เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
11 พ.ค.65 นับเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เมื่อ"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit) ครั้งที่ 2 โดยนายกฯและคณะได้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเวลา 07.00 น. ของวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดนายกฯเปิดเผยเตรียมใช้เวทีประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ประกาศตอกย้ำ"เปิดประเทศ"อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยการเดินทางเยือนสหรัฐผ่านเพจ ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ถึงวัตถุประสงค์การเดินทางครั้งนี้ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ ที่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2520 และได้ยกระดับเป็น "หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์" เมื่อปี 2558 โดยทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมืออย่างครอบคลุมทั้ง 3 เสาของประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนการ บูรณาการและการพัฒนา ในภูมิภาคให้ก้าวหน้า
ทั้งนี้สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นอันดับ 2 และเป็นแหล่งเงินทุนอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่ความสำคัญของอาเซียนเอง ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมเป็นเงินมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศในภูมิภาคกว่า 91 ล้านโดส
นอกจากกรอบการประชุมอาเซียน-สหรัฐฯ ดังกล่าวแล้ว การเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ ยังเป็นโอกาสสำคัญอีกอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
1. การพบหารือกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงของสหรัฐฯ ทั้งประธานาธิบดีและผู้แทนระดับสูงอื่นๆ เพื่อผลักดันความร่วมมือการขับเคลื่อนการฟื้นฟู และการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค ตลอดจนขับเคลื่อนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 ของไทย ที่นำเสนอโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสามารถทำอย่างต่อเนื่อง ช่วงวาระการเป็นเจ้าภาพของสหรัฐฯ ในปี 2023 อีกด้วย ซึ่งในข้อนี้เป็นวาระของเอเปค ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปัจจุบัน
2. การพบปะสร้างความเชื่อมั่นกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ถึงความพร้อมของไทย ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเราพร้อมเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในข้อนี้ เป็นวาระของประเทศไทยต่อเวทีโลก ในเรื่องขยายความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตามแผนยุทธศาสตร์ของไทย
3. และที่สำคัญคือ การที่ผมจะได้มีโอกาสย้ำต่อผู้นำประเทศชั้นนำของโลก ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่การ "เปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ" สำหรับทั้งการเดินทางมาท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ ประชุม การแพทย์ หรืออื่นๆ ในแบบ Next Normal ที่ไทยเป็นต้นแบบระดับโลก จากความสำเร็จในการจัดการควบคุมสถานการณ์โควิดได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากเราได้คลายล็อกระบบ "เทสต์แอนด์โก" ตั้งแต่ 1 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางหลั่งไหลเข้าประเทศไทยแล้ว มากกว่า 3 แสนคน ในช่วงสัปดาห์เดียว และคาดการณ์ว่าช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. 65 ก็จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเดือนละ 3 แสนคน ซึ่งเป็นไปได้ว่าช่วง High Season ปลายปีนี้ เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เดินทางมาเยือนบ้านเรา ประมาณไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ล้านคน
การมาเยือนสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ จึงมิได้มีนัยยะเพียงแค่การประชุมเท่านั้น แต่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ในการเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศไทยอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับอาเซียน และประชาคมโลก เป็นก้าวสำคัญของไทยในการที่จะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในยุคหลังโควิด-19 ซึ่งผมจะได้แถลงถึงความสำเร็จของการเดินทางในครั้งนี้ให้พี่น้องประชาชนทราบเมื่อกลับถึงประเทศไทยครับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 65 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการขอความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ
สาระสำคัญของเรื่อง 1. กต. รายงานว่า สหรัฐอเมริกา จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ ระหว่างวันที่ 12 - 13 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และจะมีการรับรอง (adopt) ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ
2. ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างอาเซียน - สหรัฐอเมริกา ในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเน้นย้ำประเด็นสำคัญ ได้แก่ การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการฟื้นตัวร่วมกัน การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งกว่าเดิม การส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล การเสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับประชาชน การส่งเสริมการพัฒนาในอนุภูมิภาค การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและการส่งเสริมนวัตกรรม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือและประสานงานในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ที่น่าสนใจ ครม.ยังได้มีมติเห็นชอบ ร่างผนวกการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรื่อง การตรวจจับจากระยะไกลสำหรับการป้องกันพื้นที่รอบฐานทัพระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา
สาระสำคัญ ของเรื่อง 1. กห. และกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันจัดทำร่างผนวกการแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ เพื่อใช้เป็นเอกสารสำหรับกำหนดแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยระหว่างโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราชกับโรงเรียนนายเรืออากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางของกรอบความตกลงฯ ซึ่งได้ลงนามไปแล้ว ( 14 กรกฎาคม 2561) โดยร่างผนวกการแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาอันเป็นความสนใจร่วมกันในด้านที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้จากระยะไกลและการประมวลผลสัญญาณ (remote sensing and signal processing)
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมภายหลังมีการทาบทามเจรจากันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2564 ซึ่งเชื่อมั่นว่า การเดินทางครั้งนี้ จักเป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและสหรัฐฯ ได้ร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – สหรัฐฯ ผู้นำจะได้พบหารือ (in-person) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ในอนาคต
การเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ มี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมเดินทางด้วย
โดยในวันที่ 12 พ.ค. 65 นายกรัฐมนตรีจะมีกำหนดการสำคัญ ได้แก่ ผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำอาเซียน ผู้นำอาเซียนพบหารือกับผู้แทนนักธุรกิจสหรัฐฯ ณ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำอาเซียน ณ ทำเนียบขาว