ้นไปอยู่ที่ 114.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเมื่อเดือนมกราคม ปี 2564 หรือ เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ราคาน้ำมันทั่วประเทศเฉลี่ยที่ 2.41 ดอลลาร์ แต่บางรัฐต่ำกว่าคือ 2 ดอลลาร์ แต่พอถึงยุคไบเดนราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วอย่างน้อย 27% และขึ้นมาตั้งแต่ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนด้วยซ้ำ
สงครามในยูเครนเพียงแค่ซ้ำเติมที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 8.3% ผู้ใช้รถต้องจ่ายเงินมากกว่า 100 ดอลลาร์ เพื่อเติมน้ำมันให้เต็มถัง สมาคมรถยนต์แห่งอเมริกา หรือ AAA รายงานว่าราคาน้ำมันในรัฐแคลิฟอร์เนีย, วอชิงตัน, เนวาดา และฮาวาย เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ดอลลาร์แล้ว และโอเรกอนก็กำลังตามมาติด ๆ ยิ่งสร้างความวิตกว่าจะทำให้สหรัฐฯ เผชิญวิกฤตพลังงาน เหมือนเมื่อช่วงสงครามหลังทศวรรษที่ 1970
ในช่วงปี 2516 ได้เกิดสงคราม "ยม-คิปปูร์" (Yom Kippur) เมื่อกองกำลังของอาหรับที่โซเวียตสนับสนุนทำสงครามกับอิสราเอลที่สหรัฐฯ หนุนหลัง ทำให้อาหรับที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปก ยุติการซื้อขายน้ำมันดิบกับสหรัฐฯ และชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น แคนาดาและสหราชอาณาจักร และลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง ทำให้ราคาน้ำมันยุคนั้นสูงขึ้น 4 เท่า จาก 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
วิกฤตน้ำมันครั้งนั้นส่งผลให้สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันครั้งใหญ่ ปั๊มน้ำมัน 1 ใน 5 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีน้ำมันบริการลูกค้า ผู้ใช้รถยนต์ที่เลขทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ ต้องเติมน้ำมันในวันเลขคู่เท่านั้น ส่วนที่เหลือเติมน้ำมันได้ในวันเลขคี่ ก่อนที่ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศจะปิดป้าย "เสียใจ น้ำมันหมด" (sorry, no gas)