svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หนาวในฤดูร้อนเป็นเหตุ ทำผีเสื้อในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ตายเกลื่อน

03 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปรากฏการณ์ "ลมวนขั้วโลก” เป็นเหตุผีเสื้อในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ตายเกลื่อน เหตุปรับตัวตามสภาพอากาศหนาวในฤดูร้อนไม่ทัน

จากปรากฏการณ์ "ลมวนขั้วโลก”  หรือ (Polar Vortex) ที่ส่งผลให้คนไทยเจอกับอากาศที่เย็นลงแบบวูบวาบกลางฤดูร้อนเช่นในวันนี้ ( 3 เม.ย.65)

 

ล่าสุด เฟซบุ๊ก “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก” ได้โพสต์ถึงกรากฏการณ์ดังกล่าว โดยมีข้อความว่า

 

"ทุ่งใหญ่หนาวมากกกก อากาศที่เย็นลงรวดเร็ว  นอกจากมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบจากอากาศที่หนาวแล้ว สัตว์เองก็จะประสบปัญหาความหนาวเย็นที่เค้าอาจปรับตัวไม่ทันเช่นกัน ที่สังเกตได้ชัดผีเสื้อกลางวัน 🦋 ในเขตรักษาพันธุ์ทุ่งใหญ่นเรศวรฯ เป็นต้น...เมื่อสอง 2-3 วันนี้น้องยังบินสวยงามอยู่ดีๆ มาวันนี้ตายหมดแล้ว"

หนาวในฤดูร้อนเป็นเหตุ ทำผีเสื้อในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ตายเกลื่อน

 

 

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศทั่วไป พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว ทำให้บริเวณดังกล่าวอุณหภูมิจะลดลง กับมีลมแรง(1)

 

เนื่องด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้มีผลกระทบต่อแมลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือแมลงในกลุ่มของผีเสื้อ ที่มีลักษณะที่บอบบางและไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน และนอกจากอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่  อาจส่งผลให้ผีเสื้อที่ไม่พร้อมในการปรับตัว รวมถึงลักษณะทางกายภาพของผีเสื้อชนิดนั้นๆที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ทำให้ผีเสื้อที่ออกจากดักแด้มาแล้วปรับตัวไม่ทัน และตายในที่สุด

 

แมลงเป็นสัตว์เลือดเย็น (Cold Blooded Animals) อุณหภูมิภายในตัวแมลงผันแปรไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมนั้น ๆ เมื่ออุณหภูมิของสภาพแวดล้อมต่ำ อุณหภูมิภายในตัวแมลงก็ต่ำด้วย บางครั้งต้องพักตัว (hibernate) ในระยะต่าง ๆ เช่น หากมีอุณหภูมิที่ต่ำลงกรณีแบบนี้ อาจจะทำให้แมลง ในระยะดักแด้ยาวนานมากขึ้น(2)

 

ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศแปรปรวนและเป็นผลกระทบที่เกิดการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่สูงขึ้น ทำให้อุณภูมิของน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น จนกระทั่งนำแข็งขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว และกระแสลมวนที่เรียกว่า “โพลาร์ วอร์เท็กซ์” (Polar Vortex) ที่ไม่สมดุลนั้น ได้พัดพาเอาอากาศที่เย็นจากน้ำแข็งที่ละลายไปยังภูมิภาคอื่นของโลก(3)

โพลาร์ วอร์เท็กซ์ หรือลมวนขั้วโลกนั้น เป็นกระแสลมที่มีความรุนแรงหมุนทวนเข็มนาฬิกาวนรอบเหนืออาร์กติกราว 50 กิโลเมตร และมีบทบาทในการเก็บรักษาลมเย็นไว้ที่ภูมิภาคอาร์กติก และไม่ให้ความร้อนจากภายนอกเข้ามา กระแสลมนี้ไม่ใช่พายุแต่อย่างไร เป็นเสมือนอาณาเขตกั้นระหว่างอากาศเย็นเยือกแข็งของอาร์กติกและอากาศอุ่นรอบแลติจูดกลางไม่ให้เล็ดลอดไปหากัน นั่นคือสภาพปกติของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ แต่หากมีอะไรทำให้สมดุลของระบบกระแสลมนี้เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการลดความแข็งแกร่งของกระแสลม เปลี่ยนทิศทางลม หรือทำให้กระแสลมแตกเป็นหลายสาย จะทำให้อุณหภูมิของภูมิภาคอาร์กติกสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่อื่นของโลกได้รับอิทธิพลจากโพลาร์ วอร์เท็กซ์ที่แปรปรวน ก็คือมีอุณหภูมิต่ำลง(4)

 

หนาวในฤดูร้อนเป็นเหตุ ทำผีเสื้อในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ตายเกลื่อน

จากรายงานอุณหภูมิของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกก่อนปรากฏการณ์ วันที่ 31 มีนาคม 65 ต่ำสุด 20 สูงสุด 30  องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิลดลงในวันที่ 2 เมษายน 65 อยู่ที่ต่ำสุด 20 สูงสุด 24  องศาเซลเซียส และวันที่ 3 อุณหภูมิต่ำสุดลดลงมาถึง 16 องศาเซลเซียส

 

ที่มา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

logoline