svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ แนวคิดปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น อย่าด่วนสรุปไม่อันตราย

20 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอธีระวัฒน์ ฟาดเจ็บ แนวคิด ปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จำเป็นต้องใช้ปัจจัยในมนุษย์คนไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าไวรัสไม่อันตราย พร้อมเผย ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Long COVID เคราะห์ร้ายในระยะยาว

20 มีนาคม 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" เกี่ยวกับ "โควิด-19" โดยระบุว่า ปี 2565 โควิดเป็นโรคประจำถิ่น การเข้ามาของโอมิครอนซึ่งแม้จะมีการติดไวแพร่เร็วและวัคซีนสองถึงสี่เข็มไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อและมีอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การฉีดวัคซีนหรือการที่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน จะลดทอนและบรรเทาอาการหนักหรือการเสียชีวิตได้ แต่ไม่รวมถึงคนสูงอายุและคนที่มีโรคประจำตัว แม้กระทั่งเป็นโรคอ้วนเท่านั้น ก็ทำให้มีอาการหนักรุนแรงได้

 

แนวคิดโรคประจำถิ่นดังกล่าว มาจากประเทศที่มีศักยภาพในการตรวจครอบคลุมประชากรเป็นล้านคน ในเวลาอันรวดเร็ว และทำให้ติดตามสถานการณ์การกระจายแพร่เชื้อเป็นวันต่อวันได้ และยังสามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวได้ทันที ทำให้สามารถจำลองโครงสร้าง รู้ความเคลื่อนไหวของไวรัส ว่ามีการผ่าเหล่ามากขึ้น ในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้นหรือไม่

 

รวมกระทั่งถึงประเมินความรุนแรงของโรคได้อย่างโปร่งใส และทำให้รู้ว่าระบบสาธารณสุขจะสามารถรองรับโดยไม่ถึงวิกฤติได้หรือไม่ และจากการที่สุขภาพของประชาชนในประเทศโดยรวม มีความแข็งแรงเพราะระบบประกันสุขภาพ มุ่งเน้นในเรื่องของการป้องกันการเกิดโรคหรือเมื่อพบว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นความดันสูง เบาหวาน อ้วนจะรีบควบคุมให้เป็นปกติในทันทีทันใด

การประเมินสถานการณ์ของโอมิครอนในประเทศไทย จำเป็นต้องใช้ปัจจัยในมนุษย์คนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ไม่สามารถสรุปได้ทันทีว่าไวรัสไม่อันตราย

 

นอกจากนี้ นพ.ธีระวัฒน์ ยังโพสต์ข้อความด้วยว่า ข้อที่ควรรู้เกี่ยวกับ “ลองโควิด”

กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่การติดเชื้อได้จบสิ้น (ไม่พบเชื้อแล้ว)

  • 1.อาการของลองโควิด ไม่ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการที่เป็นตอนแรก
  • 2.เกิดได้ทุกอายุ ได้ทุกเพศ
  • 3.เกิดอาการได้ตั้งแต่หัวจดเท้า หลายระบบหรืออวัยวะพร้อมกัน
  • 4. อาการที่มีขณะติดเชื้อไม่สงบ แม้ว่าการติดเชื้อจบไปแล้ว และอาการสามารถรุนแรงขึ้นได้ และสามารถทอดยาวนานกว่าสามเดือนต่อไปอีก หรือ อาการที่เกิดขึ้นเป็นอาการใหม่ ที่ไม่ได้ปรากฎขณะที่ยังติดเชื้อ
  • 5. กลุ่มอาการเป็นลักษณะที่เรารู้จักกันดีมานานแล้ว ในรูปของ chronic fatique syndrome หรือ Myalgia encephalomyelitis แต่โควิดเกิดได้รุนแรง และยาวนานกว่าไวรัสตัวอื่นๆมาก
  • 6. กลุ่มอาการทางสมองและจิตอารมณ์พบได้ 30% หรือมากกว่า และส่งผลทำให้เฉื่อยชา คิดช้า ความจำสั้น สมองเสื่อมและอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เป็นอยู่แล้วหรือกำลังจะเป็น โรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน
  • 7. หลักในการบำบัดต้องทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดว่ายังมีการอักเสบอยู่ในร่างกายและในสมองหรือไม่ และถ้ามีต้องทำการยับยั้งโดยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาด้วย และยังตั้งประกอบด้วยการหลีกเลี่ยงที่จะทำให้มีการกระตุ้นการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้นได้แก่หลีกเลี่ยงอาหารร้อนแรงที่ทำให้เกิดการอักเสบเช่นเนื้อแดง ระวังพืชผักผลไม้ที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมีฆ่าหญ้าฆ่าแมลงรวมกระทั่งถึงมลพิษพีเอ็ม 2.5 เป็นต้น
  • 8. จากปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเครื่องเตือนใจว่าไม่ควรปล่อยตัวให้ติด เพราะอาจเคราะห์ร้ายระยะยาว
  • 9. วิธีที่ “อาจ” ป้องกัน การเกิดลองโควิด ได้ คือ การให้การรักษาเร็วที่สุด เมื่อรู้ว่าติดเพื่อให้ระยะของการติดเชื้อสั้นที่สุด ยกตัวอย่าง เช่น การใช้ฟ้าทลายโจร ซึ่งมีในประเทศไทยอยู่แล้วโดยในผู้ใหญ่ให้ในขณะที่มีสาร แอนโดรกราโฟไลท์ 180 มก ต่อวัน และในเด็กขนาด 30 มก ต่อ วัน แบ่งให้วันละสามครั้ง

งานวิจัยและพัฒนาเชิงรุกผลกระทบลองโควิด ของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช)

logoline