svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ นิวฟิวเจอร์..ไม่ใช่เพียงนิวนอร์มอล ควรปรับกระบวนการคิด

23 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอธีระวัฒน์ ชี้ สถานการณ์โควิดขณะนี้ ควรบริหารแบบ นิวฟิวเจอร์..ไม่ใช่เพียงนิวนอร์มอล แนะ ปรับกระบวนการคิด ลำดับความสำคัญ เรียนรู้วิเคราะห์ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้งบประมาณน้อย ได้ผลมากที่สุด ระบุ ไม่ใช่อ้างตำราเป็น"หลังพิง"

23 มีนาคม 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ในนาม "หมอดื้อ" ชี้ นิวฟิวเจอร์..ไม่ใช่เพียงนิวนอร์มอล โดยมีรายละเอียดข้อความ ว่า

 

ล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงวันนี้และที่เราประสบพบผ่านมาทุกยุคทุกสมัยในประเทศไทย แต่ที่เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งให้คนไทยทุกหมู่เหล่าทุกเพศทุกวัยไม่ว่ายากดีมีจน เห็นตรงกันก็คือในเวลานี้ โควิดสร้างผลกระทบได้เสมอภาค ยกเว้นแต่คนที่ฉวยโอกาส ซ้ำเติมหากำไรบนชีวิตของคนอื่นทั้งหมด และคนอีกกลุ่มที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการสั่งการ แต่ความที่ห้อมล้อมด้วยบริวารและคนที่พร้อมที่จะโปรยข้อมูลความเห็น ให้ฟังดูสวยหรูและแล้วผลลัพธ์ก็คือ เกิดความบิดเบี้ยวในวิถีทางที่ควรจะเป็น และเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้วให้หนักขึ้นไปอีก

 

สภาพเก๋ไก๋ที่เป็นสัญลักษณ์ในประเทศไทย ในการบริหาร คือต้องมีกรรมการมากมายหลายชุด แต่ละชุดมีอนุกรรมการอีกอย่างน้อยสี่กลุ่มห้ากลุ่ม และมีคณะทำงานติดตามผลและประเมินผล และนี่คงนับแต่เฉพาะหน่วยงานเดียว ในเรื่องที่ต้องมีการบูรณาการ (คำศัพท์ท็อปฮิต) ที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน แต่ละหน่วยจะมีกรรมการอีกรวมแล้วในเรื่องหนึ่งมีหลายชุดหลายคณะมากมายเต็มไปหมด

 

อาจจะหลับตานึกถึงภาพได้ว่างานทั้งหลายมีความซ้ำซ้อนและยุ่งยากในการรวบรวม นำมาวิเคราะห์ เพื่อออกเป็นข้อที่ควรจะทำมโหฬารขนาดไหน

เวลาที่เราดูคนไข้กัน มีคนไข้ตรงหน้า ที่ต้องมีการปฏิบัติ หรือโนทอล์กมาก แอ็กชันเลย ไม่ใช่โนแอ็กชัน ทอล์กโอนลี่ (no action talk only) ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะมาบรรยายเลกเชอร์หรือถกปัญหากันยืดยาวน้ำท่วมทุ่ง เพราะไม่ได้ดูคนไข้รายเดียว แต่เป็นสิบ

 

ดังนั้นจึงมีหลักประจำใจคือ ต้องสั้น กระชับแม่นยำ ตรงเป้าและสามารถลำดับความสำคัญได้ หรือดัดจริตเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า

  • Concise
  • precise
  • prioritize

 

Concise ต้องสามารถย่อความ ประวัติความเจ็บป่วยที่เป็นมาเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน การดำเนินของโรค สถานะความรุนแรง ณ ปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น โดยเป็นในระยะเวลาวิกฤติช่วงใดบ้าง เหมือนกับถ้าไม่สามารถแยกประเด็นหัวข้อได้ชัดเจนว่ามีกี่ข้อ ก็จะพรรณนาซ้ำซากในข้อเดิม ยกตัวอย่างเช่นทำ ข้อสอบอัตนัย ซึ่งตอบคำถามเดียวแต่ต้องสามารถแยกประเด็นที่ตอบสนองต่อคำถามนั้นได้หมด ถ้าตอบได้หมดจดหนึ่งในสี่ประเด็นก็คงได้คะแนนไป 25 ในร้อย

