svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ผู้นำชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน ร้องผลกระทบถูกไล่ที่ 31 มี.ค.นี้

14 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้นำชุมชนบุญร่มไทร ริมทางรถไฟมักกะสัน ร้องผลกระทบถูกการรถไฟฟ้องร้องไล่ที่ เดือดร้อนกว่า 135 หลังคาเรือนต่อสู้มาตลอด 2 ปี จนถูกหมายศาลฟ้องให้ออกจากพื้นที่ 31 มีนาคมนี้ วอนหาที่พักชั่วคราวรอการสร้างที่อยู่ใหม่ อย่าประวิงเวลา ชี้เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

ชุมชนบุญร่มไทร หนึ่งในชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน กำลังประสบปัญหาถูกการรถไฟฟ้องร้อง และไล่ที่ จนไม่มีที่อยู่อาศัย ร่วมไปถึงที่อยู่ใหม่ ซึ่งมีกำหนดว่าต้องเริ่มก่อสร้างกลับไม่มีวี่แวว หรือเตรียมการก่อสร้างแต่อย่างใด

 

นายเชาว์ เกิดอารีย์ ผู้นำชุมชนบุญร่มไทร เปิดเผยว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่ริมทางรถไฟ ได้รับผลกระทบจากการฟ้องร้องไล่ที่ ของการรถไฟอย่างมาก โดยเมื่อปี 2563 การรถไฟได้ลงมาสำรวจพื้นที่ริมทางรถไฟ และแจ้งให้กับชาวบ้านว่าจะมีการพัฒนาริมทางรถไฟ ให้เป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ3สนามบิน หรือEEC และโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ คอมเพล็กซ์ยักษ์ขนาดความสูง 120 ชั้น 550 เมตรบนพื้นที่ 140 ไร่ เป็นแลนด์มาร์คใหม่ของคนกรุงและเป็นเมืองรถไฟความเร็วสูงซึ่งเชื่อมต่อการพัฒนาโครงการ EEC

นายเชาว์ เกิดอารีย์ ผู้นำชุมชนบุญร่มไทร ระบุ ตอนนี้ชาวบ้านริมทางรถไฟกำลังเดือดร้อนมาก หลังถูกการรถไฟฟ้องร้องไล่ที่

“ตอนนั้นเจ้าหน้าที่แจ้งว่าชาวบ้านจะต้องย้ายออก โดยจะมีค่าชดเชยให้ให้ทุกคนส่งสำเนาบัตรประชาชน และเซ็นต์เอกสาร แต่ต่อมาปรากฎว่าบุคคลที่เซ็นต์เอกสารกลับถูกฟ้องร้องข้อหาบุกรุก จนต้องขึ้นศาล ชาวบ้านบางคนทนไม่ไหวกลัวความผิด และถูกดำเนินคดีก็ตัดสินใจย้ายออก บางคนถูกบีบ ถูกบังคับจ่ายค่าเช่าย้อนหลัง หลายคนไม่มีเงินต้องยอมคดีในชั้นศาล แต่ก็มีอีกหลายคนเดินหน้ายื่นของเรียกร้องต่อ ตอนนี้ผู้ที่เดือดร้อนประมาณ135หลังคาเรือน เฉพาะชุมชนบุญร่มไทร และใกล้เคียง3-4ชุมชุม ยังไม่รวม อีก11ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้”

นายเชาว์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเรียกร้องของชาวบ้านในชุมชนตอนนี้เราไม่ได้ต้องการที่จะอยู่ในจุดเดิม ไม่ได้ต้องการเงิน เราแค่ต้องการที่อยู่ ที่ซุกหัวนอน เนื่องจากตามหมายศาลฟ้องไร่ที่ชาวบ้านต้องออกภายในวันที่ 31 มี.ค.นี้ ซึ่งตลอดระยะเวลา2ปี ที่ชาวบ้านต่อสู้มา ได้มีมติ ครม. แก้ไขปัญหานี้ คือให้ทางการรถไฟจัดสรรที่อยู่ให้ชาวบ้าน และให้การเคหะเช้ามาช่วยดูแลเรื่องปลูกสร้างอาคารที่พักอาศัย โดยชาวบ้านทำการเช่าซื้อ และจ่ายค่าเช่าที่ดินเอง ซึ่งชาวบ้านยินยอมที่จะย้ายออกไปอยู่ที่ใหม่ และทางการรถไฟก็ได้จัดสรรที่ให้บริเวณใกล้ชุมชนหมอเหล็ง

