svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่ง คดีค่าโง่"คลองด่าน" ให้รัฐจ่ายค่าชดเชย 9 พันล้าน

08 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำสั่ง คำพิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีค่าโง่บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ใหม่ และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ มีผลทำให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยกว่า 9,000 ล้านบาท ให้กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี

8 มีนาคม 2565 ที่ศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน (อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษาตามคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ) วานนี้(7 ก.พ.) ว่า

 

คดีนี้ กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 และ 28 ก.ค. 59 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีที่เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ

 

โดยกล่าวอ้างว่า ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองในคดีศาลปกครองสูงสุด ได้มีการดำเนินคดีทางอาญาที่เกี่ยวพันกับคดีนี้หลายคดี ได้แก่ คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และได้มีคำพิพากษา คดีของศาลแขวงดุสิต คดีของศาลอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีของศาลอาญา มีเอกสารและพยานหลักฐานที่เป็นพยานหลักฐานใหม่ ได้แก่

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่ง คดีค่าโง่"คลองด่าน" ให้รัฐจ่ายค่าชดเชย 9 พันล้าน

พยานบุคคลและพยานเอกสารตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคล และพยานเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน อันปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงความเชื่อมโยงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ได้ใช้ในการก่อสร้างโครงการและให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ

 

จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน และสืบเนื่องจากผลของคำพิพากษาศาลอาญา สำนักงาน ป.ป.ง. จึงมีหนังสือ ถึงกรมควบคุมมลพิษแจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ลงวันที่ 13 พ.ค.59 อายัดเงินจำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้ชั่วคราว

 

นอกจากนั้น ยังปรากฏความไม่ชอบของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่มีสาเหตุจากการขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นกลางของนายเสถียร วงศ์วิเชียร ขณะเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเอกชน ทั้งหมดนี้เป็นพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในคดีของศาลปกครองเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญตามมาตรา 75วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

 

กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง ขอให้ศาลรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.54

 

ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เฉพาะในส่วนของกรมควบคุมมลพิษไว้พิจารณา แต่ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในส่วนของกระทรวงการคลัง

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่ง คดีค่าโง่"คลองด่าน" ให้รัฐจ่ายค่าชดเชย 9 พันล้าน

โดยศาลเห็นว่า กระทรวงการคลัง ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาพิพาท และไม่ปรากฏเหตุอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าจะได้รับผลกระทบจากผลแห่งคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยโดยตรง จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดี ซึ่งจะมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ และวินิจฉัยว่า การที่ข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง กระทำการขัดต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาโครงการ

 

ขั้นตอนการจัดหาที่ดิน ขั้นตอนการประกวดราคา ทั้งมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจนมีการลงนามในสัญญาโครงการออกแบบ รวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

 

ผลของการกระทำดังกล่าวเป็นไปในทางที่ทำให้ราชการเสียหาย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ดังนั้น การที่กรมควบคุมมลพิษโดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นได้เข้าทำสัญญาแทน จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำการแทนกรมควบคุมมลพิษ เมื่อสัญญาเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษ

 

ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และไม่จำต้องวินิจฉัยข้อพิพาทในประเด็นอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

 

ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอน คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.54

 

กระทรวงการคลัง ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า กระทรวงการคลังเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งมีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้โดยตรง จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่

 

บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ที่ 1 กับพวก ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า พยานหลักฐานที่กรมควบคุมมลพิษอ้าง ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยาน ในคดีของศาลอาญาตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่  อ.4197/2558 นั้นมีที่มาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านทราบถึงการมีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการและในศาลปกครองครั้งก่อน จึงไม่อาจถือเป็นข้อเท็จจริงใหม่ได้

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่ง คดีค่าโง่"คลองด่าน" ให้รัฐจ่ายค่าชดเชย 9 พันล้าน

คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ศาลปกครองมีอำนาจรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกระทรวงการคลังและกรมควบคุมมลพิษไว้ได้หรือไม่

 

ในส่วนของกระทรวงการคลัง ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อกระทรวงการคลังมิได้เป็นผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดี อันมีฐานะเป็นคู่กรณีตามคำพิพากษาศาลปกครอง ตลอดจนมิใช่คู่สัญญา และไม่อยู่ในบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ กระทรวงการคลังจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้

 

ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษาศาลแขวงดุสิตนั้น กรมควบคุมมลพิษได้เสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลปกครองมาแต่แรกในชั้นการพิจารณาคดีครั้งก่อน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคดีของศาลแขวงดุสิต ตามคำพิพากษาคดี ที่กรมควบคุมมลพิษเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ที่ 1 กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ซึ่งมีประเด็นวินิจฉัยเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญาโครงการ ย่อมแสดงว่ากรมควบคุมมลพิษต้องมีพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างว่าสัญญาเกิดขึ้นจากการร่วมกันทุจริต แต่กรมควบคุมมลพิษไม่นำเสนอเข้ามาในชั้นอนุญาโตตุลาการ หรือในการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไป

 

ส่วนคำพิพากษาของศาลอาญา มีคำพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมควบคุมมลพิษ เป็นการกระทำโดยทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มเอกชนคู่สัญญา เป็นการที่ศาลนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงในสำนวน คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่

 

ส่วนข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง สืบเนื่องมาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษ อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จะยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 5 ก.ย.46 ซึ่งก็เป็นเอกสารที่มีขึ้นก่อนเริ่มต้นกระบวนการอนุญาโตตุลาการทั้งสิ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้นในคดีก่อนเช่นกัน

 

ส่วนหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษ ที่แจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ไว้ชั่วคราวนั้น เป็นการกล่าวอ้างถึงการรับฟังข้อเท็จจริงและผลของคำพิพากษาศาลอาญา เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ง.เท่านั้น จึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

 

ส่วนที่อ้างในความไม่ชอบของคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอันมีสาเหตุมาจากการขาดคุณสมบัติเรื่องความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ นั้น ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนายเสถียร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการท่าเรือ กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อนุมัติให้แก้ไขสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการอู่เรือ บริเวณแหลมฉบัง และแจ้งข้อกล่าวหาให้นายเสถียรทราบในระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการในคดีนี้แต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นคนละมูลเหตุพิพาทกับคดีนี้และมิใช่คู่กรณีเดียวกัน จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ

 

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า พยานหลักฐานของกรมควบคุมมลพิษเป็นพยานหลักฐานที่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อนและกรมควบคุมมลพิษได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และมิใช่กรณีที่คู่กรณี ไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของผู้นั้น ตามมาตรา75 วรรคสอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และข้อเท็จจริงที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามมาตรา 75วรรคหนึ่ง (1) (4) และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อันจะเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป

 

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค.54

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะอนุญาโตตุลาการชุดดังกล่าวสั่งให้ กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ จำนวนกว่า 9,000 ล้านบาท ให้แก่ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี

logoline