svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศูนย์จีโนมฯ เผย โควิด 8 สายพันธุ์ลูกผสม สายพันธุ์ไหน น่ากังวลมากที่สุด

28 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 8 สายพันธุ์ลูกผสมของวายร้ายไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์ใด ที่ควรเฝ้าระวังและน่ากังวลมากที่สุดในตอนนี้

รายงานความคืบหน้าทางวิชาการเกี่ยวกับ โควิดวันนี้ เป็นรายงานข่าวจากทาง เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า 

 

"แปด"สายพันธุ์ลูกผสมของไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใดควรเฝ้าระวังและน่ากังวลที่สุด กับ "ห้า" คำตอบที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชชาวไทย ในการสร้างเสริมความรู้ความ เข้าใจเกี่ยวกับ"โควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม" มากยิ่งขึ้น

 

Q1: ไวรัสโคโรนา 2019" สายพันธุ์ลูกผสมเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

A1: เมื่อไวรัสซึ่งมีสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน “สองสายพันธุ์” เช่น เดลตา กับ โอมิครอน หรือโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 เข้ามาติดเชื้อเพิ่มจำนวนในเซลล์เดียวกัน (coinfection) กิจกรรมที่ไวรัสจะดำเนินการทันทีเมื่อมาอยู่ภายในเซลล์คือการเพิ่มจำนวนลูกหลานให้มากที่สุด

เอนไซม์ของไวรัสที่มีหน้าที่สร้างจีโนมสายใหม่โดยใช้จีโนมของสายพันธุ์ที่หนึ่งเป็นต้นแบบ (template) ดำเนินกระบวนการสร้างจีโนมสายใหม่มาระยะหนึ่งแล้วเกิดความผิดพลาดกล่าวคือเอนไซม์ดังกล่าวกระโดดเปลี่ยนไปใช้จีโนมของสายพันธุ์ที่สองเป็นต้นแบบในการสร้างจีโนม(template switching) ต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดไวรัส(จีโนม)ลูกผสมระหว่างสองสายพันธุ์ขึ้นมา (ภาพ1)

 

Q2: ทำไมถึงมีการค้นพบสายพันธุ์ลูกผสมมากมายในระยะนี้

 

A2: เหตุที่มีรายงานพบสายพันธุ์ลูกผสมจำนวนมากจากทั่วโลกในระยะนี้ก็เพราะเราเพิ่งมีไวรัสที่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมบนสายจีโนมเป็นอย่างมากมาระบาดไปพร้อมกันทั่วโลก เช่น สายพันธุ์ “เดลตา”, BA.1 และ BA.2 - เมื่อเกิดสายพันธุ์ลูกผสมระหว่างไวรัสเหล่านี้ เราสามารถจะตรวจกรองบรรดาลูกผสมเหล่านี้ได้โดยง่ายด้วยวิธีทางชีวสารสนเทศ (Bioinformatic) แม้ส่วนที่สับเปลี่ยนของจีโนมจะมีขนาดเล็กก็ตาม (ภาพ 2) 

เหตุผลอีกประการคือมีการระบาดของ BA.1 ตามมาด้วย BA.2  (ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เกิดขึ้นในขณะที่ยังมีเดลต้าระบาดอยู่ในระดับที่สูงมากเช่นกัน- เปิดโอกาสให้เกิดการติดเชื้อร่วม (coinfection)  ส่งผลให้เกิดสายพันธุ์ลูกผสม

 

Q3: ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ลูกผสม มีทั้งหมดกี่สายพันธุ์

 

A3: การกำหนดสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 นั้นอาศัยข้อมูลรหัสพันธุ์ของโควิด-19 ทั้งจีโนมซับมิทเข้าไปในโปรแกรมออนไลน์ “Pangolin COVID-19 Lineage Assigner” เรียกโดยย่อว่า “PANGOLIN; Phylogenetic Assignment of Named Global Outbreak LINeages (https://pangolin.cog-uk.io/) 

PANGOLIN แบ่งสายพันธุ์ลูกผสมเป็น  2 หมวด 8 สายพันธุ์  

หมวด 1 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง “Delta x BA.1”  ประกอบด้วยสมาชิก 2  สายพันธุ์

XD-เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ระหว่าง Delta x BA.1 lineage พบในฝรั่งเศส  ประกอบด้วยยีน S  ที่สร้างหนามแหลม ส่วนอื่นเป็นจีโนมจากเดลตา

XF-จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.1  กับส่วน 5’ จากจีโนมของเดลตา

