svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไขข้อสงสัย "คุณหญิง-ท่านผู้หญิง" มีที่มาอย่างไร แตกต่างกันตรงไหน?

คำนำหน้านาม "คุณหญิง-ท่านผู้หญิง" จะใช้สำหรับ ผู้ที่ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า สำหรับที่มาและการใช้ "คุณหญิง" และ "ท่านผู้หญิง" แตกต่างกันอย่างไร "เนชั่นออนไลน์"รวบรวมข้อมูลไว้ที่นี่แล้ว

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 เว็บไซต์"ราชกิจจานุเบกษา" ได้เผยแพร่ ประกาศ การใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า 

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศ ว่า ให้สตรีทุกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และ ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ใช้คำนำหน้านามว่า “ท่านผู้หญิง” 

 

และให้สตรีทุกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และจตุตถจุลจอมเกล้า ใช้คำนำหน้านามว่า “คุณหญิง”

 

ไขข้อสงสัย \"คุณหญิง-ท่านผู้หญิง\" มีที่มาอย่างไร แตกต่างกันตรงไหน?

 ประวัติความเป็นมา เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาปนา เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2416 ด้วยทรงเห็นว่า พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทรงอยู่ในราชสมบัติ ยั่งยืนนานมาเป็นเวลา 90 ปี ก็ด้วยความจงรักภักดีและการปฏิบัติราชการของพระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาขุนนางข้าราชการทั้งปวง

 

ทั้งมีพระราชประสงค์จะทรงชุบเลี้ยงบรรดาทายาทของบุคคลเหล่านี้ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในราชการสืบเนื่องต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทายาทของผู้ได้รับพระราชทานสามารถรับพระราชทานตราสืบตระกูลของบิดาได้ โดยพระราชทานนามพระองค์ “จุลจอมเกล้า” เป็นนามของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ พร้อมทรงคิดคำขวัญจารึกบนดวงตราว่า เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ”

 

ไขข้อสงสัย \"คุณหญิง-ท่านผู้หญิง\" มีที่มาอย่างไร แตกต่างกันตรงไหน?

 

 ลำดับชั้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า 

ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุรายละเอียดของ เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า มีชั้นตรา และจำนวนที่พระราชทาน ดังนี้

 

สำหรับพระราชทาน ฝ่ายหน้า (บุรุษ) มี 3 ชั้น 7 ชนิด ประกอบด้วย

ชั้นที่ 1 มี 2 ชนิด 

  • ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) ไม่จำกัดจำนวน 
  • ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) มีจำนวน 30 สำรับ

ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด 

  • ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) มีจำนวน 200 สำรับ
  • ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) มีจำนวน 250 ดวง

 

ชั้นที่ 3 มี 3 ชนิด 

  • ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) มีจำนวน 250 ดวง
  • ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) มีจำนวน 200 ดวง
  • ตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.) มีจำนวน 100 ดวง

 

ไขข้อสงสัย \"คุณหญิง-ท่านผู้หญิง\" มีที่มาอย่างไร แตกต่างกันตรงไหน?

สำหรับพระราชทานฝ่ายใน ( สตรี ) มี 4 ชั้น 5 ชนิด ประกอบด้วย

ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) มีจำนวน 20 สำรับ

 

ชั้นที่ 2 มี 2 ชนิด 

  • ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) มีจำนวน 100 ดวง
  • ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) มีจำนวน 100 ดวง

 

ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) มีจำนวน 250 ดวง

 

ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) มีจำนวน 150 ดวง


 คำนำหน้านาม เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า 

สำหรับ การใช้คำนำนาม สตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า มีรายละเอียดดังนี้..

  • สตรีซึ่งสมรสแล้ว เมื่อได้รับพระราชทาน ป.จ., ท.จ.ว. ใช้คำนำนามว่า “ท่านผู้หญิง”
  • สตรีซึ่งสมรสแล้ว เมื่อได้รับพระราชทาน ท.จ., ต.จ., จ.จ. ใช้คำนำนามว่า “คุณหญิง”
  • สตรีที่ยังมิได้สมรส เมื่อได้รับพระราชทาน จ.จ. ขึ้นไป ใช้คำนำนามว่า “คุณ”

 

สตรี ซึ่งเป็นเชื้อราชตระกูล ชั้นหม่อมเจ้า ใช้คำนำ พระนามตามเดิม ไม่ว่าจะได้รับพระราชทานชั้นใด สำหรับหม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวง เมื่อได้รับพระราชทาน ป.จ., ท.จ.ว. ใช้คำนำนามว่า “ท่านผู้หญิง ” หากได้รับพระราชทาน ท.จ., ต.จ., จ.จ. ยังคงใช้ฐานันดรโดยไม่ใช้คำนำนามว่า “คุณหญิง”

 

ในปัจจุบันนี้แม้ทางการได้ยกเลิกบรรดาศักดิ์และราชทินนามแล้ว สตรีที่สามีไม่ได้มีบรรดาศักดิ์ ยังคงกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามว่า “คุณหญิง” และ “ท่านผู้หญิง” ตามชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าที่ได้รับพระราชทาน

 

ไขข้อสงสัย \"คุณหญิง-ท่านผู้หญิง\" มีที่มาอย่างไร แตกต่างกันตรงไหน?

 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้านั้น แตกต่างจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลอื่น ที่สามารถมีการสืบตระกูลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

 

1. อันดับ

- บิดาได้รับพระราชทาน ป.จ. บุตรชายได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ และให้รับสืบตลอดไป จนหาตัวผู้สืบสายโลหิตเป็นชายมิได้
- บิดาได้รับพระราชทาน ป.จ. บุตรชายได้รับสืบตระกูลตั้งแต่บิดายังมีชีวิตอยู่ แต่สิ้นสุดเพียงชั้นเดียว
- บิดาได้รับพระราชทาน ท.จ.ว. หรือ ท.จ. บุตรขายได้รับสืบตระกูล เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว และสิ้นสุดเพียงชั้นเดียว

 

2. หลักเกณฑ์โดยสังเขป
- บุตรที่จะได้สืบตระกูลต้องเป็นบุตรชายคนโต หากบุตรชายคนโตไม่สมควรจะได้รับพระราชทาน จะขอพระราชทานให้คนรองลงไปตามลำดับก็ได้
- ถ้าบุตรขายที่จะได้รับพระราชทาน วิกลจริต หรือ ตายเสียก่อนที่จะได้รับพระราชทานก็จะพระราชทานแก่ หลาน ซึ่งเป็นบุตรของบุตรชายคนนั้น


3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะพระราชทาน
- ถ้าเป็นบุตรสืบตระกูล บิดา จะได้รับพระราชทาน ต.จ.
- ถ้าเป็นหลานสืบตระกูล ปู่ จะได้รับพระราชทาน ต.อ.จ.

 

ไขข้อสงสัย \"คุณหญิง-ท่านผู้หญิง\" มีที่มาอย่างไร แตกต่างกันตรงไหน?

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, เพจเฟซบุ๊ก Chalito's Rare Collection และ Wikipedia