svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"หมอประสิทธิ์" ย้ำไทยยังไม่เข้าสู่"โรคประจำถิ่น"

25 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ขาลง เนื่องจากปัจจัยการฉีดวัคซีนและด้วยตัวเชื้อไวรัสเอง ขณะเดียวกันในเวลานี้ไทยยังไม่เหมาะเข้าสู่โรคประจำท้องถิ่น เพราะยังเสี่ยงอาจกลับมาแพร่ระบาดใหม่ได้อีก

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด19ทั่วโลกว่า จากข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกมีการอัพเดทเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมาว่า การจัดแบ่งสายพันธุ์โควิด19 เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงให้กับประชาชนทั่วโลก ปัจจุบันเหลือเพียง 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์เดลต้ากับสายพันธุ์โอมิครอน

 

ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้าถูกสายพันธุ์โอมิครอนทดแทนรวมถึงในประเทศไทย สำหรับสายพันธุ์โอมิครอนครอบคลุมถึงสายพันธุ์ย่อย BA1 BA2 BA3 BA4 BA5  รวมไปถึงสายพันธุ์ที่ไขว้กันหรือสายพันธุ์ผสม โดยในขณะนี้โควิด19 คือสายพันธุ์โอมิครอนเป็นหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยสายพันธุ์ไวรัสกับประชาชนที่ได้ฉีดวัคซีน ส่งผลทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลง 

 

หากดูสถานการณ์ของโลกเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 6 ล้านคน ขณะเดียวกันจำนวนผู้เสียชีวิตสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขจากกราฟแสดงให้เห็นว่าต่ำสุดตั้งแต่โควิด19 เริ่มมีการระบาดเมื่อปี2563  จำนวนการเสียชีวิตลดน้อยลง ซึ่งเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ปัยจัยแรกสายพันธุ์ตัวไวรัสเอง และปัจจัยที่ 2 โรคมีการฉีดวัคซีนมากจำนวนหนึ่ง จนทำให้การป้องกันความรุนแรงและการเสียชีวิตลดลง

 

นอกจากนี้ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ ยังระบุถึงสถานการณ์โควิด19 ของแต่ละภูมิภาคต่างๆว่า ทวีปยุโรปถูกโควิด19 จู่โจมรุนแรงที่สุด รองลงมาคือประเทศสหรัฐอเมริกา เซาท์อีส เอเชีย แต่ปัจจุบันตัวเลขลดน้อยลง แนวโน้มเข้าสู่ขาลง

 

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากหลักล้านคน เหลือ 5-6 แสนราย และขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีน 11,544,346,261 โดส  สหรัฐอเมริกา ตัวเลขลดลงจากวันละเป็นแสนราย ขณะนี้ขาลงเหลือ 4-5 หมื่นคนต่อวัน  ,ราชอาณาจักร ฉีดวัคซีนแล้ว 141,874,281โดส ฉีดวันละ 31,140 โดส เข็มกระตุ้น 60 เปอร์เซ็น ,เยอรมัน เริ่มลดลงแต่ยังไม่ดีเท่าไหร่ ฉีดวัคซีนแล้ว 172,624,102 โดส ฉีดวันละ 19,973 โดส ได้รับฉีดเข็มกระตุ้นเฉลี่ย 207.6 โดสต่อประชากร 100 คน ,ฝรั่งเศสฉีดวัคซีนแล้ว 155,294,157โดส  , ญี่ปุ่น มีผู้สูงวัยมาก ติดเชื้อวันละ 5 หมื่นกว่าคน อัตราการเสียชีวิตลดลง รัฐบาลเน้นการฉีดวัคซีน ซึ่งฉีดวัคซีนไปแล้ว 267,390,282 โดส  ,

 

เกาหลีใต้ ฉีดวัคซีนแล้ว 122,618,596 โดส ถือว่ามีการฉีดวัคซีนให้ประชากรค่อนข้างมาก ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ , ส่วนเวียดนาม ประชากรติดเชื้อน้อยลง น้อยกว่าประเทศไทย ฉีดวัคซีนแล้ว 208,224,568 โดส  , มาเลเซีย ฉีดวัคซีนแล้ว 69,872,350 โดส การติดเชื้อต่อวันและเสียชีวิตน้อยลง  , ขณะที่สิงคโปร์ สถานการณ์ดีขึ้น ติดเชื้อ 2-3 พันต่อวัน บางวันไม่มีผู้เสียชีวิต , ออสเตรเลีย รัฐบาลมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมาเจอสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้ผู้ติดเชื้อยังอยู่หลักหมื่นรายต่อวัน

 

ส่วนประเทศไทย ประชากรฉีดวัคซีนแล้ว 132,564,621 โดส ฉีดวันละ 284,911 โดส แต่ฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 ยังน้อยอยู่ การเสียชีวิตยังเป็นเลข 3 หลัก ผู้ป่วยปอดอักเสบลดน้อยลง เริ่มเป็นสัญญาณที่ดี