หมวด 2 สายพันธุ์ลูกผสมระหว่าง BA.1XBA.2 ประกอบด้วยสมาชิก 6  สายพันธุ์

XE-พบในอังกฤษ จีโนมมีส่วนผสมระหว่าง ยีน S และยีนที่สร้างโปรตีนสำคัญของอนุภาคไวรัส มาจาก BA.2 กับส่วน 5’ จากจีโนมของ BA.1 แสดงอัตราการแพร่ระบาด (growth advantage) เหนือ BA.2  

XG-พบในเดนมาร์ก

XH-พบในเดนมาร์ก

XJ-พบในฟินแลนด์

XK-พบในเบลเยียม มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" เกือบ 100 ตำแหน่ง มากกว่าทุกสายพันธุ์  ยังไม่พบในประเทศไทย 

XL-พบในอังกฤษ

ลูกผสม XG,XH,XJ,XK, และ XL จะมีจุดจีโนมเชื่อมต่อ (break point) ระหว่าง BA.1 และ BA.2 ในบริเวณยีน ORF1ab

(ภาพ 3)

 

Q4: ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ลูกผสมสายพันธุ์ใดที่น่ากังวลและควรเฝ้าจับตามอง

 

A4: สายพันธุ์ลูกผสม XD ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด สายพันธุ์นี้พบใน ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ได้จีโนมควบคุมการสร้าง "ส่วนหนาม" มาจากโอมิครอน (BA.1) และจีโนมส่วนใหญ่ที่เหลือเป็นของเดลตา หากการผสมพันธุ์กัน (recombination) ในทางทฤษฎีอาจก่อให้เกิด "Super bug" หรือสายพันธุ์ที่แพร่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว และก่อโรครุนแรงกว่าทุกสายพันธุ์ที่เราเคยรู้จักกันมา แต่ข้อมูลจากโลกแห่งความเป็นจริง (real world data) ยังไม่พบว่า XD มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและก่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรง อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทควรเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

กรณีของสายพันธุ์ลูกผสม XF, XE, XG,XH,XJ,XK, และ XL ในประเด็นของการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ความสามารถในการแพร่ระบาด (transmissibility) และอาการความรุนแรงของโรคโควิด (severity) หากดูจากรหัสพันธุกกรมบนสายจีโนมแล้วผู้เชี่ยวชาญหลายท่านลงความเห็นว่าไม่น่าจะแตกต่างไปจาก โอมิครอน (BA.1 และ BA.2) 

 

อย่างไรก็ดี "สายพันธุ์ XK" ที่พบในเบลเยียมพบว่ามีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม "อู่ฮั่น" เกือบ 100 ตำแหน่ง มากกว่าทุกสายพันธุ์ ควรเฝ้าระวังเช่นกัน  ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิก และยังไม่พบในประเทศไทย 

 

Q5: เราจะรู้ประเภทของสายพันธุ์ลูกผสมไปเพื่ออะไร

 

A5: การอุบัติขึ้นของสายพันธุ์ลูกผสมก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการกลายพันธุ์แบบก้าวกระโดด ซึ่งอาจส่งผลต่อการควบคุมการระบาด การตรวจกรองด้วย ATK  PCR ที่อาจไม่ถูกต้อง การป้องกันด้วยวัคซีนที่อาจด้อยประสิทธิภาพลง  และการรักษาด้วยยาต้านไวรัสและแอนติบอดีสังเคราะห์ที่ไม่ได้ผล

เราจึงจำเป็นต้องรู้ว่าเรากำลังต่อสู้อยู่กับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใดอย่างละเอียด

“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” 

(ดัดแปลงมาจากตำราพิชัยสงครามของซุนวู)

“เขา”ในกรณีนี้หมายถึง “ไวรัสโคโรนา 2019”

“เรา”หมายถึงองค์การอนามัยโลกและทุกประเทศทั่วโลกที่ได้จับมือกันเพื่อควบคุม ป้องกัน และ รักษาโรคโควิด-19

ตำราพิชัยสงครามของซุนวู เขียนไว้ว่า

"หากรู้เขา รู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด 

ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ 

หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล”

การตรวจสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์  ดำเนินการภายใน 24-48 ชั่วโมงนั้นเพื่อสนับสนุนให้แพทย์ผู้รักษาเลือกใช้ยาต้านไวรัสและแอนติบอดีสังเคราะห์กับผู้ติดเชื้อกลุ่มเปราะบางได้อย่างถูกต้องกับสายพันธุ์ และทันต่อเวลาที่ต้องให้ยาและแอนติบอดีสังเคราะห์ภายใน 3 วันหลังติดเชื้อ

อ้างอิงจาก https://assets.publishing.service.gov.uk/.../Tech...

https://twitter.com/PeacockFlu/status/1504158873938272269...

 

 

ข้อมูลจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์

ภาพจาก รอยเตอร์

ขอขอบคุณ  Center for Medical Genomics

logoline