จากกรณีที่ ชาวบ้านย่าน ใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ถ่ายคลิปตัว "นาก" ขณะกำลังจับฝูง "ปลาหมอคางดำ" กินเป็นอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ทำให้หลายคนมองว่า นากอาจจะเป็นตัวเลือกหนึ่งในการที่จะนำมากำจัดปลาหมอคางดำได้หรือไม่นั้น
25 กรกฎาคม 2567 ทีมข่าว "NationTV" ได้เดินทางไปที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ย่านบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่อีกสถานที่หนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยของนากฝูงหนึ่ง โดยทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้มีการถ่ายภาพใดๆ แต่ให้ผู้สื่อข่าวสามารถเดินเข้าไปดูบรรยากาศได้
จากการสังเกตบริเวณภายในโรงเรียนดังกล่าว ติดกับบึงน้ำขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์ หญ้าขึ้นรกชัดริมตลิ่ง เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆบึงน้ำพบมี "ปลาหมอคางดำ" ว่ายน้ำลอยตัวอยู่ ใกล้กับผิวน้ำจำนวนมาก ทีมข่าวเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง พบที่ผิวน้ำไกลออกไปมีตัวนาก 1 ตัว กำลังดำผุดดำว่าย ไล่ฟัดกับปลาหมอคางดำอย่างสนุกสนาน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระด้านความหลากหลายของสัตว์น้ำในประเทศไทย ถึงกรณีที่นำนากมาช่วยในการกำจัดปลาหมอคางดำนั้น ว่า สำหรับตัวนากนั้นถือว่าเป็นศัตรูตามธรรมชาติของปลาอยู่แล้ว สำหรับพฤติกรรมการกินอาหารของนาก จะชอบจับปลามา แล้วกินในส่วนที่ตนเองชอบเช่นหัวหรือพุง น้อยมากที่จะกินทั้งตัว และนอกจากพฤติกรรมการกินแล้วนากยังชอบจับปลามากัดเล่นอีกด้วย
แต่หากจะนำนากมาเป็นตัวช่วยในการกำจัดปลาหมอดำ ส่วนตัวมองว่าเป็นไปได้น้อยมาก อย่างแรกคือนากเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไม่สามารถเลี้ยง หรือครอบครองได้ และถึงแม้ว่านากจะมีพฤติกรรมการกินอาหารเฉพาะส่วน การกินมื้อหนึ่งต้องฆ่าปลาหลายตัว หรือมีพฤติกรรมการเล่นกับอาหารก็ตาม แต่ถ้าเทียบกับการเกิดของปลาหมอคางดำ ยังต่างกันค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ นากที่จะล่าปลา หรือจะจับปลามาฆ่าเล่น ก็จะเป็นนากที่ค่อนข้างโตแล้ว มีความสามารถในการล่าอาหารได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ลูกนากตัวเล็กๆ ที่ยังต้องอาศัยพ่อแม่อยู่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากในการที่จะนำตัวนากมาช่วยในการกำจัดปลาหมอคางดำ
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : ธิติ วรรณมณฑา ช่างภาพ NationPhoto