svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คลัง ปัดซุกหนี้สาธารณะ 1 ล้านล้าน อ้าง ใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ อยู่ในกรอบของกม.

19 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คลัง ปัดซุกหนี้สาธารณะ 1 ล้านล้าน อ้าง เป็นค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลที่นำไปช่วยเหลือประชาชน เป็นไปตามกรอบวงเงินการใช้จ่าย ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

19 เมษายน 2565 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ชี้แจง กรณีสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง ระบุว่า รัฐบาลมีภาระหนี้ที่ไม่จัดอยู่ในหนี้สาธารณะและรอการชดใช้อยู่ถึง 1 ล้านล้านบาท ถือเป็นการซุกหนี้นั้นว่า การใช้จ่ายเงินดังกล่าวเกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

แม้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการบรรจุไว้ในความเสี่ยงด้านการคลัง แต่กระทรวงการคลังได้มีการรวบรวมเม็ดเงินที่มีการใช้จ่ายไว้ และมีการกำหนดกรอบวงเงินการใช้จ่ายไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา 28 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังปี 2561 ที่กำหนดการใช้จ่ายเงินต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณประจำปี จึงไม่ใช่การซุกหนี้

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาระรายจ่ายดังกล่าว ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาล โดยให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะแบงก์รัฐเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายไปก่อน จากนั้น รัฐบาลจะตั้งเป็นงบประมาณชดเชยให้ในแต่ละปี จึงถือเป็นรายจ่ายของรัฐบาล ไม่ได้ถูกนับเป็นหนี้ เช่น โครงการประกันรายได้พืชผลการเกษตร โครงการลดภาระต่างๆให้แก่ประชาชน เช่น ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นต้น

คลัง ปัดซุกหนี้สาธารณะ 1 ล้านล้าน อ้าง ใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ อยู่ในกรอบของกม.

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินตามมาตรา 28 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 ที่ประชุมมีมติขยายกรอบยอดคงค้างตามมาตรา 28 จากเดิมต้องไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นไม่เกิน 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จึงต้องไปดูงบประมาณของปี 66 ซึ่งจะเริ่มใช้เม็ดเงินในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั้น ก็จะทำให้เห็นว่ามีเม็ดเงินจากงบประมาณประจำตั้งจ่ายชดเชยในมาตรา 28 เท่าไรและจะต้องไปดูใน 2 ประด็น คือ

 

1.โครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ สามารถปิดโครงการใดได้แล้วบ้าง ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องไปไล่ดูเพื่อปิดโครงการ และส่งเงินคืนกลับมา

 

2. โครงการที่จะดำเนินในปี 65 และ ปี 66 นั้น จะต้องไปดูในเรื่องของความเหมาะสม หรือ ขนาดของโครงการ เช่น โครงการประกันรายได้ข้าว ที่ควรจะต้องปรับลดวงเงินลงมาให้อยู่ในกรอบของการใช้เงินตาม มาตรา 28 

 

“ดังนั้นจะมีเงินจากวงเงินงบประมาณปี 66 ที่จะเข้ามาส่วนหนึ่ง จากการปิดบางโครงการ และขนาดของวงเงินที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่า 30% นั้น จะกลับมาได้หรือไม่ แต่อยากให้กลับมา เพราะไม่อยากให้ใช้เงินล่วงหน้ามากเกินไป เนื่องจากเงินที่กลับมา ถ้าตั้งชดเชยเต็มตามที่โครงการกำหนดก็จะไม่มีปัญหา” นายอาคม กล่าวและว่า

 

 

ที่ผ่านมาสำนักงบประมาณได้ตั้งงบชดเชยมาให้ไม่ครบ ทำให้ยอดคงค้างการใช้จ่ายตามมาตรา 28 พอกพูน และกรอบวงเงินไม่มีเหลือ เช่น เมื่อมีการใช้จ่ายไป 100 บาท และมีการตั้งงบประมาณชดเชยคืนมาในปีถัดไปที่ 100 บาท ก็จะไม่มีปัญหา แต่ขณะนี้จากการตั้งงบฯ ชดเชยน้อยกว่าเงินที่ใช้จ่ายไป ทำให้เงินที่ใช้จ่ายล่วงหน้าเกิดการสะสมเรื่อยๆ ทำให้รายจ่ายโป่งขึ้นมา

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการชดเชยรายได้เกษตรกร เช่น โครงการประกันรายได้ข้าวกระทรวงการคลังอยากให้มีการนำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ แต่เนื่องจากอาจมีข้อจำกัดว่า ในการตั้งงบประมาณที่จะต้องมีรายละเอียด และความชัดเจนในการจ่ายชดเชยให้เกษตร เช่น เกณฑ์การจ่ายเงิน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการเสนอรายละเอียดมา จึงเข้าใจว่าอาจจะมีการขอใช้งบตามมาตรา 28 เหมือนเดิม

 

ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเข้าไปดูในเรื่องของหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยให้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งยังต้องดูราคาสินค้าในตลาด ณ ขณะนั้นด้วย ซึ่งขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรขึ้นเกือบทุกรายการ ยกเว้นข้าวที่ราคายังไม่ปรับขึ้น ก็จะต้องไปดูเรื่องของซัพพลาย หรือ จำกัดปริมาณการผลิต ไม่เช่นนั้นข้าวก็จะล้นตลาดไปเรื่อย ส่งผลให้ราคาตกลงตลอด แต่มีกลไกของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่จะเข้าไปดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว

ขอบคุณข้อมูล ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล

logoline