เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
นอกจากผลกระทบทางตรงที่เกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะเป็นผู้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่ตามมา ก็คือ เครดิตที่ลดต่ำลงของ พรรครวมไทยสร้างชาติ เนื่องจากมี ดร.เสกสกล เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และขับเคลื่อนเพื่อสร้างพรรคใหม่รองรับอนาคตทางการเมืองของ "บิ๊กตู่" และป้องกัน “นายกฯถูกบีบไข่” ซึ่ง ดร.เสกสกลเคยพูดเอาไว้ โดยหมายถึงถูกกดดันทางการเมือง
1.ต้องไม่ลืมว่าพรรครวมไทยสร้างชาติกำลังเตรียมตัวเป็น "พรรคหลัก" เพื่อให้พรรคเล็กๆ พรรคอื่นที่สนับสนุนนายกฯให้ทำงานการเมืองต่อไป ได้มาควบรวมกัน หรือถ้าเป็นในแง่ตัวบุคคล ก็ย้ายจากพรรคอื่นมาอยู่รวมกันในพรรครวมไทยสร้างชาติ เช่น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ซึ่งออกจากประชาธิปัตย์ ก็มีข่าวจะมาอยู่พรรคนี้ด้วย
2.พรรครวมไทยสร้างชาติจะเป็นพรรคหลัก เพราะชื่อพรรคมีความหมายดี สื่อนัยถึงนายกรัฐมนตรี และเป็นม็อตโต้ที่นายกฯประกาศช่วงปลุกขวัญคนไทยฝ่าวิกฤติโควิด
3.พรรคที่จะมาควบรวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติตามที่เป็นข่าว เช่น พรรครวมพลังประชาชาติไทย (พรรคลุงกำนัน) พรรคไทยภักดี (พรรคหมอวรงค์) พรรคไทยสร้างสรรค์ (พรรคของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ หรือ บิ๊กตั้น) และอดีต ส.ส.บางส่วนจากพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์
แต่ "แรมโบ้เอฟเฟค" ทำให้แผนการนี้สะดุด ชัดที่สุดคือความเคลื่อนไหวของพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ พรรค รปช.
-พรรค รปช. ซึ่งมี "ลุงกำนัน" ร่วมก่อตั้ง ก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค เป็น ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษาฯ และได้เสนอเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น "พรรครวมพลัง" อยู่ระหว่างรอ กกต.อนุมัติ
-ก่อนหน้านี้ เลขาธิกาพรรค คือ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง หรือ "ดร.ดราฟท์" ลาออกจากตำแหน่ง มีข่าวว่าเตรียมร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ
-แต่การประชุมใหญ่พรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ดร.ดวงฤทธิ์ ไม่ได้ปรากฏตัว และไม่มี "บิ๊กเนม" ไปเปิดตัวตามคาด ทั้งๆ ที่จัดประชุมกันที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ถิ่นของ "ดร.ดวงฤทธิ์" ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาก่อน
-วันอาทิตย์ที่ 24 เม.ย. พรรครวมพลังประชาชาติไทย จัดประชุมที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อสรรหาตัวบุคคลแทนตำแหน่งที่ว่างในพรรค รวมทั้งเลขาธิการพรรค
-ข่าวแจ้งว่า แผนการเตรียมควบรวมพรรคกับรวมไทยสร้างชาติ ถูกสั่งให้หยุดชั่วคราว เหตุผลชัดเจนมาจากเรื่อง ดร.เสกสกล
-หลังจากนี้ต้องจับตากันต่อว่า จะมีการควบรวมพรรคกันใหม่ เพื่อเป็นพรรคสำรองให้นายกฯหรือไม่ เนื่องจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ชื่อเสียไปแล้วพร้อมๆ กับ ดร.เสกสกล สุดท้ายอาจมีการปั้นพรรครวมพลังประชาชาติไทยเป็นพรรคหลัก ซึ่งได้เสนอเปลี่ยนชื่อเป็น "พรรครวมพลัง" แล้ว
แต่คำถามที่ต้องตอบให้ได้ก่อนก็คือ พรรคนี้จะแรงพอที่จะเป็นพรรคสำรองให้ “บิ๊กตู่” หรือไม่ เพราะต้องมั่นใจว่าได้ ส.ส.เกิน 25 เสียง เพื่อให้มีสิทธิ์เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ให้ที่ประชุมรัฐสภาโหวตลงคะแนนหลังเลือกตั้ง
ปัญหาที่เกิดขึ้น ยังสะเทือนถึงอนาคตทางการเมืองของ "บิ๊กตู่" อย่างลึกซึ้ง เนื่องจาก
-เมื่อยังไม่มีพรรคสำรอง อำนาจต่อรองทางการเมืองย่อมน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ "พี่ใหญ่" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
-พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นฐานที่มั่นเดียวที่เหลือของ “บิ๊กตู่” ยังไม่นับพรรครวมพลัง ที่อาจจะฟื้นขึ้นมาเป็นทางเลือกในอนาคต แต่ตอนนี้แผนหยุดชะงัก
-พรรคพลังประชารัฐ ปิดประตูไม่ให้ "บิ๊กตู่" เข้า
-"บิ๊กตู่" ขาลอย รอลุ้นว่า "บิ๊กป้อม" และพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อตนเป็นแคนดิเดตนายกฯหรือไม่
-แม้ "บิ๊กป้อม" จะเสนอชื่อ "บิ๊กตู่" เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่พรรคพลังประชารัฐก็เผชิญภาวะขาลง เจอปัญหาเลือดไหลออก และความแตกแยกแตกร้าว ขุนพลถูกเล่นงานจนแตกทัพ อย่างเช่น ปารีณา สิระ และ ดร.เสกสกล ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านภายในพรรค
-ป่านนี้ยังไม่รู้ว่าจะส่งผู้สมัครรักษาเก้าอี้ ส.ส.ราชบุรี เขต 3 แทน "เอ๋" ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ถูกศาลฎีกาสั่งพ้นตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ ทุกกอย่างขึ้นกับการตัดสินใจของ "บิ๊กป้อม" แต่ที่ผ่านมา "บิ๊กป้อม" อยู่ต่างประเทศ มีข่าวว่าลาประชุม ครม.ไปอังกฤษ จึงต้องรอ"บิ๊กป้อม" กลับมา ก่อนจะประชุมเคาะว่าจะส่งหรือไม่ส่งผู้สมัคร และถ้าส่งจะส่งใคร
บทสรุปทางการเมือง ณ เวลานี้ก็คือ ยิ่งพลังประชารัฐขาลง "บิ๊กตู่" ยิ่งขาลอย