 

ในเรื่องของความแม่นยำ precise ต้องมีความรู้ หรือรู้ว่าถ้าจะหาคำตอบ จะมีปัญหาอะไรที่ต้องถามและค้นหา และจะหาที่ไหน หาอย่างไรและต้องชัดเจน โดยวางอยู่บนรากฐานที่ดีที่สุดและที่มากที่สุด โดยรวบรวมเนื้อหาหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหรือที่เราเรียกว่า totality of evidence ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากการสังเกต จากการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง หรือในมนุษย์ แม้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก แต่ได้ผลคล้ายกันหรือเหมือนกันเมื่อทำซ้ำ ทั้งนี้โดยที่วิธีการนั้นๆคุ้มค่าและก่อให้เกิดผลแทรกซ้อนหรือความเสียหายน้อยที่สุด

และยิ่งถ้าเป็นข้อมูลที่สามารถอธิบายกลไกในขั้นลึก เป็นขั้นเป็นตอน และมีการศึกษาถึงความเป็นเหตุเป็นผลนั้นได้จะเป็นข้อมูลที่หนักแน่นยิ่งขึ้น (mechanistic studies) โดยที่ไม่ได้ยึดโยงกับบทวิเคราะห์ทางสถิติหรือการพิเคราะห์อภิธานอย่างเดียวโดยไม่รู้ที่ไปที่มา

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารู้ว่าโรคนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีปัจจัยอะไรที่ผลักดันให้โรครุนแรงขึ้นและเมื่อมีกระบวนการรักษาหรือมียาชนิดใดก็ตาม และมีคุณสมบัติในการขัดขวางโรคนั้นๆ จะทำให้มีความมั่นใจและสามารถอธิบายกับตัวเองและกับคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าได้ว่า ทำไมถึงตัดสินใจเลือกการรักษานั้นๆ และเป็นการรักษา หรือเพียงบรรเทา โดยไม่ใช่อ้างแต่ข้อแนะนำในการรักษาตามตำราเหมือนกับมี “หลังพิงฝา”

 

ถ้าเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ต้องสนใจเพราะทำตามตำราแล้ว ทั้งๆที่อาจจะขัดกับสภาพที่เห็น ว่าไม่ควรทำเช่นนั้นในสถานการณ์ที่เป็น หรือทั้งๆที่รู้อยู่ว่าไม่ควรทำแต่ตำราว่าไว้เช่นนั้นก็สบายใจ

 

สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นมากที่ต้องคำนึงคิดวิเคราะห์ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ทำอยู่ปัจจุบันดีที่สุดแล้วหรือไม่ เพราะถ้าดีผลที่ออกมาควรจะต้องดีตลอดไม่ใช่หรือ?

 

ประเด็นถัดมาคือเรื่องการลำดับความสำคัญ (prioritize) สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันมีมากมายมหาศาล เช่น ในการวางแผนดูคนไข้การที่จะสั่งตรวจไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด การตรวจคอมพิวเตอร์เอกซเรย์หรือการตรวจหารายละเอียดขั้นสูง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งที่กำลังจะทำนั้นช่วยอะไรกับคนป่วย หรือถ้าทำไปแล้วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบของการรักษาหรือไม่ (therapeutic benefit) หรือทำไปเพราะความอยากรู้แต่คนไข้ต้องจ่ายเงินหรือเป็นภาระของงบประมาณประเทศ

 

และประการสำคัญก็คือ อะไรที่ควรต้องทำก่อนเพื่อช่วยชีวิตคนป่วยที่เห็นตรงหน้า หรือเปรียบเสมือนว่า ถ้ามีคนป่วยรออยู่หรือนอนอยู่ 20 คน การจัดลำดับความสำคัญ คือความรีบด่วนที่ต้องได้รับการรักษา อาจไม่ใช่ว่าใครมาเป็นคนแรกหรือคนที่สอง แต่ต้องดูสิ่งที่เราชอบพูดกันว่า ดู “โหงวเฮ้ง” อาการขณะนั้นอยู่ในสภาวะรีบด่วนต้องได้รับการปฏิบัติโดยด่วน และแม้แต่คนไข้เป็นโรคเดียวกันแต่ความรีบด่วนในแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน เป็นต้น

