svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นพ.ธีระ เผย ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ถึง 40%

22 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นพ.ธีระ เผย ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ถึง 40% พบ ยิ่งมีอาการรุนแรงในช่วงที่ป่วยมาก ความเสี่ยงยิ่งสูง

นพ.ธีระ เผย ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ถึง 40%

22 มีนาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat " เผย ความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานในผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุว่า ทะลุ 471 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,028,639 คน ตายเพิ่ม 3,182 คน รวมแล้วติดไปรวม 471,914,643 คน เสียชีวิตรวม 6,104,215 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน เวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.58 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 81.77 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.04 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 39.44

...สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก

 

...อัพเดตล่าสุดเรื่องการเกิดโรคเบาหวานในผู้ป่วย Long COVID

ล่าสุด Xie Y และคณะจากสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับสากลด้านโรคเบาหวานและโรคต่อมไร้ท่อ The Lancet Diabetes & Endocrinology เมื่อวานนี้ 21 มีนาคม 2565 ศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่าง 1 มีนาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 จำนวนถึง 181,280 คน พบว่า หากติดตามไป 12 เดือน คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน ทุก 1,000 คนจะมีโอกาสเกิดโรคเบาหวานขึ้นใหม่สูงกว่ากลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ราว 14 คน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 12·11–14·84 คน)

ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน พบว่าคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขึ้นในระยะเวลา 12 เดือน สูงกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ถึง 40% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 36%-44%) ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขึ้นนั้น พบว่าแปรผันไปตามระดับความรุนแรงของการป่วยตอนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ด้วย ยิ่งป่วยรุนแรงความเสี่ยงยิ่งมาก

 

อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะติดเชื้อแล้วจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ก็มีความเสี่ยงต่อเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

 

...สถานการณ์ไทยเรา การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตนเองอย่างเป็นกิจวัตร ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน แจ้งคนใกล้ชิดทราบ และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

 

ใครที่เคยติดเชื้อมาแล้ว โปรดทราบว่ามีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้หากไม่ป้องกันตัว นอกจากนี้ยังควรประเมินสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากผิดปกติ แตกต่างจากอดีต มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงาน ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็คเรื่อง Long COVID จะได้ทำการดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ

อ้างอิง

Xie Y et al. Risks and burdens of incident diabetes in long COVID: a cohort study. The Lancet Diabetes & Endocrinology. 21 March 2022.

logoline