svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ส่อง 5 ปัจจัยเพื่อไทยส่อพลาด"แลนด์สไลด์" 

24 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความเคลื่อนไหวการเมืองช่วงนี้ มีการพูดถึง"ชนะ"แบบ"แลนด์สไลด์" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพูดจากทางฝั่งพรรคเพื่อไทย และ"คนแดนไกล" ที่อยากกลับบ้าน หลังจากพรรคเพื่อไทยเปิดตัว"อุ๊งอิ๊ง" ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ใหญ่กว่าหัวหน้าพรรค เพราะเป็นสายตรง"ชินวัตร"

จากประเด็นทำให้เกิดกระแสชนะแบบไลนด์สไลด์ ส่งเสียงดังขึ้นไปอีก จนบรรดาคอการเมืองต่างจับยามสามตาแบบไม่กระพริบ 

 

ก่อนอื่นต้องนิยามคำว่า "ชนะแบบแลนด์สไลด์" แปลเป็นไทยว่าอะไร ซึ่งคนที่ใช้คำนี้แรกๆ น่าจะเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง บิดาของ ส.ส.วัน อยู่บำรุง หมายถึง ชนะถล่มทลาย ในทางการเมืองหรือชนะเลือกตั้ง กวาด ส.ส.เกินครึ่งสภา ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แบบไม่ต้องง้อพรรคอื่น 

 

หลายฝ่ายเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งหนหน้า เพราะเคยทำได้มาแล้ว ทั้งในนามเพื่อไทย และชื่อพรรคอื่น อย่างพรรคไทยรักไทยก่อนถูกยุบ ประกอบกับปัจจุบันคะแนนนิยมของรัฐบาลค่อนข้างตกต่ำ จึงมีโอกาสสูงที่เพื่อไทยจะชนะเกินครึ่งสภา 

 

แต่ก็มีข้อมูลและข้อสังเกตอีกมุมหนึ่งว่า มีปัจจัยอื่นหรือไม่ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์ กล่าวคือชนะเลือกตั้งแน่ แต่อาจไม่ได้มาแบบแลนด์สไลด์ และตั้งรัฐบาลใหม่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

ส่อง 5 ปัจจัยเพื่อไทยส่อพลาด"แลนด์สไลด์" 

 

 

เมื่อมาย้อนดูการเลือกตั้งภายใต้กติกาบัตร 2 ใบ 4 ครั้ง พรรคเครือข่าย "คนแดนไกล" หรือจะเรียกพรรคชินวัตรก็ได้ ซึ่งหมายถึงพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย เอาชนะได้ทุกครั้ง แต่ไม่ได้แลนด์สไลด์ทุกครั้ง 

 

เลือกตั้งปี 2544 => พรรคไทยรักไทย ได้ 248 ที่นั่ง (เขต 200 ปาร์ตี้ลิสต์ 48) จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 ที่นั่ง

 

เลือกตั้งปี 2548 => พรรคไทยรักไทย ได้ 377 ที่นั่ง (เขต 310 ปาร์ลิสต์ 67) จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 ที่นั่ง 

 

เลือกตั้งปี 2550 => พรรคพลังประชาชน ได้ 233 ที่นั่ง (เขต 199 ปาร์ตี้ลิสต์ 34) จาก ส.ส.ทั้งหมด 480 ที่นั่ง 

 

เลือกตั้งปี 2554 => พรรคเพื่อไทย ได้ 265 ที่นั่ง (เขต 204 ปาร์ตี้ลิสต์ 61) จาก ส.ส.ทั้งหมด 500 ที่นั่ง 

 

หลังเลือกตั้งทุกครั้งได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้ง ประเด็นก็คือ มี 2 ครั้งที่ได้จำนวน ส.ส.เกินครึ่งสภา คือ ปี 2548 กับ 2554 แสดงว่าในกติกาบัตร 2 ใบ พรรคชินวัตรเอาชนะได้ทุกครั้งก็จริง แต่ไม่ได้แลนด์สไลด์ทุกครั้ง 

 

ส่วนการเลือกตั้งปี 62 เมื่อเปลี่ยนกติกาเป็น"บัตรใบเดียว" พรรคเพื่อไทย ได้เฉพาะ ส.ส.เขต 137 ที่นั่ง จากทั้งหมด 350 ที่นั่ง จากที่ส่งลงสมัคร 250 ที่นั่ง ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ได้เลย หากคิดเป็นเปอร์เซ็น ถือว่าได้ ส.ส.ต่ำที่สุดตั้งแต่เลือกตั้งปี 2544 เป็นต้นมา 

สำหรับปัจจัยอาจทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีดังนี้ 

 

1.ย้อนดูชัยชนะเมื่อปี 2548 ที่ได้  ส.ส. 377 ที่นั่ง ถือเป็นปรากฏการณ์ "ไม่ปกติ" เพราะพรรคไทยรักไทยขณะนั้น ได้ควบรวมพรรคขนาดกลางและเล็กเข้าชายคา รวมถึงกลุ่มการเมืองต่างๆ ด้วย ซึ่งปัจจุบันพรรคและกลุ่มการเมืองเหล่านี้ ไม่ได้อยู่กับพรรคเพื่อไทยแล้ว ยกตัวอย่าง 

