svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ส่องมุมมองก่อนสู่สมรภูมิชี้ชะตา"นายกฯประยุทธ์" อยู่ครบวาระ 8 ปี หรือไม่(1)

24 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มรสุมทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญ ภายหลังการเปิดประชุมสภา 23 พ.ค.นี้ ไม่ใช่แค่การฝ่าญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น แต่ระหว่างทางจะมีการยื่นศาลรธน.วินิจฉัยการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง"นายกฯประยุทธ์ "ครบ 8 ปี ไปแล้วหรือไม่

 

หมายเหตุ -  ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  และ อาจารย์ธนันท์ เศรษฐพันธ์ นักวิชาการอิสระ ได้มีการทำข้อเสนอเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ไว้อย่างน่าสนใจ "เนชั่นทีวี"ออนไลน์  จึงขอนำเสนอในตอนแรก 
 

ข้อเสนอเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"
 

ส่องมุมมองก่อนสู่สมรภูมิชี้ชะตา"นายกฯประยุทธ์" อยู่ครบวาระ 8 ปี หรือไม่(1)

มาตรา ๑๕๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

 

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙

 

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

 

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๖๐)

 

ตอนที่ ๑ การนับระยะเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรก

 

การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชานั้น มีความเห็นเป็น ๓ ทาง

 

ความเห็นแรก ให้เริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ความเห็นนี้พิจารณาว่า ถ้อยคำในมาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง ที่ว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้…" นั้น คำว่า "เป็น...ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” มีความหมายว่า ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ และได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกด้วย นอกจากนั้น ความเป็นนายกรัฐมนตรีเริ่มตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งดังนั้นความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามมาตรา ๒๖๔ จึงต้องนับตั้งแต่ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ จะนับเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้

 

ผู้เสนอความเห็นนี้บางท่านยังอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่า ต้องการป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง ถึงได้บัญญัติให้บุคคลหนึ่ง ๆ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน ๘ ปีไม่ว่าจะต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม จึงควรจะนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งการเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ และตามรัฐธรรมนูญฉบับปี๒๕๖๐

 

ส่องมุมมองก่อนสู่สมรภูมิชี้ชะตา"นายกฯประยุทธ์" อยู่ครบวาระ 8 ปี หรือไม่(1)

 

การเริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นมา

 

ความเห็นที่สอง ให้เริ่มนับตั้งแต ่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ความเห็นนี้  พิจารณาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เหมือนอย่างความเห็นแรก แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ย่อมถือเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ มีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ พ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย และการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ เป็นการดำรงตำแหน่งใหม่ การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจึงต้องนับเมื่อได้ดำรงตำแหน่งใหม่ ไม่รวมการดำรงตำแหน่งก่อนหน้า

 

นอกจากนั้น ผู้เสนอความเห็นนี้บางท่านยังอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้วินิจฉัยบทบัญญัตินี้ว่า "...ถือเป็นการดำรงตำแหน่งใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้..." มีความหมายว่า ได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญก่อนหน้า แล้วมาดำรงตำแหน่งใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำวินิจฉัยที่อ้างถึง เช่น คำวินิจฉัยที่ ๑๐/๒๕๔๓ คำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๔๔ และคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๖๑ 

 

การเริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ หรือวันได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรก เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐

 

ความเห็นที่สาม ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้รับพระบรมราชโองการแต ่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ความเห็นนี้พิจารณาว่า มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง กล่าวคือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมือง และได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีระหว่าง ๕ ปีแรกนับจาก สมาชิกรัฐสภาชุดแรกเข้าทำหน้าที่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาด้วย มาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ไม่ได้ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗

 

การเริ่มนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องเริ่มนับตั้งแต ่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒

 

เพื่อจะได้เข้าใจช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ชัดเจนขึ้น ขอทบทวนการดำรงตำแหน่งสักเล็กน้อย เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้า ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินสำเร็จวันเดียวกันนั้น มี ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่องการสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วมี ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑/๒๕๕๗ เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการยกเลิกประกาศฯ ฉบับที่ ๕ แล้วใช้ข้อความใหม่ ซึ่งเปลี่ยนจากการให้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ "...สิ้นสุดลงชั่วคราว เว้นหมวด ๒..." เป็น "...สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด ๒…" และมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐/๒๕๕๗ เรื่องให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

พอถึงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ แล้วในวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็น นายกรัฐมนตรี 

 

ส่องมุมมองก่อนสู่สมรภูมิชี้ชะตา"นายกฯประยุทธ์" อยู่ครบวาระ 8 ปี หรือไม่(1)

 

ถึงวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๒๖๔ บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ต่อมาภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒

 

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แบ่งได้เป็น ๓ ช่วง 

 

ช่วงแรก นับแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ถึงวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐

 

ช่วงที่สอง หรือ ในวาระเริ่มแรก นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงเมื่อ "คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่" การเข้ารับหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีกระทำโดยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่ และคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับหน้าที่เมื่อวันที่๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ จึงนับระยะเวลาในช่วงที่สองนี้ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ถึงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒

 

ช่วงที่สาม นับแต่วันได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา

 

การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาจะต้องนับช่วงที่สามแน่นอน ปัญหาอยู่ที่ว่า จะนับการดำรงตำแหน่งช่วงที่สองหรือในวาระเริ่มแรกรวมไปใน ๘ ปีด้วยหรือไม่ ถ้าไม่นับ การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชาก็เป็นไปตามความเห็นที่สาม แต่ถ้านับ จะมีปัญหาต่อว่า แล้วนับการดำรงตำแหน่งช่วงแรก
ด้วยหรือไม่ ถ้าไม่นับ ก็เป็นไปตามความเห็นที่สอง แต่ถ้านับก็เป็นไปตามความเห็นแรก 

 

หรืออาจเป็นอีกอย่างว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘วรรคสี่ นั้น นับเฉพาะการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ คือในวาระเริ่มแรกกับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก แต่การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรก ให้เริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

 

ส่องมุมมองก่อนสู่สมรภูมิชี้ชะตา"นายกฯประยุทธ์" อยู่ครบวาระ 8 ปี หรือไม่(1)

 

ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ด้วย

 

การจะไขปัญหาเรื่องจะนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรก รวมไปในการระยะเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ หรือไม่ จะต้องพิจารณามาตรา ๒๖๔ ก่อน 

 

มาตรา ๒๖๔ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา ๒๖๓ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม 

 

รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช๒๕๕๗ แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๖๐ ยกเว้น (๖) เฉพาะในส ่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) (๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๗๐ ยกเว้น (๓) และ (๔) แต่ในกรณีตาม (๔) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒)(๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และยกเว้นมาตรา ๑๗๐ (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑)

 

การดำเนินการแต่งตั้งรัฐมนตรีในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๕๘ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๙ แต ่ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสองด้วย

ให้นำความในมาตรา ๒๖๓ วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งและวรรคสามด้วยโดยอนุโลม

 

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ได้ชี้แจง ความมุ่งหมายไว้ใน ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ว่า "กำหนดให้คณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องมีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการอันเป็นกรณีที่ใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะ"

 

วรรคแรก บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ มาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ วรรคสองกำหนด ๒ เรื่อง คือเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี กับเรื่องความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงหรือการพ้นจากตำแหน่งเฉพาะตัว วรรคสาม กำหนดการแต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นใหม่เมื่อจำเป็น และวรรคสี่ การลงสมัครรับเลือกตั้งหลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี 

 

ส่วนที่เกี่ยวกับปัญหาในที่นี้คือ การพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯอธิบายไว้ว่า

 

 ...ความว่า "ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๗๐ ยกเว้น (๓)และ (๔) แต่ในกรณีตาม (๔) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒)(๑๓) (๑๔) และ (๑๕) และยกเว้นมาตรา ๑๗๐ (๕) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑)" หมายถึง ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อตาย หรือลาออก ตามมาตรา ๑๗๐ ยกเว้น


- สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ (มาจากมาตรา ๑๗๐ (๓))


- ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ (มาจากมาตรา ๑๗๐ (๔)) แต่ในกรณีตามอนุมาตรา (๔) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา ๙๘ (๑๒) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง (๑๓) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (๑๔)เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี การเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และ (๑๕) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

 

- และยกเว้นกรณีมาตรา ๑๗๐ (๕) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๘๖ หรือมาตรา ๑๘๗ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา ๑๘๔ (๑) โดยให้นำหลักการข้อยกเว้นให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสามารถดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งไม่ใช่ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการดำรงตำแหน ่งในฐานะส ่วนตัว เช ่น การดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น มาบัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้แก่
คณะรัฐมนตรีด้วย

 

ส่องมุมมองก่อนสู่สมรภูมิชี้ชะตา"นายกฯประยุทธ์" อยู่ครบวาระ 8 ปี หรือไม่(1)

การพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกนี้ ให้เป็นไปตามมาตรา ๑๗๐ ว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว แต่ให้ยกเว้น (๓) (๔) และ (๕) สำหรับ (๔) และ (๕) มียกเว้นเป็นบางประการ ที่เหลือยังคงใช้บังคับ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ลองดูบทบัญญัติของมาตรา ๑๗๐ 

 

มาตรา ๑๗๐ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ

(๑) ตาย

(๒) ลาออก

(๓) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐

(๕) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๑๘๖ หรือมาตรา๑๘๗

(๖) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา๑๗๑

 

นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ด้วย

 

ให้นำความในมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (๒) (๔) หรือ (๕) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย


บทบัญญัติส่วนที่รัฐธรรมนูญยกเว้นไม่ใช้บังคับกับรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกนั้น อยู่ในวรรคหนึ่ง ดังกล่าวมาแล้ว ส่วนบทบัญญัติวรรคสอง และวรรคสาม ไม่ได้ยกเว้น จึงคงใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรก


วรรคสอง บัญญัติให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่หรือ"นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"

 

จึงชัดเจนอยู่แล้วว่า มาตรา ๒๖๔ บัญญัติให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกรวมไปในการนับระยะเวลาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ด้วย

นอกจากนั้น ถ้อยคำตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ บ่งบอกสถานะของนายกรัฐมนตรีไว้ ๒ กรณี

 

กรณีแรกเป็นการดำรงตำแหน่ง กับอีกกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง มาตรา๒๖๔ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" คำว่า "เป็น...ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ย่อมหมายถึงการดำรงตำแหน่ง มิใช่การอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง จึงต้องนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนี้รวมไปใน ๘ ปี
 

สรุปแล้ว การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ นอกจากจะต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งภายหลังการเลือกทั่วไปครั้งแรกแล้ว จะต้องนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกด้วย

 

ยังต้องไขปัญหาต่ออีกว่า แล้วจะนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ ด้วยหรือไม่  

 

...ติดตามตอนต่อไป...

logoline