อย่างไรก็ตาม คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังระบุถึงโรคประจำท้องถิ่นว่า  การเกิดขึ้นของสายพันธุ์โอมิครอนอย่างรวดเร็ว และแพร่พันธุ์เร็วแต่ความรุนแรงยังน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า สิ่งที่เกิดขึ้นจะไปทดแทนสายพันธุ์เดิม เป็นปัจจัยทำให้โอมิครอนจึงจะกลายเป็นโรคประจำท้องถิ่น

 

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาทุกคนอยากเห็นปลายทางของการแพร่ระบาด แต่การจะเป็นโรคประจำท้องถิ่น ตนขอย้ำว่า ไม่ใช่โรคที่ไม่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต อย่างโรคไข้ป่ายังคร่าชีวิตคนปีละ 4 แสนราย ซึ่งในเวลานี้การติดเชื้อยังไม่เข้าข่ายเป็นโรคประจำท้องถิ่นและโควิด19อาจกลับมาแพร่ระบาดใหม่ได้อีก

 

"ช่วงเวลานี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลายประเทศยังต้องสู้รบตบมือ การส่งเสริมเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อนำเงินเข้าประเทศ ถือเป็นความเสี่ยงที่โควิดอาจกลับมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยง โดยการเน้นการป้องกันกับการรักษา หากติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงถือเป็นเรื่องที่ดี การฉีดวัคซีนดีที่สุด คือการฉีด 2 เข็มหลัก และการฉีดเข็มกระตุ้นเข็ม 3 "นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว

 

ทั้งนี้การรักษาโควิด19 ในปัจจุบันไม่เน้นการรักษาในโรงพยาบาล เพราะอาการไม่รุนแรง ยกเว้นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรักษาที่โรงพยาบาล เช่น กลุ่ม608 และคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมไปถึงคนที่ยังไม่ฉีดเข็มกระตุ้น และเกิน 3 เดือนขึ้นไป โดยคนไทยที่ยังไม่ฉีดวัคซีนมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน และมี 10 เปอร์เซ็นที่ฉีดเพียงเข็มเดียว ซึ่งคนเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงอยู่

 

นอกจากนี้การติดเชื้อโควิด19 มีโอกาสที่แต่ละประเทศจะประกาศเป็นโรคประจำท้องถิ่นตามที่องค์การอนามัยโลกระบุ ขึ้นอยู่กับปัจจัยการฉีดวัคซีนและการป้องกัน โดยก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนว่า ยังไม่ถึงเวลาการเข้าสู่การเป็นโรคประจำท้องถิ่น และอาจจะเกิดการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดได้อีก

 

ดังนั้นโรคประจำท้องถิ่นขึ้นอยู่กับ 3 หน่วยงานคือ ผู้กำหนดมาตรการและนโยบาย ,ผู้ดำเนินการตามมาตรการและนโยบาย ,ผู้ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย

 

หากสรุปโดยรวมสถานการณ์ทั่วโลกบ่งชี้ไปในลักษณะว่า โลกกำลังเข้าสู่ปลายทางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 เกณฑ์ในการกำหนดให้โควิด19 เป็นโรคประจำท้องถิ่นในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน แต่ความสำเร็จจำต้องอาศัยความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือฝ่ายที่กำหนดมารการและนโยบาย ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการและนโยบาย และฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการและนโยบาย

 

ปัจจัยสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้คือการฉีดวัคซีน 2 เข็มหลัก และเข็มกระตุ้นในเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลสุขภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะช่วยกันป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อ ใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นทำความสะอาดมือ  และตรวจATKเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

 

ส่วนการยกเลิกเทสแอนโก ควรมีเงื่อนไข โดยจะไม่เทสสำหรับคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว และต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและไม่เกิน3เดือน แต่ถ้าฉีดวัคซีนไม่ครบและเกิน 3 เดือนจะถูกตรวจและควอรันทีน   ถ้ารัฐบาลดำเนินการตามนี้และดำเนินการอย่างเข้มงวดก็จะควบคุมอยู่

 

อัตราการติดเชื้อในประเทศไทยตอนนี้ ถ้าดูจากข้อมูลชาวต่างชาติ ที่เข้ามาและติดเชื้อการกระจายน้อยกว่าคนไทยที่ติดเชื้อกันเองในครอบครัว สังคมไทยส่วนใหญ่ติดในครอบครัวและที่ทำงาน ถ้านำ 2 ปัจจัยนี้มาประกอบ เทสแอนด์โกทำได้ แต่ต้องยึดในหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน และเดือน 1 ก็จะเห็นผลว่าเป็นอย่างไร 
 

logoline