 

-กลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน หรือ กลุ่มวังน้ำยมเดิม ปัจจุบันอาจจะเรียกได้ว่าคือ "กลุ่มสามมิตร" อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ 

 

-กลุ่ม ส.ส.เหนือ เช่น พะเยา ได้แยกออกมาเป็นพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งแตกตัวจากพลังประชารัฐอีกที 

 

-พรรคความหวังใหม่เดิม ปัจจุบันกระจายไปอยู่ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย 

 

-พรรคชาติพัฒนา หรือกลุ่มนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ วันนี้คืนสู่สามัญ ใช้ชื่อพรรคชาติพัฒ​นาเหมือนเดิม 

 

-กลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ หรือ กลุ่มโคราช ปัจจุบันอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ 

 

-กลุ่มเพื่อนเนวิน ปัจจุบันคือพรรคภูมิใจไทย 

 

ส่อง 5 ปัจจัยเพื่อไทยส่อพลาด"แลนด์สไลด์" 

 

คำถามคือ เมื่อกลุ่มก๊วนการเมือง และพรรคการเมืองที่เคยอยู่ใต้ร่มไทยรักไทย แยกตัวออกมาหมดแล้ว โอกาสแลนด์สไลด์ ในระดับเกิน 300 เสียง จึงเป็นไปได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย 

 

2.การก่อกำเนิดของพรรคที่เป็นคู่แข่งการเมืองโดยตรงของพรรคชินวัตร ได้แก่ 

 

พรรคภูมิใจไทย - เป็นคู่แข่งสำคัญในภาคอีสาน และวันนี้ภูมิใจไทยแข็งแกร่งขึ้นมากจากสถานะ "กลุ่มเพื่อนเนวิน" และต้องเป็นฝ่ายค้านในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ด้วยการบริหารจัดการแบบใหม่ และการดูแลคนของพรรคอย่างทั่วถึง หลังอยู่ในอำนาจมาเกือบ 3 ปี ในกระทรวงเกรด A บวก ทำให้ภูมิใจไทยวันนี้เข้มแข็งมาก และโค่นไม่ได้ง่ายๆ เหมือนการเลือกตั้งปี 54

 

พรรคก้าวไกล - เป็นคู่แข่งโดยตรงของพรรคเพื่อไทย เพราะใช้ฐานเสียงเดียวกันบางส่วน ซึ่งเดิมไม่เคยมีพรรคการเมืองลักษณะนี้ และวันนี้พรรคก้าวไกลได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นพรรคทางเลือกของ "คนรุ่นใหม่" ที่ปฏิเสธระบบเดิมอย่างแท้จริง เป็นความหวังของคนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง ที่ปฏิเสธการ "สู้ไปกราบไป" ซึ่งคนกลุ่มนี้ก้าวข้ามอดีตนายกฯทักษิณและตระกูลชินวัตรไปแล้ว 

 

นอกจากนั้น พรรคก้าวไกลยังเป็นขวัญใจคนรุ่นใหม่ ที่ปฏิเสธขนบเดิม แบบไม่ต้องเขิน หรือแทงกั๊ก ฉะนั้นการที่พรรคเพื่อไทย เปิดตัว "อุ๊งอิ๊ง" มาเพื่อหวังชิงคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในความเป็นจริง 

 

พรรคไทยสร้างไทย - ผู้นำคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นขุนพลคู่กายของอดีตนายกฯทักษิณมานานเกือบ 30 ปีบนถนนการเมือง เมื่อแตกตัวออกมา จึงมีฐานเสียงทับซ้อนกับพรรคเพื่อไทยแน่นอน โดยเฉพาะในภาคอีสานและ กทม. โดยภาคอีสาน คนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ ส่วน กทม. ก็มี ส.ส.เขตของเพื่อไทยลาออกตามมาหลายคน 

 

พรรคประชาธิปัตย์ - ถ้าฟื้นไข้ขึ้นมา ก็จะทวงเก้าอี้คืนได้จาก กทม. เหนือ อีสานบางส่วน เพราะประชาธิปัตย์ในยุครุ่งเรือง เคยมี ส.ส.ระบบเขต ในพื้นที่เหล่านี้เหมือนกัน 

 

3.ย้อนดูจุดอ่อนจากคะแนนการเลือกตั้งครั้งที่ไม่แลนด์สไลด์ของพรรคชินวัตร เช่น เลือกตั้งปี 50 

 

พื้นที่ กทม. - พรรคพลังประชาชน (พรรคชินวัตรในขณะนั้น) แพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ 

 

พื้นที่ภาคกลาง - พรรคพลังประชาชน แพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์

 

พื้นที่ภาคเหนือ - พรรคพลังประชาชน ชนะ พรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ขาด ชนะแบบสูสี มีเพียงภาคอีสานเท่านั้นที่ชนะขาด  

 

ส่วนการเลือกตั้งปี 62 เปลี่ยนกติการเลือกตั้งเป็น "บัตรใบเดียว" ยิ่งชัดเจน 

 