 

และอาจจะต่อด้วยอีกประการคือการนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที (utilize) หลังจากที่รู้ว่าอะไรต้องทำอย่างรวดเร็ว รู้ว่าขาดแคลนอะไร โดยไม่มีทางหาอะไรมาทดแทนได้ในปัจจุบันทันด่วนในเวลานั้น เป็นเวลาที่ต้องหยิบจับฉวยสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถนำมาให้ได้ แม้จะยังไม่ปรากฏเป็นตำราก็ตาม แต่ใช้หลักฐานควบรวมเชิงประจักษ์ในทุกด้านดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

 

ในสถานการณ์ล่มสลายของโควิด ไม่ใช่เป็นเวลาที่ต้องประดิดประดอย ฟังข้อมูลวารสารที่ไหลออกมาเป็น 10,000 ชิ้นที่คล้อยตามหรือขัดแย้งกันระเบิดเถิดเทิง หรือจะรอให้มีการสรุปจากองค์กรระดับนานาชาติหรือระดับโลก ซึ่งก็มีการกลับลำ 180 องศาอยู่บ่อยเอาง่ายๆ ตั้งแต่ใส่หน้ากากไม่มีประโยชน์ เป็นต้น

 

ประเทศไทยเราเองมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากร สมุนไพร พืช ผัก ผลไม้ ธัญญาหารพร้อมมูล แม้กระทั่งมีความรู้จารึกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านการวิเคราะห์ทำซ้ำ ลองผิดลองถูกจนกระทั่งสามารถจารึกเป็นข้อแนะนำหรือแทบจะกลายเป็นคัมภีร์ สิ่งเหล่านี้คือ การวิจัยซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สามารถอธิบายได้ระดับโมเลกุลหรือกลไกทางวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบัน แต่ผลที่ได้เป็นที่ประจักษ์และใช้กันมาเป็น 10 เป็น 100 ปี

 

คงพอจะนึกออกว่ามีการต่อต้านหรือสนับสนุน เช่น การใช้ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กัญชา กันชง จนแทบจะฆ่ากันตาย จะให้มีการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติก่อน ค่อยนำมาใช้ แม้ว่าจะรู้สรรพคุณหลายอย่างและสามารถตอบได้ว่าจะใช้ขนาดปริมาณเท่าใด นานเท่าใดและสามารถจะใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันชนิดใดได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ดูต่างจากประเทศจีนหรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็ตาม ที่มีการขวนขวายหาตัวยาสมุนไพรที่ชาวบ้านหรือในชุมชนมีการใช้และทำให้สุขภาพดี อายุยืนไม่เป็นโรคภัยไข้เจ็บและนำมาควบรวมกับแผนปัจจุบัน หรือนำมาต่อยอดอธิบายสารออกฤทธิ์ในนั้นว่าเป็นสารเดี่ยวหรือสารผสมแบบใด เป็นต้น หรืออย่างเช่น กัญชา เราก็ทราบกันแล้วว่าตัวสำคัญนั้น ไม่ใช่แต่ตัวที่ทำให้เกิดเมาอย่างเดียว แต่ยังต้องควบรวมกับสารฟลาโวนอยด์ และสารอื่นๆด้วยจึงจะเปล่งประสิทธิภาพได้เต็มที่

 

เขียนมายืดยาวจนกระทั่งถึงบรรทัดนี้ คำว่า นิวฟิวเจอร์ คือ การปรับกระบวนการคิด การเรียนรู้วิเคราะห์ และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ใช้งบประมาณน้อย ได้ผลมากที่สุด (minimize budget maximize benefit) โดยใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้มาในสมองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ไม่เช่นนั้นจะใช้ประโยชน์ได้จำกัดมาก อยู่ที่ก้านสมองหรือไขสันหลังแต่เพียงอย่างเดียวและไร้ค่าที่จะแก้ไขวิกฤติอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้น ทั้งในขณะนี้และที่จะเกิดตามมาในอนาคต

logoline