 

นายเชาว์ บอกอีกว่า  ในขณะที่ชาวบ้านกำลังย้ายออกตามผลบังคับของกฎหมาย แต่โครงการที่อยู่ใหม่ยังไม่ได้เริ่ม เพราะการรถไฟยังไม่ส่งมอบที่ให้การเคหะในการสร้างที่พักอาศัย  ชาวบ้านยินดีจะย้ายออกหากการรถไฟ หาที่พักชั่วคราวให้ในระหว่างรอที่พักใหม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้รับคำตอบอะไรจากการรถไฟ ชาวบ้านจะไปต่อก็ไปไม่ได้ จะอยู่ก็อยู่ไม่ได้ ในที่ประชุมรับปากว่าจะช่วยเรา แต่การกระทำมันตรงกันข้าม

 

“การย้ายที่อยู่สำหรับคนๆหนึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนการนับศูนย์เริ่มต้มใหม่ เพราะเราต้องไปอยู่ เรียนรู้พื้นที่ใหม่ หาอาชีพใหม่ ที่ไม่มีอะไรแน่นอนเลยสักอย่าง ไม่รู้ว่าจะดำรงชีวิตอย่างไร วันนี้จะมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัวไหม แค่ความแน่นอนในที่ซุกหัวนอนของพวกเรา ยังถูกดึงกันไปดึงกันมา จะให้เราย้ายออกจากที่เดิมโดยไม่มีจุดหมายพวกเราจะไปอยู่ที่ไหน นั้นคือสาเหตุที่หลายครั้งการรถไฟหาที่อยู่ใหม่ให้ชาวบ้านแต่ไม่ประสบความสำเร็จ”

 

อย่างไรก็ตามครั้งนี้ชาวบ้านยอมย้ายออก แต่ขอที่อยู่ชั่วคราวแต่ก็ยังไม่มีความแน่นนอน ที่อยู่ที่สร้างแบบถาวรก็ยังไม่เริ่มโครงการ หลายคนอาจจะตีตรา หรือตราหน้าว่าเราต้องการได้รับการช่วยเหลือ ค่าเยียวยาต่างๆ ถึงได้ไม่ยอมย้ายออก แต่อยากจะบอกว่า จริงๆเราก็อยากอยู่แบบถูกต้องตามกฎหมาย อยากเช่าที่การรถไฟได้ เพราะพื้นที่ 497กว่าไร่  ชาวบ้านขอเช่าแค่2-3เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ5-6ไร่ เพื่อทำที่อยู่อาศัย การรถไฟกลับไม่ให้เช่า  แต่ทำไมบริษัทใหญ่ ๆแค่ยื่นเอกสารขอเช่าก็ได้รับการอนุมัติซึ่งมันหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างแท้จริง

 

นายเชาว์ บอกอีกว่า เรื่องนี้มีหลายคนตั้งข้อสงสัย หลายกรณีที่การรถไฟไล่ฟ้องในคดีบุกรุกพื้นที่ ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไป จะมีการฟ้องส่วนบุคคล เป็นรายชื่อของชาวบ้านรายนั้นๆ ชาวบ้านที่กลัวถูกดำเนินคดีก็ยอมความ บางคนแพ้ก็ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าทนาย  แต่ถ้าเป็นการฟ้องไล่ที่ กับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ การรถไฟจะใช้วิธีการฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไมาตรงไปยังบุคคลที่รุกที่ 

 

ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน กำลังประสบปัญหาถูกการรถไฟฟ้องร้อง และไล่ที่ จนไม่มีที่อยู่อาศัย

“หากฝ่ายถูกฟ้องแพ้คดีก็ต้องนำเงินของหน่วยงาน ซึ่งเป็นภาษีประชาชนมาจ่ายชดใช้ให้กับการรถไฟ โดยที่ผู้รุกที่จริงกลับได้รับผลกระทบน้อยมาก จึงเป็นที่ถกเถียงกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดถึงความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย และการเลือกปฏิบัติของหน่วยงานที่บริหารทรัพยากรของแผ่นดิน”

logoline