svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นพ.ธีระ ชี้ เลิกตรวจ RT-PCR ลดวันกักตัวและโรคประจำถิ่น จะเกิดอะไรขึ้น?

21 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การยกเลิกการตรวจ RT-PCR และลดวันกักตัว จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคม นพ.ธีระ วิเคราะห์ให้แล้ว รวมถึง โรคประจำถิ่น ไม่ใช่คำที่ควรใช้ทำแคมเปญ ให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เป็นโรคธรรมดา ไม่น่ากลัว

21 เมษายน 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ระบุ โรคประจำถิ่น ไม่ใช่คำที่ควรใช้ทำแคมเปญ พร้อมวิเคราะห์ ถ้อยคำของผู้บริหาร ต่อข้อเสนอในการยกเลิกการตรวจ RT-PCR โดยข้อความระบุว่า 

นพ.ธีระ ชี้ เลิกตรวจ RT-PCR ลดวันกักตัวและโรคประจำถิ่น จะเกิดอะไรขึ้น?

"...พยายามจะทำทุกสิ่งเพื่อผ่อนคลายมาตรการ ให้ประชาชนมีความสะดวกที่สุด บนพื้นฐานของความปลอดภัยมากที่สุด โดยจะเสนอเรื่องของการปรับการตรวจหาเชื้อในผู้เดินทางเข้าประเทศไทย จากที่เคยกำหนดให้ตรวจ RT-PCR ก็จะปรับมาเป็นการตรวจด้วย ATK  ส่วนเสนอเรื่องการลดวันกักตัวกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงให้ลดน้อยลงนั้น เห็นว่าการกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง 5-7 วันก็น่าจะมีเหตุผลเพียงพอ..."(คลิกอ่านรายละเอียด)

 

1. "สะดวกที่สุด ปลอดภัยมากที่สุด"

ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะด้วยความรู้วิชาการปัจจุบัน ความปลอดภัยกับความสะดวกนั้นแปรผกผันกันในยุคโรคระบาด ยิ่งเสรีการใช้ชีวิต ความเสี่ยงจากพฤติกรรม กิจกรรม สถานที่ และสภาพแวดล้อมยิ่งสูงขึ้น

2. "ปรับการตรวจหาเชื้อในผู้เดินทางเข้าประเทศไทย จากที่เคยกำหนดให้ตรวจ RT-PCR ก็จะปรับมาเป็นการตรวจด้วย ATK"

ด้วยความรู้ทางการแพทย์ที่มี ชัดเจนว่าวิธีมาตรฐานอย่าง RT-PCR มีความแม่นยำสูงกว่า ATK

ดังนั้นการเปลี่ยนมาใช้แค่ ATK โอกาสพลาดย่อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดผลลบปลอม คือ ติดเชื้อแต่ตรวจได้ผลลบ

นพ.ธีระ ชี้ เลิกตรวจ RT-PCR ลดวันกักตัวและโรคประจำถิ่น จะเกิดอะไรขึ้น?

 

การอ้างว่า ในประเทศติดเชื้อมากอยู่แล้ว ดังนั้นเอาเข้ามาจากต่างประเทศยังไงก็จำนวนน้อยกว่านั้น เป็นข้ออ้างแบบข้างๆ คูๆ เพราะโดยแท้จริงนั้น ความเสี่ยงต่อการนำเข้าสายพันธุ์ใหม่ก็ย่อมมีมากขึ้น หากระบบการตรวจคัดกรองไม่รัดกุม และสายพันธุ์ใหม่เหล่านั้น อาจนำไปสู่การระบาดในประเทศที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม ดังที่เรามีประสบการณ์ตั้งแต่ระลอกสายพันธุ์ G, อัลฟ่า เดลต้า และ Omicron

3. "เสนอเรื่องการลดวันกักตัวกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงให้ลดน้อยลงนั้น เห็นว่าการกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูง 5-7 วันก็น่าจะมีเหตุผลเพียงพอ"

เอาเหตุผลมาเล่าให้ทุกคนในสังคมฟังสิครับว่า อะไรคือ เหตุผล?

หลักฐานวิชาการแพทย์นั้นชัดเจนว่า ยิ่งลดวันกักตัวลง ความเสี่ยงยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าย้อนแย้งกันอย่างที่สุด

ทั้งเรื่องวิธีการตรวจที่แม่นยำน้อยลง โอกาสหลุดมากขึ้น และจำนวนวันกักตัวที่ลดลง โอกาสหลุดมากขึ้น ย่อมทำให้เกิดความสะดวกของคนเดินทาง แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดนั้น ทุกคนในสังคมกลับต้องแบกรับความเสี่ยงไว้

สะดวกที่สุด กับปลอดภัยมากที่สุด จึงเป็นวลีที่ไม่เป็นจริง...

...และเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์อีกชิ้น ที่สะท้อนให้เห็นผลลัพธ์การจัดการโรคระบาดตลอดสองปีที่ผ่านมา

...ขอร้องเถิดครับ คุมการระบาดให้ดี เศรษฐกิจจะไปต่อได้ยาวๆ ไม่ล้มลุกคลุกคลาน และไม่สูญเสียมากมายระหว่างทาง

...ก้าวเดินช้าๆ อย่างมั่นคง ดีกว่ารีบจ้ำแล้วลื่นหัวคะมำบาดเจ็บสาหัสครับ

นอกจากนี้ นพ.ธีระ ยังโพสต์ด้วยว่า "Endemic doesn't mean harmless" โรคประจำถิ่น ไม่ใช่คำที่ควรใช้ทำแคมเปญให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นโรคธรรมดา ไม่น่ากลัว ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป

 

โรคประจำถิ่นนั้น โดยแท้จริงแล้วหมายถึงโรคที่ถูกระบุว่า พบได้บ่อยหากใครจะเดินทางไปยังพื้นที่นั้น ดินแดนนั้น ประเทศนั้น

 

โรคประจำถิ่นนั้น จะถูกใช้เมื่อเจอโรคนั้นอย่างเป็นประจำในถิ่นนั้น โดยรู้ว่ามีอัตราการติดเชื้อเพียงใดในลักษณะที่คงที่ โดยอาจมากขึ้นน้อยลงตามฤดูกาลได้ และสามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคได้ดีในระดับหนึ่งเพื่อวางแผนจัดการรับมือ มิให้เกิดการระบาดจนเกินควบคุม

 

ทั้งนี้การจะจัดการโรคประจำถิ่นได้ดีนั้น ยังจำเป็นต้องมีเรื่องยา ที่ใช้ในการรักษาและวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้พึ่งพายาผีบอก พืชผักสมุนไพรที่คิดเอาเองว่าได้ผล โดยไม่ได้รับการพิสูจน์ตามขั้นตอนมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ

 

ที่สำคัญที่สุดคือ โรคประจำถิ่นนั้นไม่ได้แปลว่า"ไม่อันตราย" โรคประจำถิ่นนั้นไม่ได้แปลว่า"อ่อน กระจอก ธรรมดา ไม่รุนแรง"

 

หลายโรคที่เป็นโรคประจำถิ่นในบางทวีป บางประเทศ เช่น ไข้เหลือง อีโบล่า ฯลฯ ที่พบมากในแอฟริกา ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยยังมีอัตราการเสียชีวิตสูงได้เช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่โรคที่เราคุ้นเคยกันเช่น วัณโรค มาลาเรีย ก็พบว่าเป็นโรคประจำถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย แต่ก็เป็นโรคที่เป็นแล้วรุนแรง เสียชีวิตได้

 

ดังนั้น หากทำความเข้าใจเรื่องโรคประจำถิ่น และติดตามความเป็นไปของการประชาสัมพันธ์ตามข่าวและเครือข่ายสังคมตลอดช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า น่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าโควิด-19 จะกลายเป็นหวัดธรรมดา กระจอก ประจำถิ่น โดยไม่ต้องกังวลหรือป้องกันตัว

 

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ระบาดในไทยเป็นไปอย่างรุนแรง ยาวนานต่อเนื่อง กระจายทั่ว หากบอกตรงๆ ว่า บัดนี้เป็น"แดนดงโรค"ของโควิด-19 ก็คงปฏิเสธไม่ได้แล้ว เพราะสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ในภาพรวมเรามีจำนวนการติดเชื้อมาก และมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก ดังนั้นคนที่จะเดินทางมา ก็ย่อมตระหนักดีว่ากำลังเข้าสู่พื้นที่ที่มีโอกาสติดเชื้อสูง

 

คำว่า "โรคประจำถิ่น" จึงไม่มีความหมายสำคัญไปกว่าที่อธิบายมาข้างต้น

 

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ ทำอย่างไรให้การระบาดบรรเทาเบาบางลงกว่าที่เป็นมา

 

การป้องกันการแพร่เชื้อติดเชื้อ คือคำตอบสุดท้ายที่จะไขปัญหานี้ได้

 

มิใช่การพึ่งวัคซีน เพราะวัคซีนนั้นหวังผลในแง่การลดความเสี่ยงการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต

 

การคิดและผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ในทุกมิติของสังคม เพื่อทำให้คนป้องกันตัว ไม่ให้ติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นมาคือ สิ่งที่จำเป็น

 

ไม่ควรมุ่งแต่คลายล็อคเพื่อหวังผลเชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยสถานการณ์ระบาดรุนแรง คุมไม่ได้ และจะกลับมาเป็นวังวนทำให้ทุกคนในสังคมต้องตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีความเสี่ยงโดยหาทางออกไม่เจอ

logoline