svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เตรียมปรับโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" ในเดือน ก.ค.นี้ อีก 4 ปท.จ่อปรับเช่นกัน

06 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไทยเตรียมปรับโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" ในเดือน กรกฎาคม 65 ศบค. ระบุ 4 ประเทศเตรียมดำเนินการเช่นกัน เช็กเลยประเมินจากอะไร

6 มีนาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณประชาชนที่ให้ความไว้วางใจการทำงานของรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีบริหารจัดการ เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ทุกระยะตั้งแต่เริ่มระบาด โดยเตรียมพร้อมกำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และแม้ว่าขณะนี้จะพบผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน โดยกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศจะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือนกรกฎาคมนี้

 

ทั้งยังติดตามผลกระทบจากวิกฤตการสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด ที่ส่งผลให้พลังงานราคาสูงขึ้น ได้ประชุมและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ หามาตรการที่เหมาะสม แบ่งเบาภาระค่าใช้ และ บรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนขณะเดียวกันยังกระตุ้นการลงทุนภาครัฐและเอกชน เพื่อรักษาการจ้างงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเสมอภาค

เตรียมปรับโควิดเป็น "โรคประจำถิ่น" ในเดือน ก.ค.นี้ อีก 4 ปท.จ่อปรับเช่นกัน

ล่าสุดผลสำรวจของซูเปอร์โพล (SUPER POLL) จากการสำรวจระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,145 ชี้ ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 และการสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย

โดยอันดับ 1 ร้อยละ 82.4 เชื่อมั่นต่อมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านต่าง ๆ ยามวิกฤต เช่น โครงการคนละครึ่ง อันดับ 2 ร้อยละ 78.5 เชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแสดงท่าทีเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศ ยึดหลักมนุษยธรรมสากล เรียกร้องการถอนทหาร และอันดับ 3 ร้อยละ 73.4 เชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ช่วงวิกฤตโควิด-19 และผลกระทบจากการสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย

 

ก่อนหน้านี้ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 4 ประเทศ เตรียมการเปลี่ยนผ่านปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ประกอบด้วย สเปน , อินเดีย , รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และจีน โดยหันมาใช้มาตรการอยู่กับโรคโควิด (Living with Covid)

 

ในขณะที่ทีมวิจัยกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด 19 โดยลงพื้นที่จริงทั้งในระดับประเทศ และในระดับพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญในการรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไปจนเข้าสู่การยุติการระบาด โดยการ ประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) และถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) พบว่า

 

1. ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข มีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ใน 7 องค์ประกอบหลัก เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

 

 

2. ขณะนี้ สถานการณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกและประเทศไทย อยู่ในระยะการปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ (Pandemic Ending) เป็น “โรคประจำถิ่น (Endemic)” จากปัจจัยของเชื้อที่ลดความรุนแรงลงมาก โดยขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน คาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือนกรกฎาคม 2565 นี้

 

3. ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบป้องกันควบคุมโรค บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย มีความพร้อมในการรับสถานการณ์ แต่ต้องปรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ในลักษณะเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อทั่วไป เช่น ไข้หวัดใหญ่ โดยผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้รักษาตัวแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ดูแลตนเองที่บ้าน และรับเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ในกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง

 

4. ระบบเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน สามารถบริหารจัดการได้ดี มีจำนวนเพียงพอ นโยบายรัฐบาลมีความต่อเนื่องในการพัฒนาความมั่นคงด้านสุขภาพ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการผลิตและสามารถพึ่งตนเองได้เองภายในประเทศ เช่น โรงงานผลิตวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อพร้อมรับมือวิกฤติการณ์ด้านสุขภาพ และการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต

 

5. ต้องเร่งพัฒนาระบบการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ทันสมัยและเป็นเชิงรุก ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ และสื่ออื่นๆ ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงบริหารจัดการข่าวปลอมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ การปรับตัว ทั้งในภาคประชาชน สังคม วัฒนธรรม การใช้ชีวิตรูปแบบวิถีใหม่ (New Normal) มาตรการทางสังคมที่ดีและเหมาะสม เช่น การป้องกันตนเองและผู้อื่น ความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดหรือการแพร่เชื้อ เป็นต้น

logoline