พื้นที่กทม. - พรรคเพื่อไทยแพ้ทั้งพลังประชารัฐและก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น) 

 

พื้นที่ภาคกลาง - พรรคเพื่อไทย แพ้ พรรคพลังประชารัฐ 

 

พื้นที่ภาคเหนือ - พรรคเพื่อไทยเบียดชนะพลังประขารัฐแบบสูสีมาก 

 

ปัจจุบันพรรคการเมืองอื่นๆ มีคะแนนนิยมดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้น ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ ฉะนั้นทุกพรรคจึงยังมีโอกาสเป็นคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย 

 

4.กติกาเลือกตั้ง มีความสำคัญมาก อาจหยุดแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยได้ 

 

-ย้อนดูคะแนนเลือกตั้งทุกครั้ง ยกเว้นปี 48 พรรคชินวัตร ไม่เคยได้ poppular vote เกินครึ่งจริงๆ ความหมาย คือ การได้แลนด์สไลด์ คือ ได้ ส.ส.เกินครึ่งสภา มาจากอานิสงของระบบบัตร 2 ใบ และวิธีคำนวณที่เอื้อให้ได้จำนวน ส.ส.เกินครึ่ง ด้วยการเอา ส.ส.เขต ไปนับต่อ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (เอาตัวเลข 2 ก้อนบวกกัน หรือนับต่อกัน) ทำให้ได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งถือว่ามากกว่าความเป็นจริง เนื่องจาก popular vote ของพรรคชินวัตรไม่เคยเกินครึ่ง 

 

ฉะนั้นหากเปลี่ยนกติกาเลือกตั้ง แม้จะยังเป็นบัตร 2 ใบ แต่ใช้สูตรคำนวณ "ส.ส.พึงมี" เหมือนปี 62 และใช้ตัวเลข 500 เป็นตัวหาร (ตัวเลข ส.ส. 2 ระบบบวกกัน) และวางกติกาไม่ให้จำนวน ส.ส.รวมกัน 2 ระบบ เกินจำนวน "ส.ส.พึงมี" แบบนี้โอกาสที่เพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ ยิ่งมีน้อยลงไปอีก 

 

5.ปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย แม้ดูจากภายนอกจะเห็นภาพความกลมเกลียวกันเป็นครอบครัว ตามแคมเปญ "ครอบครัวเพื่อไทย" แต่พรรคนี้มี 3 ปัญหาที่เห็นเด่นชัด 

 

1.มีสถานะเป็นพรรคชินวัตร ทำให้ ส.ส.หรือแกนนำบางกลุ่มไม่มีบทบาท หรือไม่เติบโตตามที่ควรจะเป็น จนต้องทิ้งพรรคไป เช่น กลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ ซึ่งควรจะได้เป็นนายกฯหญิงคนแรก แต่ "คนแดนไกล" กลับส่งน้องสาว ลงเป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 และเป็นนายกฯในที่สุด 

 

2.มีกลุ่มสายตรงอดีตนายกฯทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่เรียกกันว่า "นักรบห้องแอร์" ส่วนใหญ่เป็นนักคิด นักยุทธศาสตร์ แต่ไม่ได้ลงพื้นที่จริง ทำงานใกล้ชิดนายใหญ่ สุดท้ายทำให้เกิดปัญหาการยอมรับ และปัญหาทางความรู้สึกกับ ส.ส. หรืออดีต ส.ส.กลายกลุ่มในพรรค ล่าสุด ส.ส.เก่ง การุณ โหสกุล ที่จะลาออกจากพรรคเพื่อไทย ก็สะท้อนปัญหานี้ผ่านการโพสต์เฟซบุ๊ก 

 

3.ปัญหานักรบห้องแอร์ ยังทำให้บุคลากรชั้นเยี่ยม หรือคนที่มีภาพลักษณ์ดีบางคน ไม่ได้รับการสนับสนุน จนอาจต้องโบกมือลาอีกรอบ หรือลดบทบาทลงไป เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง 

 

ทั้ง 5 ข้อ ล้วนเป็นปัญหาและอุปสรรคที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยอาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน คือ ชนะแบบแลนด์สไลด์ และสุดท้ายอาจส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลได้เหมือนกัน จนอาจกลายเป็น “ฝ่ายค้านพรรคใหญ่พรรคเดียว” 

 

ที่ร้ายกว่านั้นยังมี "คดียุบพรรค" ที่เพื่อไทยโดนร้องมากกว่า 10 คำร้อง ข้อหาฉกรรจ์ที่สุด คือ ยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค "ควบคุม ชี้นำ ครอบงำ" กิจการของพรรค ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการบงการของ "คนแดนไกล" ทั้งผ่านวีดีโอคอล ซูม หรือแม้ให้สมาชิกและแกนนำบินไปพบในต่างแดนก็ตาม  

 

ถ้าเหตุปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นจริง พรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้แลนด์สไลด์ แต่กลายเป็น "แลนด์ไถล" ออกนอกรันเวย์ ชนะก็จริง แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล เหมือนปี 62 ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการวางยุทธศาสตร์ผิดพลาดบางอย่างของบรรดานักรบห้องแอร์เองด้วย

logoline